จัดอันดับสิ่งแวดล้อมไทยปี 65 ร่วงจาก 78 ไปอยู่ 108 ของโลก การอนุรักษ์ระบบนิเวศแย่สุด ๆ

กระทรวงทรัพย์อาจจะบอกว่าที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปมาก และประสบความสำเร็จในหลายด้าน แต่ข้อมูลการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา  ระบุว่า คุณภาพสิ่งแวดล้อมไทยแย่ลง 30 อันดับ โดยร่วงจากอันดับ 78 ของโลกในปี 2563 ไปอยู่ที่อันดับ 108 ของโลกในปี 2565

อาจารย์วิษณุ อรรถวานิช จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Witsanu Attavanich ว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2565 ทาง Yale University ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการจัดอันดับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของ 180 ประเทศทั่วโลกในปี 2565 รวมถึงประเทศไทย ผลการจัดอันดับพบว่า ภาพรวมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของไทยแย่ลงจากอันดับ 78 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 108 ของโลก

เมื่อพิจารณาแยกรายประเด็นพบว่า คุณภาพอากาศโดยรวมแย่ลงจากอันดับ 85 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 93 ของโลก อันดับด้านฝุ่นพิษ PM2.5 ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยอยู่ที่อันดับ 87 ของโลก มลพิษจากโอโซนบนภาคพื้นดินอันดับไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่สารมลพิษตัวอื่น เช่น ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) อยู่อันดับรั้งท้ายตารางทุกสาร

ส่วนหนึ่งสะท้อนผลจากการที่ประเทศไทยไม่ได้ปรับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของสารมลพิษต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน ขณะที่หลายประเทศในโลกมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับด้านการจัดการขยะอันดับแย่ลงจากอันดับ 84 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 100 ของโลก ทั้งการควบคุมขยะมูลฝอย และการจัดการขยะพลาสติกในทะเลยังมีค่าดัชนีแย่กว่าค่าเฉลี่ยของโลก ด้านการบำบัดน้ำเสียก็แย่ลงจากอันดับ 97 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 116 ของโลก และด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศและบริการของระบบนิเวศนับว่าแย่สุด ๆ ร่วงจากอันดับ 101 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 129 ของโลก

โดยในด้านนี้บริการระบบนิเวศถือว่าย่ำแย่มากร่วงจากอันดับ 140 ของโลก ซึ่งแย่มากอยู่แล้ว ไปอยู่ที่อันดับ 152 ของโลก ขณะที่ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอันดับดีขึ้นจากอันดับ 114 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 107 ของโลกแต่ยังมีค่าดัชนีแย่กว่าค่าเฉลี่ยของโลก

ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันดับก็แย่ลงจากอันดับ 84 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 106 ของโลก หลัก ๆ เกิดจากอันดับที่แย่ด้านการคาดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (อันดับที่ 157 ของโลก) และอัตราการเติบโตของคาร์บอนดำ (อันดับที่ 127 ของโลก) ส่วนด้านการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอันดับดีขึ้นจากอันดับ 117 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 101 ของโลก แต่ยังมีค่าดัชนีแย่กว่าค่าเฉลี่ยของโลก

ส่วนด้านการทำประมงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอันดับแย่ลงจากอันดับ 87 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 110 ของโลก

การจัดอันดับโลกในรายงานฉบับนี้สะท้อนให้เห็นว่าการยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาไทยให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมน้อยมาก ๆ สังเกตได้จากงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมที่ลดลงอย่างมากจากอดีต แม้ปีงบประมาณ 2566 จะปรับงบประมาณการสิ่งแวดล้อมเพิ่มจาก 8,361 ล้านบาท เป็น 10,226 ล้านบาท แต่ก็นับว่ายังน้อยกว่างบประมาณที่เคยได้รับในอดีตตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นมา (ปี 2562 ได้รับงบประมาณ 10,945 ล้านบาท ปี 2563 12,868 ล้านบาท และปี 2564 16,143 ล้านบาท)

จากข้อมูลงบประมาณจะเห็นว่างบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมมีความผันผวนขึ้นลงไปมาตลอด สะท้อนให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายของไทยมองการยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องชั่วคราวและสำคัญน้อย การดำเนินงานเพื่อการยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมจึงขาดความต่อเนื่อง สุดท้าย ผลการจัดอันดับโลกล่าสุดกำลังสะท้อนให้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำในอดีต

เอกสารอ้างอิง

  • สำนักงบประมาณ. 2562-2566. งบประมาณโดยสังเขป (ฉบับปรับปรุง). https://www.bb.go.th/topic3.php?gid=548&mid=311
  • List of countries by GDP (nominal). https://en.wikipedia.org/…/List_of_countries_by_GDP…
  • Wolf, M. J., Emerson, J. W., Esty, D. C., de Sherbinin, A., Wendling, Z. A., et al. (2022). 2022 Environmental Performance Index. New Haven, CT: Yale Center for Environmental Law & Policy. epi.yale.edu. https://epi.yale.edu/epi-results/2022/component/epi

Related posts

คนกรุง อ่วม ‘PM2.5 พุ่ง’ เกินมาตรฐาน มกราคม เจอยาว

กลุ่มต้านค้านอวนตาถี่จับปลากลางคืน อ้างเป็นการ’ฆาตกรรมทะเลไทย’

ประมงพื้นบ้านค้านร่างพ.ร.บ.การประมง เปิดช่องทำลายห่วงโซ่อาหาร