ศกพ. แถลงรับมือ PM2.5 ปี66 พร้อมคุมเข้ม 7 มาตรการ ลดฝุ่น 3 พื้นที่

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และผอ.ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) แถลงข่าวการเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5  ประจำปี 2566 โดยกล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มักเกิดขึ้นในช่วงปลายปีและต้นปี จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ช่วงต้นปี 66 จะมีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ทำให้ฝุ่นละออง PM2.5 เกิดการสะสม ซึ่งถือว่าสภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่คาดว่าฝุ่นละออง PM2.5 จะมีค่าเกินมาตรฐานมากกว่าในปีก่อน

นายปิ่นสักก์ กล่าวอีกว่า คพ. ได้จัดทำแผนเฉพาะกิจแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละออง ปี 66 ตามหลักการ 3 พื้นที่ ได้แก่  พื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม 7 มาตรการ ตามกรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” สำหรับพื้นที่ในเมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 มาจากการจราจร และโรงงานอุตสาหกรรม การจราจร ขอความร่วมมือให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีการกำหนดโครงการ อาทิ โครงการรถรัฐลดมลพิษ โครงการคลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5 ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์รวม 11 บริษัท ให้บริการตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์ฟรี และลดค่าน้ำมันเครื่อง ค่าอะไหล่ และค่าแรงเป็นพิเศษ ปั้มน้ำมันบางจากและปตท. มีการจำหน่ายน้ำมันกำมะถันต่ำในช่วงวิกฤต มีความเข้มงวดและขยายพื้นที่ตรวจวัดควันดำ 20 จุด เพื่อควบคุมตั้งแต่ต้นทาง

นายปิ่นสักก์ กล่าวถึงด้านโรงงานอุตสาหกรรมว่า จะมีกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการตรวจกำกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มในการปล่อยมลพิษสูง ร้อยละ 100 ตลอดปี  โดยในช่วงวิกฤตระหว่างเดือนต.ค. – ธ.ค. 65 จะเร่งตรวจกำกับโรงงานเชิงรุกโดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงในการปล่อยฝุ่นละอองจากกระบวนการเผาไหม้ เช่น โรงงานหลอมเหล็ก โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ รวม 896 โรงงาน รวมทั้งควบคุมสถานประกอบการ เช่น กิจการผสมซีเมนต์ กิจการหลอมโลหะ อู่พ่นสีรถยนต์ กิจกรรมผลิตธูป เป็นต้น สำหรับพื้นที่ในเมือง ในปี 2565 มีจำนวนวันที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 186 วัน โดยในปี 66 ได้ตั้งเป้าหมายลดจำนวนวันที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานให้ได้ร้อยละ 10

ส่วนพื้นที่เกษตร นายปิ่นสักก์ ระบุว่า ทางกรมการส่งเสริมการเกษตร จะร่วมส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อลดการเผาในพื้นที่เกษตร พร้อมสร้างเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา โดยกำหนดเป้าหมายใน 62 จังหวัด เกษตรกร 17,640 คน และตั้งเป้าหมายลดจำนวนจุดความร้อนร้อยละ 10%

อธิบดีคพ. กล่าวว่า ส่วนพื้นที่ป่า แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่สำคัญมาจากไฟป่า โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ จะดำเนินการจัดการเชื้อเพลิงด้วยวิธีชิงเก็บลดเผา ไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน พร้อมบูรณาการกับทุกภาคส่วน ส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า การประยุกต์ใช้ระบบพยากรณ์ระดับชั้นอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System: FDRS) และดับไฟป่า โดยกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดให้ลดจำนวนจุดความร้อนละ 20% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง

อธิบดีคพ. ย้ำว่า สภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ควบคุมไม่ได้ จึงอาจส่งผลให้ค่าฝุ่นสูงขึ้นในช่วงนี้ ดังนั้นจึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในการป้องกันและลดฝุ่น PM2.5 กันตั้งแต่ต้นทาง ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4thai หรือ แฟนเพจศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่