น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ที่กำลังวิกฤตและภาคเหนือก่อนนี้มาจากขาดระบบเตือนภัยที่แม่นยำ และบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์แต่แยกส่วน จึงทำให้เศรษฐกิจเสียหาย
สถานการณ์น้ำท่วมหนักสุดรอบหลายปีทั้งในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่กำลังประสบภัย ตลอดจนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคเหนือที่ผ่านมาซึ่งได้รับเสียหายรุนแรงกว่าปี 54 อาจสรุปสาเหตุได้ว่ามาจากขาดระบบเตือนภัยที่แม่นยำ ไม่มีแบบจำลองคาดการณ์สถานการณ์ และการบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์แต่แยกส่วน หรืออาจกล่าวได้ว้่าประเทศไทยไม่เคยถอดบทเรียนจากสถานการณ์วิกฤต ทำให้ปัญหาความวิบัติย่ำอยู่กับที่
เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นซ้ำซากในแทบทุกภูมิภาคของประเทศในทุกปี ยิ่งภาวะโลกร้อนยิ่งวิกฤจจะทำให้เกิดภัยพิบัติบ่อยครั้งและมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นต่อเนื่อง ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาครัฐทั้งส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ธุรกิจเอกชน และประชาชนยังให้ความสำคัญค่อนข้างน้อยต่อการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ
โลกร้อนฉุดเศรษฐกิจพังพาบ 2 ล้านล้าน
ในขณะที่ภาพใหญ่ของสถานการณ์ ไทยติด 1 ใน 10 ประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน (Climate Change) มากที่สุด โดยในช่วงปี 2543-2562 เกิดภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศถึง 146 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 138 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 2.8 แสนล้านบาท
จากสถานการณ์โลกร้อนชี้ให้เห็นว่า ภัยธรรมชาติมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอุทกภัยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ไทยมีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม 2,000 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 2 ล้านล้านบาท
เป็นข้อมูลจาก ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ ที่กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 ในหัวข้อ “ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด” เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า สาเหตุที่ทำให้ไทยเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก และเกิดความเสียหายมหาศาลมาจาก 3 สาเหตุ คือ
1) การบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์แต่แยกส่วน 2) ขาดการป้องกันและเตรียมพร้อมที่ดีก่อนเกิดเหตุ โดยเฉพาะระบบเตือนสาธารณภัยของไทย และ 3) ขาดการวางแผนและจัดลำดับการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ทั้งที่การลงทุนในระบบเตือนภัยล่วงหน้ามีความคุ้มค่าสูง มีผลตอบแทนถึง 9 เท่า
นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ไทยไม่สามารถรับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่ได้ เนื่องจากท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐมีขีดความสามารถที่จำกัดในการบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติ รวมทั้งขาดการบูรณาการในการทำงาน และการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม
สาเหตุน้ำท่วมใหญ่ชายแดนใต้ตอนล่าง
วิกฤตน้ำท่วมใน จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ที่ได้รับความเสียหายอย่างมากหลังจากฝนตกหลักช่วงปลายเดือน พ.ย.และต่อเนื่องเข้าช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2567 โดยเฉพาะที่ยะลาและปัตตานี บางพื้นที่ระดับน้ำท่วมสูงถึง 2 เมตร ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกิดพายุเหมือนอย่างภาคเหนือที่ได้รับอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่น
ณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์สาเหตุสรุปได้ ดังนี้
1) ขาดกลไกการเตือนภัยที่แม่นยำและครอบคลุม 2) ไม่มีการบริหารความเสี่ยงและลดความเสี่ยงภัยพิบัติในยามปรกติ โดยเฉพาะไม่ได้มีการทำแบบจำลองน้ำท่วมของแม่น้ำ 4 สายหลักในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อน 3) เมื่อไม่มีแบบจำลองสถานการณ์จึงไม่สามารถคาดการณ์และประเมินความเสี่ยงได้ และ 4) เมื่อไม่รู้ความเสี่ยงและขาดกลไกเตือนภัย ทำให้หลังจากเกิดฝนตกหนักจึงไม่สามารถแจ้งเตือนประชาชนให้อพยพ หรือตั้งรับได้ทัน
ณัฐสิฏ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ทางศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ ในสังกัดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.)ได้เสนอของบประมาณการวิจัยเพื่อติดตั้งระบบมาตรวัด และระบบเตือนภัยลุ่มน้ำปัตตานีไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา
“ในพื้นที่ภาคใต้มีเพียงเขตเทศบาลนครหาดใหญ่เพียงพื้นที่เดียวที่มีโมเดลการจำลองน้ำท่วมและการไหลของน้ำที่สามารถพยากรณ์ได้ว่าเมื่อฝนตกพื้นที่ใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบ และมีกลไกการเฝ้าระวังความเสี่ยงน้ำท่วม ที่มักเรียกกันว่า ‘หาดใหญ่โมเดล’
กลไก “หาดใหญ่โมเดล” นี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2553 แต่เป็นกลไกที่ถูกตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีสถานะทางกฎหมายรองรับชัดเจน และชุดปฏิบัติการฯ ดำเนินงานในลักษณะคล้ายกับจิตอาสา ทำให้ค่อนข้างมีความเปราะบางในด้านความต่อเนื่อง
จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าเกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้หลายครั้งหลายพื้นที่ อาทิ หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา ปัตตานี ฯลฯ แต่ไม่สามารถรับมือได้ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุจริงทำได้แค่การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยซึ่งเกิดทุกครั้งก็ทำได้แค่ช่วยเหลือเยียวยา แต่ไม่สามารถลดความเสียหายได้
“นอกจากนั้นยังขาดองค์ความรู้ทางวิชาการ เช่น แบบจำลองน้ำท่วม ควรจะมีการทำทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยง จะได้สามารถประเมินและบริหารความเสี่ยงได้ แต่ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ มีงบประมาณที่จำกัดอย่างถึงที่สุด จึงทำให้สามารถสร้างแบบจำลองได้เฉพาะในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่เท่านั้น ไม่ครอบคลุมแม้แต่อำเภอหาดใหญ่” ณัฐสิฏ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลความสูญเสียโดยรวมตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. 2567 ไทยเกิดอุทกภัยในภาคเหนือและภาคกลาง ตั้งแต่ต้นปีถึง 8 ก.ย. 2567 มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 50 จังหวัด โดยจังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด ได้แก่ เชียงราย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2.7 แสนไร่ สุโขทัย 2 แสนไร่ นครพนม 1.5 แสนไร่ พะเยา 1.4 แสนไร่ และ พิจิตร 1.2 แสนไร่ ในจำนวนนี้พื้นที่ปลูกข้าวที่เสียหาย 3.1 แสนไร่ รองลงมาเป็นข้าวโพด 4,280 ไร่ อ้อย 935 ไร่ และมันสำปะหลัง 654 ไร่ (รอสรุปความเสียหายภาคใต้)
แนะตั้งศูนย์วิชาการรับมือภัยพิบัติ
ดร.เสาวรัจ เสนอแนะเชิงนโยบายในการรับมือภัยพิบัติ ดังนี้
1. ตั้งศูนย์วิชาการภัยพิบัติในพื้นที่เสี่ยง เช่น จังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อทำให้เกิดองค์ความรู้ในการจัดการรับมือความเสี่ยงภัยพิบัติ โดยสนับสนุนทรัพยากรให้แก่มหาวิทยาลัยในภูมิภาคด้วยกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุน ววน.)
2. เพิ่มขีดความสามารถด้านเทคนิคของหน่วยงานรัฐส่วนกลาง โดยขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เช่น องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)
3. ยกระดับการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงาน โดยให้อำนาจตามกฎหมาย และอำนาจให้คุณให้โทษร่วมกับการสร้างความพร้อมรับผิดรับชอบของหน่วยงานในพื้นที่ โดยเร่งออกพ.ร.บ.ยกระดับการบริหารงานภาครัฐให้มีความทันสมัย เริ่มใช้กับจังหวัดและลุ่มน้ำที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้มี “ผู้ว่าซูเปอร์ซีอีโอ” และผู้บัญชาการลุ่มน้ำ เพื่อให้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
4. แก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม โดยระงับการใช้ที่ดินในเขตพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติมไป พร้อมกับการทยอยแก้ไขปัญหาจากการใช้ที่ดินผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต
อ้างอิง:
https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1155928
https://tdri.or.th/2024/10/5-challenges-fighting-climate-change/
https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/flood-impact-2024
ขอบคุณภาพจาก: เว็บไซต์สยามรัฐ