เกษตรพันธสัญญา-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สาเหตุฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ?

โจทย์ใหญ่ของฝุ่นควันภาคเหนือก็คือ “มายาคติ” กล่าวคือรัฐชูนโยบาย Zero Burning พร้อม ๆ กับการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงตกเป็นจำเลยของสังคมว่าเป็นคนเผาและไม่ยอมเลิกเผา โดยเฉพาะการใช้ไฟสำหรับการหาของป่าและล่าสัตว์ จึงเป็นที่มาของการชูประเด็นให้ชาวบ้านเลิกใช้ไฟเด็ดขาด

แต่ท่ามกลางการโยนบาปให้ชาวบ้านเป็นแพะ ภาครัฐและผู้มีส่วนในการแก้ปัญหาฝุ่นควันไม่ได้มองสาเหตุของการใช้ไฟที่แท้จริงว่าไฟที่เป็นชนวนการสร้างมลพิษมาจากไหน มาจากการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ทั้งประเทศ 3.7 ล้านไร่ โดยเฉพาะในภาคเหนือมาจากการเผาในพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ หรือฝุ่นพิษส่วนใหญ่ข้ามพรมแดนมาจากไร่ข้าวโพดในเมียนมาและลาว เฉพาะรัฐฉานในเมียนมาที่มีการปลูกโพดมากถึง 7 ล้านไร่เข้าไปแล้ว

กระนั้น รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเป็นวัตถุดิบทำอาหารสัตว์ มีการใช้งบประมาณสำหรับประกันราคากว่า 1,600 ล้านบาท อีกทั้ง ธ.ก.ส. ยังสนับสนุนเงินกู้ให้เกษตรกรปลูกข้าวปลูกโพดเลี้ยงสัตว์ ในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา โดยมีเอกชนรายใหญ่อยู่เบื้องหลังโครงสร้างดังกล่าว ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้ชาวบ้านมีรายได้มั่นคง แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ไฟกำจัดวัสดุการเกษตรหรือซังข้าวโพด ซึ่งมีจุดความร้อน (Hotspot) เป็นตัวบ่งชี้ว่าควันเหล่านั้นมาจากแหล่งใดบ้างมากน้อยแค่ไหน

แต่คำถามที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมาจากไหนกันแน่ จากการเผาป่า เผาไร่ข้าวโพด หรือเป็นฝุ่นที่เกิดจากภาคเมือง ทั้งโรงงาน ระบบขนส่ง เหมืองลิกไนต์ลำปาง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการสร้างมายาคติให้ทุกฝ่ายต่างมีความโน้มเอียงไปให้ร้ายต่อเกษตรกรบนพื้นที่สูง ทั้งที่ต้นตอปัญหามาจากทั้งระดับปัจเจกคือผู้บริโภคในประเทศทั่วไป อุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลหรืออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่ส่งเสริมการปลูกข้าวโพด ซึ่งหากรัฐได้ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายการแก้ปัญหาที่ถูกทางและจะมีผลต่อแนวทางการลงทุนของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ผศ.ดร.​ทศพล​ ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์​ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ระบบเกษตรพันธสัญญาอาจไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีความผูกพันคือการปลูก เก็บเกี่ยวและส่งมอบให้บริษัท เมื่อเป็นรูปแบบที่มีกำไรหรือต้นทุนมาเกี่ยวข้อง เกษตรกรต้องทำให้ได้ตามเป้า เมื่ออยากได้เงินให้พ้นความยากจนต้องเร่งผลิตให้เร็วขึ้น จากเดิมเอกชนแค่รับซื้อผลผลิต ต่อมามาเกี่ยวกับสารเคมี หลังการผลิตมีการทำลายเศษวัสดุทำให้เกิดฝุ่นควัน แต่ขั้นตอนนี้บริษัทคงไม่ได้ให้คำแนะนำในการดูแลสิ่งแวดล้อม

การทำอาชีพของเกษตรกรเปลี่ยนไป ไม่ได้ทำเพื่ออยู่เพื่อกินเพราะบางทีไม่พอ ต้องใช้เงินทั้งส่งลูกเรียน หาอาหาร ซื้อบริการอื่น ๆ ดังนั้นจึงถูกผลักดันเข้าสู่ระบบการผลิตเพื่อนำไปขาย จากเดิมที่ราคาไม่แน่นอน และผันผวนมาก ซึ่งเกษตรกรมีความสามารถในการขาดทุนต่ำ ดังนั้นระบบเกษตรพันธสัญญาจึงทำให้เขามั่นใจหรือมีสัญญาใจ กระทั่งผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เป็นผู้นำระบบนี้เข้ามายังหมู่บ้าน มาทั้งสัญญาว่าจะมีการรับซื้อกิโลกรัมละเท่านั้นเท่านี้ เอาเมล็ดพันธุ์ เอาปุ๋ยเอายามาให้ ปลูกแล้วมีผลผลิตมีคนมารับซื้อ

ด้วยแรงโน้มน้าวว่ารายได้จะมั่นคง คนรับซื้อเป็นบริษัทใหญ่โต ภาพลักษณ์ที่ดูดีมากทำให้เกิดแรงจูงใจให้เกษตรกรอยากเข้าสู่ระบบนี้ ทำให้พี่น้องเกษตรกรหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำเกษตรในพื้นที่ก้ำกึ่งกับเขตอุทยาน ป่าสงวน และทำไร่หมุนเวียนสอดคล้องอยู่กับวิถีชีวิตและธรรมชาติ เริ่มเปลี่ยนไป เริ่มมีคดีรุกป่า มีการใช้พื้นที่เกินกว่าที่รัฐกำหนด เพราะระบบเกษตรพันธสัญญาทำให้ชีวิตพวกเขาง่ายขึ้น สามารถทำการเกษตรโดยที่ไม่มีความเสี่ยงเรื่องคดี ระบบนี้จึงแพร่หลายตามภูเขาต่าง ๆ ไปเร็วมาก

เมื่อการปลูกข้าวโพดในระบบเกษตรพันธสัญญาอยู่บนพื้นที่สูงชันจึงเป็นเรื่องยากที่เกษตรกรจะลงทุนจัดการไถกลบหรือใส่รถนำลงมาจัดการด้านล่าง เพราะไม่คุ้ม ขณะที่บริษัทก็ไม่ได้เข้ามาแบ่งเบาภาวระ ต้นทุนที่ง่ายจึงเป็นการจุดไฟเผา

“คณะวิศวะ มช. เคยคิดเตาเผาชีวมวลไร้ควัน เครื่องละ 1 ล้านบาท แต่ไม่มีใครลงทุนเพราะเราไม่ได้คิดเรื่องการแบกภาระต้นทุนว่าควรเป็นของบริษัท หรือไม่คิดค่าธรรมเนียมอะไร เขาก็ไม่ลงทุนซื้อ ภาครัฐก็ไปจัดการกับเจ้าของพื้นที่คือใช้ฮอตสปอตในแต่ละพื้นที่เอาผิดต่อตำแหน่งหรือปรับลดงบประมาณ

“แต่เมื่อรัฐไม่ชัดเจนก็ไม่มีคนทำ เทศบาลก็ไม่ซื้อเตา หรือจะขนคนเข้าไปช่วย จึงไม่มีใครทำอะไรกับเศษซากและควันที่ลอยออกมา การปลูกในพื้นที่พอจบหนึ่งรอบ การลดต้นทุนคือเผา และเร่งรอบใหม่ เจ้าของพื้นที่เห็นคนเผาจะไปจับก็บอกไม่มีคน หรือไม่โดนบีบจากจังหวัดหรือส่วนกลาง พอควันออกมาก็บอกว่าร่วมกันแบก ควันลงไปในแอ่งพยามจะสะท้อนว่าไม่ไหวแล้ว จังหวัดก็รอถามไป กทม. รอรัฐมนตรี แต่ไม่คิดว่าต้นทุนเศษซากจริง ๆ ใครต้องรับผิดชอบ”

ในแง่การเอาผิดต่อผู้ที่ทำให้เกิดฝุ่นควัน อาจารย์ทศพล แนะนำว่า สามารถเอาผู้ที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันได้ เพราะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งเกษตรกรในฐานะรับจ้างทำของก็ผิด บริษัทที่รับซื้อถ้าไม่ได้ให้คำแนะนำก็ถือว่าประมาทต้องร่วมรับผิด แต่ที่สำคัญจะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าสาเหตุของควันมาจากสาเหตุแหล่งใด เพราะไม่อย่างนั้นจะเคลื่อนประเด็นอื่นไม่ได้

อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารงานทั่วไปและกฎหมาย และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อไทยเข้าสู่การผลิตเกษตรเชิงเดี่ยวมาพร้อมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งแบ่งออกเป็นการลี้ยงสัตว์และการเพาะปลูกที่มีเกษตรพันธสัญญามาเกี่ยวข้อง โดยไม่ได้มีการทำเอกสารสัญญาอะไรกับเกษตรกร เป็นการตกลงให้เกษตรกรผลิตสินค้าทั้งพืชและสัตว์เพื่อขายให้กับบริษัท ซึ่งอาจมีโบรกเกอร์เป็นตัวกลางว่าจ้างตกลงการซื้อขาย

เดิมทีเริ่มจากการผลิตใบยาสูบ การปลูกอ้อยส่งโรงงานน้ำตาล ข้าวก็เริ่มมี และที่หนักสุดในภาคเหนือคือข้าวโพด ถั่วแระ กระเจี๊ยบเขียว การเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ รวม ๆ เรียกว่า “ธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร” ที่เปลี่ยนจากการผลิตแบบยังชีพเป็นโรงงาน หรือนำที่ดินมาผลิตวัตถุดิบป้อนบริษัท ซึ่งสอดรับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการทำนาแปลงใหญ่ นี่คือระบบเกษตรพันธสัญญาที่ได้ผลักต้นทุนทางสังคม (Social Cost) ให้ทุกคนแบกรับ ไม่ว่ายาฆ่าแมลง ความเสื่อมโทรมของป่า ฝุ่นควัน ซึ่งล้วนกระจายความเสี่ยงจากอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารมาให้สังคมต้องรับผิดชอบ

“โดยสรุปมีทั้งมือที่ผลักและมือที่ดึง มือที่ผลักคือกลไกการไม่เข้าถึงแหล่งทุนของเกษตรกร โครงสร้างการผลิตมีการกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรม ทำให้เกษตรกรหาวิธีการแก้ให้เข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งผูกโยงกับทุนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นทุนที่ปล่อยเงินกู้ เมื่อเกษตรกรผลิตก็รับซื้อผลผลิต เป็นการตกเขียว ใช้เป็นฐานคะแนนการเลือกตั้ง สส.หลายคนรุ่นแรก ๆ ได้เป็น สส.จากลูกไล่ตัวเองเลือกเข้าไป นี่คือเกษตรพันธสัญญารูปแบบเดิม

“ต่อมามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ กำหนดให้นำระบบเกษตรพันธสัญญามาแก้ปัญหาเกษตรกร ซึ่งเป็นกลไกของภาครัฐที่ผลักเข้าไป และสุดท้ายการจูงใจของบริษัทที่ดึงเกษตรกรรุ่นแรกเข้าร่วมโครงการว่าจะมีทางรอด จึงมีทั้งผลักและทั้งดึง และที่สำคัญผู้บริโภคบ้านเราไม่ได้เชื่อมโยงกับต้นทุนเหล่านี้ บริบทแวดล้อมของสังคมมีการหาซื้อสินค้าราคาถูกเป็นปัจจัยทำให้ระบบนี้อยู่ได้”

อาจารย์ไพสิฐ อธิบายด้วยว่า การนำซากข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวไปทำอาหารสัตว์ที่ จ.แพร่ ซึ่งเป็นระบบการจัดการ เมื่อเทียบกับอ้อยที่มีระบบโควตา มีการลงทะเบียนว่ามีใครปลูกที่ไหนเท่าไหร่เพื่อให้บริษัทได้จำนวนอ้อยที่แน่นอน เพื่อเตรียมอะไรเท่าไหร่ แต่กรณีข้าวโพดไม่มีการลงทะเบียนว่าใครอยู่ตรงไหน เพราะยิ่งส่งเสริมการปลูกมาก บริษัทยิ่งได้ประโยชน์ ทั้งเมล็ดพันธุ์ ขายปุ๋ย ขายยา ยิ่งผลิตมากยิ่งกดราคาได้ เพราะบริษัทเป็นผู้กำหนดราคา

การไม่วางแผนจัดการทำให้มีปัญหาเรื่องการจัดการซังข้าวโพด บวกกับพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม การวางแผนการปลูก การลงทะเบียนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งปัจจุบันในกฎหมายพันธสัญญามีการกำหนดให้บริษัททำสัญญาสำเร็จรูป เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถควบคุมจำนวนพื้นที่เพาะปลูกได้ เพื่อให้กลไกตลาดไม่ถูกบิดเบือน กฎหมายตรงนี้มีผลใช้บังคับแล้ว แม้เจ้าหน้าที่ยังไม่พร้อม แต่จะแก้ปัญหาเรื่อง PM2.5 ให้ได้ผล ต้องควบคุมพื้นที่เพาะปลูกและใช้มาตรการจาก GMP หรืออาหารสัตว์ที่ส่งออกจะใช้มาตรการตรวจย้อนกลับแหล่งที่มาได้ว่าปลูกได้มาตรฐาน GMP หรือไม่

“เหมือนเราโดน IUU เรื่องประมง ซึ่งกระทรวงไม่เอามาบังคับ เพราะจะกระทบต่อบริษัทที่จะต้องควบคุมพื้นที่ และเกษตรกรจะกลายเป็นตัวประกันของเกมอันนี้ มาตรการทางกฎหมายสามารถนำมาเสริมได้ และจะนำไปสู่การจัดการวางแผนการเพาะปลูกทางการเกษตร หรือจะรอให้โดนเหมือน IUU แต่ถ้าเตรียมตัวก่อนก็จะแก้ปัญหา PM2.5 ได้ด้วย” นี่คือข้อเสนอการแก้ปัญหาจากมุมมองอาจารย์ไพสิฐ

คำถามก็คือเกษตรพันธสัญญาทำให้ลดต้นทุนได้หรือไม่

“บ่วงบาศที่ทำให้เกษตรกรอยู่ในวังวนของหนี้เป็นตัวการให้เกษตรกรได้ผลผลิตต่ำ เพราะเรามองสัญญาแค่เรื่องแคบ ๆ ว่าแค่สัญญารับซื้อผลผลิต แต่เรื่องเกษตรพันธสัญญาต้องตั้งคำถามว่าการปลูกข้าวโพดใครได้ประโยชน์สุดท้าย เราไม่เคยตั้งคำถาม เรามองแค่ว่าเกษตรกรได้ขาย แต่จริง ๆ ต้องมองจากต้นทางการขายเมล็ดพันธุ์ ขายยา ขายปุ๋ย และปลายทางที่ได้ผลผลิตราคาถูกไปทำอาหารสัตว์

“เราไม่ได้เอาเกษตรพันธสัญญามาใช้ในการปรับโครงการระบบการผลิต ที่ป้องกันไม่ให้เกิด Social Cost ซึ่งสามารถทำได้ภายใต้สัญญาสำเร็จรูป เช่น จะไม่รับซื้อ จะไม่ได้รับการคุ้มครองในพื้นที่ห้ามปลูก แต่ไม่ได้ทำ ทั้งที่ไม้ดอกใช้เกษตรพันธสัญญา ไม้ผลก็ใช้ แม้ไม้ผลราคาจะแกว่ง แต่การนำมาใช้ ผู้บริโภคยังสามารถเลือกซื้อสินค้าที่รับผิดชอบต่อสังคม

“การใช้วิธีการฟ้องเป็นเครื่องมือหนึ่งก็จริงอยู่ แต่ถ้านำเรื่องเกษตรพันธสัญญาที่จะโยงเรื่องสิ่งแวดล้อม คนที่จะโดนก็คือเกษตรกร เรื่องอากาศมันมีความยากในการแยกว่าเผาจากแปลงไหน ผสมปนเปกัน และสร้างปัญหาที่ไหน แต่เมื่อลงมือฟ้องจะเกิดความแตกแยกทันที ตัว Social Cost ที่เกิดขึ้นจากความแตกแยกต้องพึงระวัง เพราะการนำไปสู่การฟื้นฟูจะยากมาก

“ควรใช้กลไกใช้ยุติธรรมทางเลือก เช่น การใกล่เกลี่ยเจรจาตกลงจะเหมาะสมมากกว่า แต่ค่อย ๆ ไต่ระดับไป เพราะเรามาแก้ตรงปลายเหตุ และโครงสร้างในทางกฎหมายหรือเครื่องมือของรัฐไม่ได้ออกแบบมาแก้ปัญหา PM2.5 ให้จัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นบนสถานการณ์ใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงและยากที่จะระบุตัวเป้าหมายกับเครื่องมือที่เฉพาะเจาะจง จะต้องช่วยกันมองภาพว่ามาตรการทางสังคมควรจะทำอย่างไร มาตรการทางนโยบาย และทางกฎหมายจะทำอย่างไร

“การระดมเครือข่ายผู้บริโภคที่ได้ประโยชน์จากการผลิตข้าวโพดกับผลกระทบที่เกิดขึ้นเราจะมีวาระในการจัดการอย่างไร เช่น ภาคธุรกิจออกแบบการควบคุมการเผาโดยให้กองทุนในหมู่บ้าน หรือเปลี่ยนจากปลูกข้าวโพดเป็นพืชอย่างอื่นไม่ให้เกิด PM2.5 และท้ายที่สุดจะสร้างเครือข่ายผู้บริโภคที่จะจัดสมดุลอำนาจผูกขาดของธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารอย่างไร” อาจารย์ไพสิฐระบุ

พืชเกษตรอีกชนิดที่เป็นต้นตอของฝุ่น PM2.5 คือไร่อ้อย ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การปลูกอ้อย คือระบบโควตาที่กำหนดจากตลาดโลก การปลูกอ้อยเป็นการขายน้ำตาลล่วงหน้าและจัดสรรโควตาจากโรงงานมายังเกษตรกรที่ต้องผลิตตามสัญญาที่ไปขึ้นทะเบียนไว้

การเผาอ้อย การผลิตอ้อยใช้แรงงานคนตัดอ้อย ปัจจุบันใช้ต่างชาติ แม้ยังมีบางหมู่บ้านจากจังหวัดภาคอีสานไปรับจ้างตัดอ้อยอยู่ แต่มีการต่อรองว่าจะต้องเผา ขณะที่เครื่องจักรสำหรับตัดอ้อยมีราคาแพง เกษตรกรไม่มีปัญญาซื้อมาตัดอ้อย การเผาอ้อยจึงเกิดขึ้นทั่วประเทศ เพราะขาดแคลนแรงงาน

อีกส่วนคือเกษตรกรในภาคอีสานไม่ยอมขึ้นทะเบียนกับสมาคมชาวไร่อ้อยเพื่อรับโควตาการผลิตอ้อยหรือผู้ปลูกอ้อยเสรี เพราะถ้าไปรับโควตาจะขาดทุนมากและต่อรองไม่ได้ ถ้าราคาดีเขาก็ต่อรองได้ นี่คือระบบที่ไม่เป็นธรรม พอถึงช่วงเปิดหีบอ้อย พวกได้โควตา ถ้าอ้อยไม่พอส่งโรงงานก็จะเผาอ้อย กลุ่มปลูกอ้อยเสรีเกิดมากในภาคอีสาน เช่น ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ที่รวมหัวกันเผาอ้อยอย่างกว้างขวางมาก

แต่ที่สำคัญนโยบายรัฐบาลอะลุ่มอล่วยให้โรงงานซื้ออ้อยที่ใช้วิธีการเผาได้ จึงเป็นใบเบิกทางให้มีการเผาอ้อย ถ้ารัฐบาลห้ามเด็ดขาด การเผาอ้อยจะหมดไป แต่ที่ผ่านมารัฐบาลให้ค่อย ๆ ลด ซึ่งปีที่ผ่านมาให้ลดลง 50% ต่อวัน แต่หลายโรงงานในภาคอีสานเผาเกิน 50% และมีการขยายพื้นที่การปลูกอ้อย โดยรัฐบาลที่ผ่านมา ปี 2557-2562 ขยายพื้นที่ 3 ล้านไร่ เมื่อแรงงานไม่พอ ก็ต้องเผาอ้อย

นอกจากนั้นนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ (ที่รัฐบาลผลักดัน) มีผลอย่างมากต่อการขยายพื้นที่การปลูกอ้อย อย่างในอีสานยุทธศาสตร์ตอนนี้เปิดทางให้มีการสร้างโรงงานน้ำตาล 29 แห่งและพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลเข้าไปด้วย เมื่อศึกษาการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ศึกษาเฉพาะโรงงานและโรงไฟฟ้า แต่ไม่ศึกษาครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อย

แต่ละโรงงานปลูกอ้อยโรงงานละ 2 แสนไร่ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางด้านการเกษตร ไร่นาที่เก็บน้ำไว้ไม่ให้น้ำท่วมก็ถูกไถทิ้งเป็นพื้นราบแบนเพื่อปลูกอ้อย ซึ่งมีการผลักดันนโยบายนี้ในอีสาน และมีชาวบ้านประท้วงอยู่ เพราะเป็นการเอื้อให้กับกลุ่มทุนน้ำตาล และไม่ควบคุมมลพิษจากการเผาอ้อย

ปีที่ผ่านมาปัญหาในพื้นที่ปลูกอ้อยพบค่าดัชนีคุณภาพอากาศแย่มาก ๆ เช่น กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และฝุ่นควันไม่ได้ปกคลุมอยู่แค่ในจังหวัด เช่น สุพรรณบุรี PM2.5 ก็มาถึงกรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งนโยบายรัฐบาลพูดกว้าง ๆ ว่าห้ามเผาในที่โล่ง ซึ่งไม่ถูกต้องเพราะยังมีใบเบิกทางให้มีการเผาอ้อยต่อไป

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม  แต่ไม่มีหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม เข้าไปจัดการ และดูเรื่องการจัดทำ EIA และ EHIA ในระยะ 5 กิโลเมตรและไม่รวมพื้นที่ปลูกอ้อย ซึ่งระบบผลิตอ้อยไม่ได้มีแค่ตัวโรงงาน แต่ต้องรวมต้นทางวัตถุดิบด้วย ซึ่งพื้นที่ 2 แสนไร่รัศมีมันเป็น 100 กิโลเมตร แต่กฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่ครอบคลุม

“ใครเผาในพื้นที่ อบต.ก็เข้าไปจัดการได้โดยใช้ พ.ร.บ.สาธารณสุข เราไม่ค่อยได้ใช้ นายก อบต.ก็เป็นเจ้าของโควตา ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือนั่งอยู่ในสมาคมชาวไร่อ้อย เป็นวิธีการที่ทำได้ยาก ต่างจากการฟ้องแบบกลุ่มจะใช้กระบวนการยาวนานกว่าศาลจะรับคำฟ้อง กรณีการเผาอ้อยเกษตรกรต้องรับผิดชอบ สมาคมฯ ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

“รวมถึงโรงงานด้วย และมีการควบคุมจากรัฐบาลกลาง ไม่ใช่ค่อย ๆ ลด แต่มีการเผามากกว่าจำนวนที่รัฐบาลกำหนดไว้ ซึ่งแม้ผู้ว่าฯ ก็ไม่กล้าไปห้าม เพราะเป็นนโยบายรัฐบาล ฉะนั้นต้องออกนโยบายให้ชัดเลยว่าโรงงานห้ามรับซื้ออ้อยที่มีการเผาเด็ดขาด การเผาอ้อยน่าจะมีข้อมูลที่เพียงพอ แค่เรียบรียงให้เป็นระบบ เช่น พื้นที่ปลูกเท่าไหร่ การรับซื้ออ้อยเผาเกินอยู่เท่าไหร่ ซึ่งรัฐบาลต้องกลับไปแก้ปัญหาที่ต้นตอ การเผาจะลดลงทันที

“และรัฐบาลต้องทบทวนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกอ้อยและเอทานอล ทบทวนกฎหมายการสร้างโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบที่ต้องครอบคลุมพื้นที่วัสดุดิบด้วย การประเมินสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ที่ไม่ควรปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องทำเกษตรแปลงใหญ่ ไม่ต้องเข้าโควตาระดับโลก โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสานที่ต้องยกเลิกโรงงาน 9 แห่งและโรงไฟฟ้าชีวมวล

“ฝุ่นควันข้ามพรมแดนพบว่าพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่ในรัฐฉานมากกว่าพื้นที่ภาคเหนือ 2 เท่า หรือประมาณ 7 ล้านไร่ เวลาเกิดมลพิษไม่ได้มาจากการเผาซังข้าวโพด ยังรวมถึงการเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก ฝั่งลาวก็มีการขยายการปลูกกล้วยหอมด้วย การทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนจะต้องถูกนำมาใช้ ไม่ว่ามีโรงงานผลิตอาหาร หรือผลิตอ้อยต้องนำหลักการนี้มาใช้ การไปลงทุนข้ามพรมแดนที่ไปปลูกข้าวโพดในรัฐฉานเป็นสิ่งที่ในระดับนโยบายรัฐต้องนำมาใช้” อาจารย์ไชยณรงค์ ระบุ

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน