เปิดใจ ‘ธเนศพล’เลขาฯ คู่ใจ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’

คอลัมน์ I Green Talk นัดคุยกับ “ธเนศพล ธนบุณยวัฒน์” เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ขุนพลที่ทำงานเคียงข้างรัฐมนตรีว่าการ ทส. “วราวุธ  ศิลปอาชา” ซึ่งเวลานี้ต้องบอกว่าเป็นรัฐมนตรีที่มีผลงานเข้าตาและโดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่ง

ธเนศพล ธนบุณยวัฒน์

เดิมที “ธเนศพล” ประกอบกิจการค้าข้าว ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ขายส่งวัตถุดิบด้านการเกษตร ฯลฯ เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยการเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทยพัฒนา และได้นั่งเก้าอี้เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ)  อดีตผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กรรมการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

ขับเคลื่อนงาน 3 นโยบายหลัก

ธเนศพล ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ I Green ว่า รัฐมนตรีวราวุธถือเป็นรัฐมนตรีหนุ่มที่สุดในคณะรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดังนั้นการทำงานกับคนรุ่นใหม่ไฟแรงและทำงานแบบถึงลูกถึงคน คนทำงานเคียงข้างด้วย นอกจากต้องมีความมุมานะแล้ว ยังต้องเก่ง หัวไว และทันสมัย ต้องทำงานหนักให้  สมกับที่ท่านได้ตั้งใจเข้ามาทำหน้าที่นี้อย่างเต็มที่

ภารกิจของกระทรวงด้านสิ่งแวดล้อมที่รัฐมนตรีวราวุธ และธเนศพลในฐานะเลขาฯ รวมถึงทีมงานคนอื่นๆ ต้องพิสูจน์ฝีมือ มีนโยบายหลัก 3 คลัสเตอร์ นั่นคือ 1.ป่าและสัตว์ 2.สิ่งแวดล้อม และ 3.น้ำ โดยมีเป้าหมายการสร้างสังคมสีเขียว

คลัสเตอร์แรก คือ ป่าและสัตว์ ต้องแก้ปัญหา “ป่ารุกคน – คนรุกป่า” ดังนั้น กรมป่าไม้          กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะต้องบูรณาการการทำงาน และไม่ใช่แค่ “รัก” และ “หวงแหน” แต่ต้อง “ต่อยอด สืบสาน” ตามแนวทางพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยป่าไม้ โดยกระทรวงได้กำหนดเป้าหมายสูงสุดในการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40% จากปัจจุบันเหลือแค่ 30% ซึ่งภารกิจสำคัญคือการจัดสรรพื้นที่ให้มีความเหมาะสม ต้องสร้างป่าเพิ่มทดแทนการบุกรุกทำลาย

ปัญหา “ป่ารุกคน – คนรุกป่า” จะใช้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มาร่วมแก้ปัญหา โดยจะต้องแยก “ปลา” ออกจาก “น้ำ” นั่นคือแยก “นายทุน” ออกจาก “เกษตรกร” และต้องแยกเกษตรกรสีเทาๆ และสีขาวออกจากกันด้วย เพราะต้องยอมรับว่ามีทั้งเกษตรกรที่ “อยากจน” กับ “ยากจน” ปะปนกัน จึงต้องแก้ปัญหาเรื่องสิทธิทำกินให้ชัดเจนเพื่อให้คนจนได้มีที่ดินทำกินจริงๆ

ระดมจิตอาสาปลูกป่าฟื้นพรุควนเคร็ง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเฉพาะหน้า คือ “ไฟป่าพรุควนเคร็ง” ที่ไหม้ไปกว่า 15,000 ไร่ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ก่อนหน้านี้ โดยในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงห่วงใย ถึงขนาดรับสั่งให้ 2 องคมนตรี คือ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งทางกระทรวงไม่รอช้าในการเร่งแก้ปัญหา โดยรัฐมนตรีวราวุธได้ลงพื้นที่ไปบินสำรวจความเสียหายด้วยตัวเองมาแล้ว

ท่านรัฐมนตรีสั่งการ ดังนี้ คือ 1.ระดมสรรพกำลังดับไฟป่า พร้อมตั้งหน่วยเฉพาะกิจระดมทุกกรมของกระทรวงมาร่วมทำงาน เพื่อดึงน้ำจากคลองไส้ไก่มาดับไฟ โดยกำชับต้องไม่ใช้น้ำเค็มดับไฟเด็ดขาด เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในระยะยาว 2.จับมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันกำหนดเขตพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบเผาป่าเพื่อยึดครองที่ดิน หากพบต้องดำเนินการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด 3.ระดมอาสาสมัครหรือจิตอาสา โดยเฉพาะ ทสม.มาช่วยกันปลูกป่าให้กลับมาสมบูรณ์ดั่งเดิมและไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก

ด้าน “สัตว์ป่า” ทั้งสัตว์ป่าเชิงพาณิชย์กับสัตว์ป่าธรรมชาติต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก และ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) อย่างเคร่งครัด พร้อมกับเสริมเขี้ยวเล็บให้กับทีมงานรับผิดชอบการลักลอบการค้าสัตว์ป่าที่ปัจจุบันทั้งประเทศมีอยู่ราว 20 คนเท่านั้น ถือว่าน้อยมากในการป้องกันและปราบปรามพวกค้าสัตว์ป่า

ดังนั้นจึงกำหนดแนวทางใหม่ คือ ประสานความร่วมมือกับอัยการ ศาล ตำรวจ และภาคประชาสังคม รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) มาช่วยกันทำงานอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่าจากพวก “นักฆ่า” หรือ “นักค้าสัตว์” ใจทมิฬ ซึ่งรัฐมนตรีวราวุธให้ความสำคัญมากถึงขนาดตั้ง “คณะทำงานเฉพาะกิจด้านสัตว์ป่า” ขึ้นเป็นการเฉพาะ

โดยท่านรัฐมนตรีมีความห่วงใยในการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยพร้อมให้การสนับสนุนอุปกรณ์การทำงานของพนักงานพิทักษ์ป่าให้เพียงพอ ทั้งอาวุธและเครื่องกระสุน แผนที่ เครื่องหาพิกัดบนพื้นโลก วิทยุสื่อสาร อุปกรณ์ภาคสนาม รวมถึงสวัสดิการ และเสริมความรู้ของพนักงานพิทักษ์ป่าให้สอดคล้องกับภารกิจการปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ

‘วราวุธ’ แถลงผลงานครบ 3 เดือน

กับปัญหาการส่งออกช้างไปต่างประเทศในรูปแบบ รัฐต่อรัฐ จะต้องได้รับการพิจารณาและแก้ไข เพราะช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล เป็นสัญลักษณ์ของชาติ เหมือน “แพนด้า” ของจีน ฉะนั้นที่ส่งออกไปแล้วจะต้องตามไปดูด้วยว่าเป็นอย่างไร และจะนำกลับมาเมื่อไร หรือสัตว์ป่าเชิงพาณิชย์ที่อยู่ในความคุ้มครองของสวนสัตว์เอกชน เช่น คิงคองบัวน้อย กอริลลา เพศเมีย ที่ไม่ใช่สัตว์ป่าพื้นถิ่นของไทย แต่นำมาเลี้ยงอยู่ในห้าง ซึ่งกระทรวง ทส.ต้องดูแลและทะนุถนอมอย่างใกล้ชิด โดยทางออกของ 2 ปัญหาดังกล่าว ทั้งห้ามส่งออกช้าง และการย้ายคิงคองบัวน้อยออกจากสวนสัตว์พาต้า ทางท่านรัฐมนตรี จะชี้แจงเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเองในการแถลงผลงานครบ 3 เดือนในเร็วๆ นี้

“สัตว์ป่าไม่ใช่สินค้าที่ตีตราด้วยราคาที่จะซื้อขายชีวิตกันได้ด้วยเงิน เพราะทุกชีวิตก็มีหัวใจ เช่น ช้าง เพื่อนในฝูงตายไปตัวหนึ่ง เพื่อนทั้งฝูงยังยืนไว้อาลัย หรือคิงคองบัวน้อย ต้องได้รับการดูแลอย่างดีและเหมาะสม”

ขอความร่วมมือห้างเลิกแจกถุงพลาสติก

สำหรับปัญหาขยะพลาสติก กับฝุ่น PM2.5 ซึ่งอยู่ใน Cluster สิ่งแวดล้อม “ธเนศพล” ระบุว่า ล่าสุดรัฐมนตรีได้หารือกับภาคเอกชน 43 บริษัท และได้กำหนดให้ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยทุกห้างสรรพสินค้าหรือห้างร้านต่างๆ  ต้องงดแจกถุงพลาสติก โดยเป็นมาตรการขอความร่วมมือ “กึ่งบังคับ” เพราะในอนาคตต้องหยุดและเลิกใช้ ซึ่งปัญหานี้ไม่มีสักวันที่รัฐมนตรีวราวุธ จะหยุดคิดวิธีการหรือนโยบายใหม่ๆ เพื่อมาปกป้องสัตว์ทะเล

“เราผลิตถุงพลาสติกใช้ 45,000 ล้านใบ ในแต่ละปีจะไปไหน ถ้าไม่ตกค้างในระบบนิเวศ หรือลงสู่ทะเล กลายเป็นอาหารของสัตว์ทะเล และกลายเป็นไมโครพลาสติก ถือเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นทุกสถานที่ท่องเที่ยวของกรมอุทยานฯ ห้ามนักท่องเที่ยวนำขยะพลาสติกเข้าไป และต้องนำขยะกลับมาด้วย ไม่เช่นนั้นห้ามเข้า ยิ่งปัจจุบันเกิดความวิตกเรื่องพลาสติกย่อยสลายได้หรือไบโอพลาสติกที่อาจมีสารเคมีปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม จะต้องบริหารจัดการให้มีความปลอดภัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม”

ส่วนปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้ปัญหาขยะ                        เพราะต้นกำเนิดจุด Hot Spot เกิดในประเทศเพื่อนบ้าน แต่หมอกควันลอยมาตกประเทศไทยเต็มๆ เช่น ที่ภาคใต้ เป็นอยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนั้นการเตือนภัยแก่พี่น้องประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ให้สวมหน้ากากก่อนออกจากบ้าน

ผุด “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ฝ่าวิกฤติภัยแล้ง

คลัสเตอร์น้ำ ที่ท่านรัฐมนตรีวราวุธให้ความสำคัญอันดับต้นๆ โดยประกาศชัดเจนว่า พื้นที่ แล้งซ้ำซาก พี่น้องประชาชนต้องมีน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร จึงส่งเสริมนโยบาย “ธนาคารน้ำใต้ดิน” มาดับกระหาย และดับความทุกข์จากปัญหาภัยแล้งพืชไร่ทางการเกษตรยืนต้นตายไปต่อหน้าต่อตา ซึ่งทราบหรือไม่ว่า น้ำใต้ดินมีปริมาณมากเท่าๆ กับ น้ำในเขื่อนด้วยซ้ำ ราวๆ 85,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ปัจจุบันดึงมาใช้จริงเพียงน้อยนิด ราวๆ 15,000 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น โดยกระทรวงตั้งเป้าผุดธนาคารน้ำใต้ดินให้มีอย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 แห่ง สำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง

สำหรับความคืบหน้าธนาคารน้ำใต้ดิน ขณะนี้เร่งรัดจัดทำ “แผนที่น้ำใต้ดิน” ระหว่าง            กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรธรณี และกรมทรัพยากรน้ำ ฯลฯ เพื่อให้รู้ว่าจุดใดในพื้นที่แล้งซ้ำซากมีน้ำใต้ดินที่สามารถดึงมาใช้ และเติมในช่วงน้ำเยอะ เหมือนประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบที่กระทรวงจะมาทำนำร่อง ภายใน 5-6  เดือนหลังจากนี้ เพื่อดึงน้ำใต้ดินมาลดต้นทุนการผลิตภาคเกษตร พร้อมใช้พลังงานทางเลือกโซลาร์เซลส์ มาเป็นพลังงานไฟฟ้าให้มีกำลังสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ โดยเฉพาะพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ต้องมีน้ำใช้อย่างทั่วถึง ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว ภาคเกษตร การอุปโภคบริโภค โดยปัญหาน้ำขาดแคลนต้องไม่มีเด็ดขาด

เตรียมพร้อมคนทำงาน – เปิดใจรับฟังเอ็นจีโอ

นอกเหนือจากนโยบายทั้งหมดที่ “ธเนศพล” กล่าวมา เขาบอกว่ารัฐมนตรีวราวุธยังมีเป้าหมายการทำงานอีกมาก และถือว่าทำงานเร็ว โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการภายในกระทรวง ทส. ถือเป็นกระทรวงแรกที่มีการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงแทนคนเกษียณได้ครบทุกตำแหน่งเพื่อให้คนใหม่ได้เตรียมตัวและเรียนรู้งานจากคนเก่า และวันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไปก็สามารถทำงานได้ทันที นี่คือสไตล์การทำงานเร็วและมองการณ์ไกลอย่างมี “วิชั่น” ของรัฐมนตรีวราวุธ

“ท่านรัฐมนตรียังมีการตั้งคณะทำงานพิเศษ อาทิ คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ป่าไม้ คณะทำงานด้านช้าง คณะทำงานด้านที่ดิน คณะทำงานด้านกฎหมาย หรือคณะทำงานด้านค้าสัตว์ป่า เป็นต้น ท่านเข้าใจทุกปัญหา จึงทุ่มเททำงานได้หนักมากขนาดนี้ ที่สำคัญเป็นรัฐมนตรีคนแรกๆ ที่เปิดใจรับฟังปัญหาจากทุกภาคส่วน แม้จะเป็นความเห็นต่างจากภาคประชาสังคม หรือ เอ็นจีโอ รัฐมนตรีวราวุธยังสามารถร่วมวงพูดคุยได้ด้วยความจริงใจ และไม่เคยตั้งแง่ เพราะท่านรัฐมนตรี เป็นคนรุ่นใหม่ที่รับข้อมูลทุกด้าน จึงใจกว้างรับฟังความเห็นจากภาคประชาชน หรือเอ็นจีโอที่คัดค้านหรือเห็นต่าง”

ธเนศพล กล่าวว่า ในฐานะเป็นคนทำงานใกล้ชิด จึงต้องมีความคล่องแคล่วตลอดเวลา เพราะท่านรัฐมนตรีสนใจงานสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ท่านทำงานหนักราวกับว่า สภาพสิ่งแวดล้อมไทยที่เป็นอยู่ในวันนี้จะทำให้โลกแตกในวันพรุ่งนี้ จึงต้องรีบแก้ไขปัญหาโดยด่วน จึงไม่แปลกทำไมเวลาการทำงาน 2 เดือนที่ผ่านมา จึงผลิตผลงานออกมามากมาย

ดังนั้นในฐานะทีมงานคนหนึ่ง เชื่อมั่นว่าภายใต้การนำของรัฐมนตรี “วราวุธ ศิลปอาชา” การทำงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และจับต้องได้ โดย “ธเนศพล ธนบุณยวัฒน์” ขุนพลข้างกายพร้อมเดินหน้าร่วมแก้ไขปัญหาการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด