กรม Climate Change กับภารกิจใหญ่สู้โลกร้อน

กรม Climate Change หรือกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อศึกษา ดูแล และรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพสูงสุด

7  ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 4/2565 มีพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม ได้มีมติรับทราบให้เสนอจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือ กรม Climate Change ตามที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอ

หน้าที่หลักของกรมน้องใหม่นี้ คือจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการเกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ และลดก๊าซเรือนกระจก

ประเมินความเสี่ยง และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสนอแนวทางและดำเนอนการตามพันธกรณีของอนุสัญญา พิธีสาร และความตกลงระหว่างประเทศ และระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน องค์กรในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงงานวิจัย พัฒนา และส่งเสริมเทคโนโลยีการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันมีการจัดตั้ง “กรม Climate Change” แล้วใน 26 ประเทศทั่วโลกแล้ว แบ่งเป็น

#ทวีปเอเชีย ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน เกาหลี ปากีสถาน บังคลาเทศ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจอร์แดน

#ทวีปยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน เดนมาร์ก สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ไอแลนด์ ตุรกี

#ทวีปแอฟริกา ได้แก่ เคนยา และ ไนจีเรีย “ทวีปอเมริกา” สหรัฐอเมริกา และ ไมโครนีเซีย

จากวิกฤติ Climate Change ส่งผลให้ประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงอันดับ 9 ของโลก กระทรวง ทส. จึงได้พยายามผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทย ยกระดับจากภาคสมัครใจ (Voluntary) เป็นภาคบังคับ (Mandatory) มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารคาร์บอนเครดิต กลไกการเงิน การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก โดยคาดว่าจะสามารถนำกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี ภายในต้นปี 2566

นายวราวุธ เผยว่า “สิ่งสำคัญคือความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทย ไปถึงเป้าหมายที่ได้ประกาศเอาไว้ โดยเฉพาะประชาชนคนรุ่นใหม่ ที่มีศักยภาพ แนวคิดของพวกเขาเหล่านั้น เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศ คำว่า Sustainability ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันเท่านั้น ถึงจะเกิดผลสำเร็จและเป็นไปได้”

อ้างอิง

  • Dec 8,2022, “ทำความรู้จักกรม Climate Change หน่วยงานน้องใหม่ มีหน้าที่อะไรบ้าง?” SPRING
  • Dec 9,2022, “กรม Climate Change กับภารกิจ zero carbon เร็วๆนี้” Thansettakij

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน