ประเทศไทยเอาไงดี? ส่องความคืบหน้าแผนรับมือโลกร้อน

จากสถานการณ์โลกปัจจุบันที่ประเทศทั่วโลกต่างต้องประสบกับนานาวิกฤตรายล้อมที่ต้องจัดการ แต่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังถือเป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดที่ประชาคมโลกต้องร่วมกันรับมือแก้ไข โดยมีภารกิจสำคัญร่วมกันในการเร่งดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้เป็นไปตามเป้าหมายหมายความตกลงปารีสไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

แม้ว่าสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยจะถือเป็นเพียงเศษเสี้ยวน้อยนิดแค่ร้อยละ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศยักษ์ใหญ่ แต่เนื่องด้วยไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากภัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุด หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกพุ่งสูงเกินเพดานเป้า ดังนั้นการดำเนินการแก้ไขปัญหาโลกร้อนจึงถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือกรมโลกร้อนภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับบทบาทหลักในการรับมือการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน โดยได้วางแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ 5 แนวทาง เพื่อลดความเสี่ยงจากอุณหภูมิโลกที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น และไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากภัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุด หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกพุ่งสูงเกินเพดานเป้า

เพื่อทำความเข้าใจข้อมูลแนวนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาโลกร้อนของไทยล่าสุด จึงนำภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องสภาวะโลกร้อนของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมมาอธิบายให้เห็นความคืบหน้า

ส่อง 5 แนวทางแผนสู้โลกร้อน

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (1) เปิดเผยว่า ภายใต้เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ไทยได้เสนอไว้กับประชาคมโลก (National Determined Contribution – NDC) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อน ร้อยละ 20 – 25 จากกรณีดำเนินการตามปกติ ภายในปี 2573 และมุ่งสู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ถึง ร้อยละ 30 – 40 หากได้การช่วยเหลือสนับสนุนจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ดังนั้น เพื่อดำเนินการให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหอกในการผลักดันการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน โดยได้วางแนวทางในการดำเนินงานขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ใน 5 แนวทาง ได้แก่

  • การจัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศใน 5 สาขาหลัก ได้แก่ สาขาพลังงาน คมนาคมขนส่ง การจัดการของเสีย กระบวนการทางอุตสาหกรรม และเกษตร
  • ปรับปรุงแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต โดยจะมีกลไกสำคัญคือ carbon pricing mechanism ซึ่งจะรวมไปถึงการกำหนดการจำกัดสิทธิการปล่อยคาร์บอน ภาษีคาร์บอนสำหรับผลิตภัณฑ์ และการส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
  • ปรับปรุงและผลักดันร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกมิติ รวมถึงสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาโลกร้อน
  • ทำงานสนับสนุนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือเครือข่าย ทสม. รวมถึงประสานงานร่วมกับกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในการผลักดันการปรับตัวรับมือและแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • พัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรภายในกรมฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (BMWK) ประเทศเยอรมนี

ในด้านความคืบหน้า การผลักดันการลดก๊าซเรือนกระจก ดร.พิรุณ ระบุว่า ขณะนี้การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศใน 5 สาขาหลัก มีความก้าวหน้าอย่างน่าพอใจ โดยขณะนี้ไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกใกล้ถึงตามเป้าหมายที่วางไว้แล้ว และยังคาดว่าหากได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศเพิ่มเติม อาจจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ถึงกว่า 3 เท่า

“ขณะนี้เราสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ราว 4% ในทุก ๆ ปี และจากการดำเนินการที่ผ่านมา ค่อนข้างเป็นที่มั่นใจว่าปี 2567 เราจะยังสามารถทำได้ตามเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ยังขอความร่วมมือผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชนให้ร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อที่จะช่วยกันขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Net Zero” ดร.พิรุณ กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการผลักดันร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะนี้ทางกรมฯ ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 6 ครั้ง (ครั้งที่ 6 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567) และจะเร่งนำเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อคณะรัฐมนตรีภายในช่วงกลางปี 2567 โดยกฎหมายฉบับใหม่นี้จะเป็นเครื่องมือในทางกฎหมายที่จะช่วยให้ไทยสามารถรับมือและแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ จะช่วยกำหนดแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกันในทุกภาคส่วน รวมถึงมีการกำหนดกลไกราคา และการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต

ความท้าทายแผนแก้โลกร้อน

ในขณะที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้ถูกวางตัวให้เป็นตัวกลางในการบริหารจัดการการทำงานรับมือแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน แน่นอนว่าย่อมมีอุปสรรคที่ต้องเผชิญ กล่าวคือบุคลากรในกรมฯ ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโลกร้อน เนื่องจากกรมฯ เพิ่งจะเปลี่ยนผ่านภารกิจจาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเดิม มาเป็นกรมใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา ดังนั้นภารกิจหลักข้อหนึ่งตลอดทั้งปี 2567 คือการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรภายในกรมฯ ให้สอดคล้องกับภาระงานที่เปลี่ยนไป

นอกจากนั้น งบประมาณด้านการรับมือและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 ทางกรมฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณอยู่ที่ราว 540 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับภาระหน้าที่ในการปฏิบัติตามเพื่อรับมือโลกร้อน ถือว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไม่ได้มีจำนวนมากนัก และต้องใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่าที่สุด

จากแนวทางดังที่กล่าวมาพอจะเห็นความคืบหน้าและมีความหวังว่าประเทศไทยจะสามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นหายนะภัยที่ทั่วโลกโลกต่างต้องเผชิญ และเป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดที่ประชาคมโลกต้องร่วมกันรับมือแก้ไข โดยเฉพาะการควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

อ้างอิง :

  • ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช, อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม, สัมภาษณ์, 22 มีนาคม 2567

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย

เร่งกองทุน Loss and damage ช่วยประเทศเปราะบางสู้วิกฤตโลกเดือด