PM2.5 รุนแรงสุดรอบ 5 ปี หวั่นปีหน้าเอลนีโญซ้ำหนักกว่าเดิม

PM2.5 ปีนี้รุนแรงสุดในรอบ 5 ปี กรุงเทพฯ -เชียงใหม่แทบไม่มีอากาศดีให้หายใจ เตือนหากไร้มาตราการรับมือปีหน้าซ้ำหนักกว่าเดิม

คมชัดลึกออนไลน์รายงานพิเศษสรุปสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และสถานการณ์หมอกควันที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วง 4 เดือนของปี 2566 (ม.ค.- เม.ย. 2566) โดยรศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร

ภาพรวมสถานการณ์ฝนปี 2566 จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ช่วงต้นปีพบว่าในปีนี้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และหมอกควันในพื้นที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่รุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยข้อมูลระบุว่ากรุงเทพฯ และเชียงใหม่มีวันที่อากาศเป็นมลพิษมากที่สุดตั้งแต่เผชิญกับปัญหา PM2.5

สาเหตุที่ PM2.5 และฝุ่นควันในปี 2566 ทวีความรุนแรงมากขึ้นมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสภาพปัญหาการจราจร ปัญหาการเผาในภาคการเกษตร รวมไปถึงปัญหาหมอกควันข้ามแดนจากการเผาทางการเกษตร ซึ่งถือว่ามีสถิติสูงสุดและรุนแรงมากสุดในรอบ 9 ปี

รศ.ดร. วิษณุ อธิบายเพิ่มเติมว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ถอดบทเรียนเพื่อหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งพบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯส่วนใหญ่ปัญหาฝุ่นพิษมาจากสภาพการจราจร โดยเฉพาะการเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 และยังพบปัญหารถบรรทุกและรถเก่าที่มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น

ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือพบว่า ปีนี้การเผาในภาคเกษตรและไฟป่ารุนแรงมากขึ้นกว่าทุกปี อัตราการเผาในที่โล่งนั้นอยู่ที่ 32.79% ซึ่งสูงกว่าที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยกำหนดไว้ว่าจะต้องไม่เกิน 5%

จากการเก็บข้อมูลพบว่าสาเหตุที่ทำให้มีการเผาในพื้นที่เกษตรเพิ่มมากขึ้นนั้นมาจาก ‘มาตรการบังคับห้ามเผา’ หากมองในมุมเศรษฐศาสตร์ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะการออกประกาศห้ามเผาจะยิ่งทำให้ให้ประชาชนเร่งการเผาเพิ่มมากขึ้น

การเกิดไฟป่าส่วนใหญ่มาจากการเข้าไปหาของป่าและจุดไฟเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ รวมไปถึงช่วงสองปีที่ผ่านบริเวณภาคเหนือเกิดฝนตกชุก จากอิทธิพลปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้เกิดการสะสมเชื้อเพลิงในป่าไว้จำนวนมาก ส่งผลให้ปัญหาไฟป่าทางภาคเหนือมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

การควบคุมไฟป่านั้น ยังพบปัญหาเชิงโครงสร้าง การบริหารจัดการงบไม่ครอบคลุมพื้นที่ พื้นที่ป่าไม้มีจำนวน 5,000,000 ไร่ แต่กลับจัดสรรงบประมาณให้ดูแลเพียงหลัก 100,000 ไร่เท่านั้น เจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เพียงพอและครอบคลุมกับปัญหาได้

ส่วนปัญหาหมอกควันข้ามแดน จากการสำรวจยังพบว่าบริเวณแนวตะเข็บชายแดนโดยเฉพาะในพื้นที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ยังมีการเผาอยู่จำนวนมากที่ทำให้ฝุ่นย้อนกลับเข้ามายังประเทศไทย

รศ.ดร. วิษณุ ได้เสนอมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไว้ว่า หากจะลดการเผาของเกษตรกรลง รัฐจะต้องมีมาตรการเก็บเงินกับคนเผาเพื่อเข้ากองทุน จากนั้นจึงหมุนเวียนเงินกลับคืนมาให้เกษตรกร  เพราะที่ผ่านมามีแต่มาตรการบังคับเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือ เมื่อถึงหน้าต้องเผาเพื่อเตรียมปลูกรอบต่อไป เกษตรกรจึงเร่งเผาก่อนที่รัฐจะประกาศห้าม ซึ่งในหลักการแล้วรัฐควรจะช่วยเหลือก่อนจึงบังคับใช้กฎหมาย

ด้านการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ควรจะมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับว่าเอกชน หรือภาคอุตสาหกรรมใดเป็นผู้รับซื้อสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยไม่มีระบบดังกล่าว จึงไม่สามารถติดตามต้นทางให้มารับผิดชอบปัญหาได้  รวมไปถึงประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่สามารถเอาผิดประเทศเพื่อนบ้านที่สร้างมลพิษเหมือนกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งทางออกที่สามารถทำได้เลยคือการออกกฎหมายอากาศสะอาดที่ไม่ต้องรอให้มีรัฐบาลใหม่

ส่วนกรณีการขอความร่วมมือกับประเทศอาเซียนอาจจะมีการกำหนดประเทศให้น้อยลง โดยอาจจะเป็นเฉพาะอาเซียนตอนบนเท่านั้น เพื่อให้เกิดความง่ายในการเจรจา และกำหนดเงื่อนไขโดยควรจะมีการจัดตั้งศูนย์ฝุ่นข้าวพรมแดนที่จะคอยเข้ามาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตรวจสอบความก้าวหน้าในการแก้ปัญหา

แม้ว่าฤดู PM2.5 และฤดูหมอกควันใกล้จะจบแล้ว เพราะประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน แต่หากไม่มีมาตรการที่ชัดเจนรัดกุม และแผนการรับมือที่ดี ในปี 2567 ประเทศไทยจะเผชิญกับฝุ่น PM2.5 และ ปัญหาหมอกควันหนักมากขึ้น เพราะอิทธิพลของเอลนีโญที่จะทำให้เกิดความแห้งแล้ง และอากาศร้อนมากขึ้น

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย