ปี 65 สำรวจพบพะยูน 273 ตัว จัดงานรำลึก ‘มาเรียม-ยามีล’

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดกิจกรรมงานวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 “ระลึกถึงมาเรียม ยามีล ร่วมใจกันรักษ์พี่น้องและพ่อแม่พะยูนของไทย” โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า 4 ปีแห่งการจากไปของมาเรียมและยามีลพะยูนน้อยแห่งทะเลอันดามัน ทำให้สังคมหันมาสนใจในการอนุรักษ์พะยูน และตระหนักถึงปัญหาขยะทะเลกันมากขึ้น จากการสำรวจประเมินประชากรพะยูนในปี 2565 ภายใต้ “มาเรียมโปรเจค” พบพะยูนประมาณ 273 ตัว

สำหรับปี 2566 อยู่ระหว่างการสำรวจในพื้นที่แหล่งอาศัยพะยูน 13 แห่ง ประกอบด้วย 1.บริเวณเกาะลิบง เกาะมุก และอ่าวสิเกา จ.ตรัง 2.เกาะศรีบอยา เกาะปู เกาะจำ และอ่าวนาง จ.กระบี่ 3.เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ อ่าวพังงา จ.พังงา อ่าวป่าคลอก จ.ภูเก็ต 4.เกาะลิดี เกาะสาหร่าย จ.สตูล 5.เกาะพระทอง จ.พังงา 6.หมู่เกาะกรูด จ.ตราด

7.อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี 8.ปากน้ำประแส จ.ระยอง 9.อ่าวสัตหีบ จ.ชลบุรี 10.อ่าวทุ่งคาสวี จ.ชุมพร 11.อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี 12.อ่าวปัตตานี จ.ปัตตานี และ 13.อ่าวเตล็ด จ.นครศรีธรรมราช โดยจากความร่วมมือตามแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 1 ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ สามารถเพิ่มจำนวนพะยูนในธรรมชาติได้เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันได้ออกกฎกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศให้แหล่งอาศัยของพะยูนใน อ.ปะเหลียน อ.หาดสำราญ อ.ย่านตาขาว อ.กันตัง และ อ.สิเกา จ.ตรัง เป็นพื้นที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในอนาคตจะสานต่อการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2568) เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรของพะยูนในไทยให้เพิ่มมากขึ้น

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดี ทช. รักษาราชการแทนอธิบดี ทช. กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2562 เป็นวันที่ “พะยูนมาเรียม” เสียชีวิต และต่อมา “พะยูนยามีล” ก็เสียชีวิตเช่นกัน ลูกพะยูนทั้งสองตัวถูกพบในพื้นที่ จ.กระบี่ สาเหตุหลักเกิดจากการพลัดพรากจากแม่ที่คอยดูแลให้นม แล้วมีอาการเจ็บป่วยเนื่องจากมีขยะอยู่ในร่างกาย

เรื่องราวของลูกพะยูนขณะนั้นมีผลทำให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสนใจกับประเด็นการอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเล และตระหนักถึงปัญหาขยะทะเลที่เป็นสาเหตุการตายของพะยูนมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงมาเรียมและยามีล จึงกำหนดให้วันที่ 17 ส.ค.ของทุกปี เป็น “วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ”

หน่วยงานในสังกัดกรม ทช. จะสานต่อการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 2 (2566-2568) ตลอดจนเร่งบูรณาการร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ผู้ประกอบการ และประชาชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูสัตว์ทะเลหายากทุกชนิด โดยเฉพาะพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ต่อไป

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้จัดกิจกรรมงานวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 “ระลึกถึงมาเรียม ยามีล ร่วมใจกันรักษ์พี่น้องและพ่อแม่พะยูนของไทย” ขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 17 ส.ค. 2566 เพื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกแก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ ให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พะยูน และแหล่งหญ้าทะเลของไทย

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่