เปิดปมผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อกลุ่มทุนฮุบพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน

เสียงคัดค้านกรมอุทยานฯ เตรียมยกพื้นที่ 265,286 ไร่ ให้ สปก. ดังระงม หลังจัดรับฟังความเห็น ระหว่าง 28 มิ.ย. – 12 ก.ค. 2567 จนเกิด #Saveทับลาน

กรมอุทยานฯ เตรียมยกพื้นที่ 265,286.58 ไร่ ให้ สปก. ทำให้เกิดการคัดค้าน หลังจากเปิดรับฟังความเห็น ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย. – 12 ก.ค. 2567 กลายเป็นเด็นร้อนจนเกิดการ #Saveทับลาน igreenstory จึงชวนย้อนรอยไปทำความเข้าใจที่มาที่ไปในประเด็นนี้ ดังนี้

1) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานมีข้อพิพาทมากว่า 40 ปี (หลังประกาศเขตอุทยานปี 2524) ระหว่างรัฐกับประชาชน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประกอบไปด้วยป่า 3 ส่วน คือเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าไม้ถาวร (ตามมติ ครม. 2506) และเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยพื้นที่แห่งนี้เดิมทีคือ หมู่บ้านบุไผ่ ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เป็นหมู่บ้านที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2475 (ข้อมูล พงศา ชูแนม)

2) กองทัพภาคที่ 2 เป็นหน่วยงานที่เข้าไปจัดตั้ง “หมู่บ้านไทยสามัคคี” เมื่อปี 2521 เพื่อให้ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ได้อยู่อาศัย เนื้อที่ประมาณ 58,000 ไร่ – ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยก็คือผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ที่กลับใจหันมาร่วมมือกับรัฐ ชุมชนบริเวณนี้จึงเป็นพื้นที่ต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์มาก่อน และมีปัญหาการซ้อนทับกันของพื้นที่ทำกินของชุมชน การขยายพื้นที่และการบุกรุกป่า การเข้าไปใช้พื้นที่ในอุทยานโดยไม่ชอบมาเป็นระยะ

3) ปี 2521 ได้มีการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีบางส่วนทับซ้อนกับเขตป่าสงวนและป่าไม้ถาวร ต่อมาปี 2524 มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งทับซ้อนทั้ง 3 เขต (เขตป่าสงวนฯ เขตป่าไม้ถาวร และเขตปฏิรูปที่ดินฯ) และพื้นที่อื่นๆ เช่น โฉนด น.ส.3 ส.ค.1 ด้วย รวมทั้งหมู่บ้านผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยที่เป็นหมู่บ้านความมั่นคงต่อต้านคอมมิวนิสต์ และจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ไล่ดำเนินคดีกับชาวบ้านข้อหาบุกรุกป่า โดยเนื้อที่อุทยานมีทั้งหมด 1,398,000 ไร่ ซึ่งมีข้อมูลว่าพื้นที่ดังกล่าวนี้มีชาวบ้านเข้ามาทำกินตั้งแต่ปี 2508

4) การประกาศเขตอุทยานในเวลานั้น (ปี 2524) มีข้อมูลที่พบความปิดปกติ นั่นคือว่า ประกาศเอาชุมชน 80 หมู่บ้าน 5 อำเภอ จำนวน 155,000 ไร่ ซึ่งไม่มีสภาพป่าแล้วเข้าอยู่ในเขตอุทยาน แต่ประกาศเอาพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ จำนวน 110,000 ไร่ ไปอยู่นอกเขตอุทยาน โดยต่อมาในปี 2535-2543 มีการแก้แนวเขตอุทยานใหม่ (ซึ่งมาจากการประกาศแนวเขตอุทยานผิดพลาดในปี 2524 ที่ประกาศทับชุมชน ) จำนวน 265,000 ไร่ โดยประกาศกันชุมชน 80 หมู่บ้าน 5 อำเภอ จำนวน 155,000 ไร่ (ซึ่งถูกอุทยานประกาศผิดพลาดทับที่ชุมชนเมื่อปี 2524) ซึ่งไม่มีสภาพป่าแล้วออกจากเขตอุทยาน ตามที่ชาวบ้านเรียกร้องมา 40 กว่าปีแล้ว

