มูลนิธิสืบฯ เสนอยึดที่ สปก. 6 หมื่นไร่คืนอุทยาน ค้านเหมาเข่งเอื้อนายทุน

by Chetbakers

ประธานมูลนิธิสืบฯ เสนอแนวทางให้อุทยานยึดพื้นที่ สปก. 6 หมื่นไร่ กลับมาอยู่ในอุทยาน ตั้งคำถามทำไมต้องกันพื้นที่ 1.25 แสนไร่ เอื้อ “นายทุน”

นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดเผยว่า ว่า การเพิกถอนที่ดินอุทยานแห่งชาติทับลานทั้งพื้นที่รวม 265,286.58 ไร่ จะไม่เป็นธรรมต่อสาธารณะ การปกป้องอุทยานของมูลนิธิสืบฯ ไม่ได้ขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากมูลนิธิสืบฯ เป็นกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีแนวทางการแก้ปัญหาแบบแยกเป็นกลุ่มโดยไม่เหมาเข่ง

ทั้งนี้ การแก้กันพื้นที่แบบเหมาแข่งจะกระทบกับพื้นที่อุทยานทั่วประเทศซึ่งมีการปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชนอยู่

สำหรับการแนวทางการแก้ปัญหาทับลาน แบ่งออก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 คนที่อาศัยอยู่เดิมและมีเอกสาร สปก.4-01 ทำกินมาตลอด พื้นที่ 6 หมื่นไร่ กลุ่มที่ 2 ที่เข้ามาอยู่หลังประกาศอุทยานแห่งชาติ ปี 2524 ซึ่งมีทั้งประชาชนที่ไม่มีที่ทำกินและผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย พื้นที่ 8 หมื่นไร่ และกลุ่มที่ 3 พื้นที่ 1.25 แสนไร่ เป็นพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนมือ ขยายที่เพิ่มเติมเป็นรีสอร์ตและบ้านพัก

นายภาณุเดช กล่าวว่า การแก้ปัญหากลุ่มแรกไม่มีปัญหา ซึ่งมี 2 ทางเลือก คือ อุทยานเพิกถอนพื้นที่ 6 หมื่นไร่ให้ สปก.ไปบริหารจัดการกับผู้ถือครองโดยสมบูรณ์ ทางเลือกที่ 2 อาศัยมาตรา 64 ตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ โดยให้ชาวบ้านทำกินต่อไป แต่ห้ามเปลี่ยนมือ ซึ่งมูลนิธิสืบฯ เห็นด้วยที่จะให้เพิกถอนพื้นที่ สปก. กลับมาเป็นพื้นที่อุทยานฯ ทั้งหมด

“ถ้าเอาที่กลับมาเป็นของอุทยานฯ การทำงานอนุรักษ์จะเกิดความร่วมมือกับชุมชนได้ง่าย แต่ถ้ากันพื้นที่ออกไปเลย แนวทางการทำงานร่วมกันจะยาก”

สำหรับ กลุ่มที่ 2 จำนวน 8 หมื่นไร่ ที่จัดสรรให้ผู้ยากไร้ ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตามมติ ครม. 2541 และคำสั่ง คสช. ปี 2557 คนเหล่านี้ทำกินต่อไปได้ไม่ว่าทำรีสอร์ตหรืออื่นๆ แต่ห้ามซื้อขาย ห้ามเปลี่ยนมือ ซึ่งรวม 2 กลุ่มจะมีพื้นที่ทั้งหมด 1.4 แสนไร่ ซึ่งมูลนิธิสืบฯ มีข้อสงสัยว่าทำไมจะต้องเพิกถอนที่อุทยานทั้งหมด 2.65 แสนไร่

“ที่ผ่านมาไม่มีการแยกแยะ แต่ไปรวมพื้นที่กับกลุ่มที่ 3 อีกประมาณ 1.25 แสนไร่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนายทุน ในส่วนนี้มีการดำเนินคดีกันอยู่ก็ว่ากันไปตามรูปคดี ส่วนที่ยังไม่ดำเนินคดีหรืออยู่ระหว่างการตรวจสอบ รัฐบาลต้องเร่งตรวจสอบ และถ้าตรวจสอบพบว่าเป็นชาวบ้านอาศัยอยู่เดิมก็เอาเข้ากลุ่ม 2 ได้

“ส่วนกลุ่มที่ทำผิดกฎหมาย เช่น รีสอร์ต บ้านพัก ถ้ารัฐบาลเห็นว่ามีการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นท่องเที่ยว รัฐบาลก็ต้องไปพิจารณาว่าจะมีแนวทางอย่างไรในการรองรับคนกลุ่มนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลสามารถจัดการได้ แต่ไม่ควรใช้ พ.ร.บ.อุทยานฯในการจัดการ เพราะผิดกฎหมาย” นายภาณุเดช กล่าวผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับการแก้ไขปัญหาแนวเขตและที่ดินในพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน แบ่งรูปแบบพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 พื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 60,000 ไร่ (อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี และ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา)
ข้อเสนอ
แนวทางที่ 1 : อุทยานฯ เสนอเพิกถอนพื้นที่ เพื่อให้ ส.ป.ก. มีอำนาจหน้าที่ตามเขตปฏิรูปที่ดิน
แนวทางที่ 2 : อุทยานฯ ดำเนินการตาม มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562
แนวทางที่ 3 : อุทยานฯ และ ส.ป.ก. ร่วมกันตรวจสอบ และจัดการพื้นที่ ให้เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขที่กำหนด

กลุ่มที่ 2 พื้นที่จัดที่ดินทำกินตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฏรผู้ยากไร้ (คจก.) และโครงการการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ (พมพ.)
เนื้อที่ประมาณ 80,000 ไร่ (อ.เสิงสาง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี)
ข้อเสนอ
แนวทาง : อุทยานฯ ดำเนินการตาม มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562

กลุ่มที่ 3 พื้นที่ที่ไม่ใช่กลุ่ม 1 และ กลุ่ม 2
เนื้อที่ประมาณ 125,000 ไร่ (อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี)
ข้อเสนอ
1. มีกลุ่มทุนที่เข้ามาครอบครองเพื่อก่อสร้างรีสอร์ท หรือบ้านพักตากอากาศ จึงต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ครอบครองกลุ่มนี้ก่อน
2. พื้นที่ที่มีราษฏรถือครองที่ดินโดยปกติทั่วไป เห็นควรดำเนินการตาม มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เสนอว่า “ไม่ควรแก้ไขปัญหาแบบเหมารวมทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน รัฐควรแก้ไขปัญหาแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน และให้ความเป็นธรรมทั้งในแง่ของมนุษย์ ผืนป่า และสัตว์ป่า”

ขอบคุณภาพ: เพจอุทยานแห่งชาติทับลาน

Copyright @2021 – All Right Reserved.