5) นอกจากนั้นยังประกาศเอาพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ที่เคยอยู่นอกอุทยาน ปี 2524 กลับผนวกเข้าเป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน ในปี 2543 จำนวน 110,000 ไร่ ดังนั้นจากพื้นที่ทั้งหมด 265,000 ไร่ พื้นที่ที่กันออกจะเหลือเพียง 155,000 ไร่ ไม่ใช่กันออกทั้งหมด 265,000 ไร่ ตามที่อุทยานกล่าวอ้าง และพื้นที่ 155,000 ไร่ก็เป็นชุมชนเป็นหมู่บ้านแล้ว 80 กว่าหมู่บ้าน 5 อำเภอ ของ อ.วังน้ำเขียว อ. ปักธงชัย อ.ครบุรี อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี

6) ปัญหาที่คาราคาซังเกิดจากการประกาศเขตอุทยานทับที่ชาวบ้านในเขต สปก. โดยเวลานั้นรัฐอ้างว่าขอประกาศเขตไปก่อน แล้วค่อยกันออกให้ในภายหลัง ซึ่งชาวบ้านทวงถามมาต่อเนื่อง กระทั่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ใช้แผนที่ ONE MAP ปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี 2543 ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี เพื่อกันพื้นที่ชุมชนออก (มติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 เคยเห็นชอบให้ใช้แนวทางให้ราษฎรที่อาศัยทำกินในเขตป่าต้องถูกดำเนินคดี) แต่หลายรัฐบาลต่อๆ มาก็ไม่ตัดสินใจ ในกรณีพื้นที่ทับลานก็ยังมีการเข้าจับกุมชาวบ้านและรีสอร์ทอีกหลายครั้ง

7) การประชุมคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้นำการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 หรือ One Map มาประกอบเป็นแนวทางการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในอุทยานฯ ทับลานอีกครั้ง และนำเสนอที่ประชุม ครม. เมื่อ 14 มี.ค. 2566 (ประชุม ครม.ครั้งสุดท้าย) ก็ให้ความเห็นชอบ โดยให้ยึดการสำรวจกันแนวเขตที่ประกาศไว้ในปี 2543 ต่อมาการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อ 25 ม.ค. 2567 ได้มีมติรับทราบตามข้อเสนอของ ครม. 14 มี.ค. 2566 ที่เห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ใช้แผนที่ One Map ปี 2543 ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี

8) หากมีการเพิกถอนพื้นที่ป่าออกจากอุทยาน ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มองว่า เป็นการสูญเสียพื้นที่ป่าและเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนที่แนบแน่นกับนักการเมือง โดยแบ่งผู้มีส่วนได้เสียออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตป่าทับลาน และทับซ้อนกับที่ดิน ส.ป.ก. มีพื้นที่ จำนวน 58,000 ไร่ กลุ่มที่ 2 อยู่ก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541-2557 จำนวน 55,000 ไร่ กลุ่มที่ 3 รีสอร์ตกว่า 400 คดีที่คดีที่สิ้นสุด และยังอยู่ระหว่างดำเนินคดี จำนวน 150,000 ไร่ โดยไม่เห็นด้วยกับกลุ่มที่ 3 ที่จะได้ประโยชน์จากการบุกรุกที่ดิน ซึ่งจะกลายเป็นโมเดลในการเฉือนป่าในพื้นที่อื่นๆ อีก อาทิ เกาะเสม็ด, เขาค้อ (นิรโทษการบุกรุกป่า)

9) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังชี้ถึงผลกระทบการเพิกถอนที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 265,000 ไร่ 6 ข้อ ดังนี้ 1. หากใช้เส้นแนวเขตสำรวจอุทยานฯ ทับลาน ปี 2543 ตามมติ ครม. จะเป็นการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติกว่า 164,960 ไร่ และผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2. กระทบต่อรูปคดีการกล่าวโทษนายทุน/ผู้ครอบครองรายใหม่ 470 ราย และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้ประโยชน์ 23 ราย เนื้อที่กว่า 11,083-3-20 ไร่ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504

3. เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนให้เข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนมือเพื่อสร้างโรงแรม รีสอร์ต และบ้านพักตากอากาศเพิ่มมากขึ้น (ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษา ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า นายทุนท้องถิ่นเป็นผู้ผลักดันการกันพื้นที่ออกจากอุทยาน) 4. ลดคุณค่าความเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ผืนป่าแห่งนี้เป็นต้นน้ำลำธารที่ไหลหล่อเลี้ยงชุมชนโดยรอบ และเป็นพื้นที่ความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง

5. เปิดโอกาสให้การใช้ประโยชน์ที่ดิน ขุด ถม อัด ตัดไม้ ทำลายสภาพพืชพรรณบริเวณนั้น ผิวดินขาดสิ่งปกคลุมในการรักษาความชุ่มชื้น และช่วยดูดซึมน้ำ จนส่งผลต่อการระบายน้ำตามธรรมชาติและอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างฉับพลันในบริเวณพื้นที่ราบทางตอนล่างตอนช่วงฤดูฝน และ 6. แหล่งที่อยู่อาศัย หากิน หรือเส้นทางอพยพเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่า เนื่องจากกิจกรรมมนุษย์เข้าไปรบกวนสัตว์ป่าตามแนวเขตเกินความสามารถในการควบคุมในพื้นที่

10) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นประชาชนจากในพื้นที่และประชาชนทั่วประเทศจะสิ้นสุด 12 ก.ค.นี้ ก่อนจะรวบรวม เสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณาภายใน 30 วัน และจะเสนอให้ ครม. พิจารณาต่อไป โดยจะยึดหลักการอยู่อาศัยทำกินและการดูแลรักษาผืนป่า เนื่องจากในจำนวน 265,000 ไร่ มีทั้งคนที่อยู่อาศัยอยู่เดิมจากการจัดสรรที่ดินและคนที่มาซื้อต่อเป็นมือที่ 2 มือที่ 3 รวมถึงกลุ่มรีสอร์ทที่ถูกดำเนินคดีกว่า 12,000 ไร่ โดยทั้งหมดนี้ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อ 14 มี.ค. 2566

                                                                        ********************

การแก้ปัญหาที่กรมอุทยานฯ เคยมีข้อสรุปไว้ แบ่งเป็น 3 แนวทาง

กลุ่มที่ 1 พื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี และ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 58,582 ไร่ ให้อุทยานฯ เสนอเพิกถอนพื้นที่ให้ ส.ป.ก.มีอำนาจหน้าที่ตามเขตปฏิรูปที่ดิน, ดำเนินการตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 และอุทยานฯ และ ส.ป.ก.ร่วมกันตรวจสอบและจัดการพื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไข

กลุ่มที่ 2 พื้นที่จัดที่ดินทำกินตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ (คจก.) อ.เสิงสาง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เนื้อที่ 59,183 ไร่ สภาพเป็นพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยของชาวบ้าน เห็นควรให้ดำเนินการตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 พร้อมสนับสนุนสาธารณูปโภค เพื่อดำรงชีพตามสมควร ส่วนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เสนอให้ดำเนินการตาม ม.64 พ.ร.บ.อุทยานฯ ปี 2562

กลุ่มที่ 3 พื้นที่ที่ไม่ใช่กลุ่ม 1 และกลุ่ม 2 อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เนื้อที่ 152,072 ไร่ กลุ่มนายทุนที่เข้ามาครอบครองเพื่อก่อสร้างรีสอร์ต หรือบ้านพักตากอากาศ ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ครอบครองก่อน, พื้นที่ที่ราษฎรถือครองที่ดินโดยทั่วไป เห็นควรดำเนินการกับราษฎรที่ครอบครองที่ดินตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 และให้พิจารณาสนับสนุนสาธารณูปโภคเพื่อการดำรงชีพได้ตามสมควร ส่วนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เสนอให้ดำเนินการตาม ม.64 พ.ร.บ.อุทยานฯ ปี 2562

อุทยานฯ ทับลาน ได้รับการประกาศเขต เมื่อ 23 ธ.ค. 2524 ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีเนื้อที่ 2,236 ตารางกิโลเมตร (1,398,000 ไร่) มากเป็นอันดับสองของประเทศไทย รองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

หมายเหตุ – ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ สปก.

 

Related posts

เมืองทั่วโลกเร่งปรับตัว รับมือคลื่นความร้อนดันอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น

สรุป 10 ปัจจัยน้ำท่วมเชียงราย ไม่มีระบบบริหารจัดการน้ำระดับชาติ

โลกป่วนภูมิอากาศเปลี่ยน คุมอุณหภูมิไม่อยู่ Flexitarian ช่วยกอบกู้โลก