คนไทยไม่ได้มีปอดเหล็กแข็งแรงกว่าคนทั่วโลก 3.3-5 เท่าจี้รัฐปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก Witsanu Attavanich ตอนหนึ่งว่า ขณะที่แอปตรวจฝุ่นพิษ PM2.5 ของสากลในวันที่ 8 ก.พ. 2565 “สีแดง” บ่งชี้ว่าอันตรายมากต่อสุขภาพ แต่แอปของไทยยัง “เหลืองและส้ม” บ่งชี้ว่ายังไม่อันตรายมาก มันคืออะไร?? ปรับได้แล้วทั้งค่ามาตรฐานฝุ่นพิษ PM2.5 ของไทย และการสื่อสารความเสี่ยงต่อสุขภาพ ก่อนที่คนไทยจะเจ็บป่วยและล้มตายกันมากไปกว่านี้

มาตรฐานฝุ่นพิษ PM2.5 ปัจจุบันถูกใช้เกือบ 12 ปี แล้วยังไม่เคยปรับเลย โดยค่ามาตรฐานฝุ่นพิษ PM2.5 ของไทยเฉลี่ย 24 ชั่วโมง คือ 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปีคือ 25มคก./ลบ.ม. (เอกสารอ้างอิง 1) ขณะที่องค์การอนามัยโลกได้ปรับแนะนำค่าใหม่เรียบร้อย โดยค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลกเฉลี่ย 24 ชั่วโมง คือ 15 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปี คือ 5 มคก./ลบ.ม. (เอกสารอ้างอิง 2) คือ รัฐบาลไทยสมมติให้คนไทยปอดเหล็กแข็งแรงกว่าคนทั่วโลก 3.3-5 เท่า! แล้วเราปอดแข็งแรงกว่าคนทั่วโลกจริงมั้ย?

ผลการวัดค่าฝุ่นแอป Air4Thai วันที่ 5 ก.พ. 2565

แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้านฝุ่นละออง บอกไว้ชัดว่า มาตรการระยะสั้นช่วงปี 2563-2564 จะกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นพิษ PM2.5 ของไทยตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก (WHO IT-3) ซึ่งค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเดิม คือ 37.5 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปี คือ 15 มคก./ลบ.ม. แต่นี้ปี 2565 แล้ว ก็ยังไม่ได้ปรับเลย (เอกสารอ้างอิง 3) 

ผลการวัดค่าฝุ่นแอป IQAir วันที่ 5 ก.พ. 2565

ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่มีระดับการพัฒนาสูสีกันเขาปรับเรียบร้อย แบบมีระยะเวลาการปรับที่ชัดเจนตั้งแต่ปี 2558 ปี 2561 และล่าสุดปรับในปี 2563 จากเดิมที่แย่กว่าเรา ตอนนี้เขาล้ำหน้าประเทศไทยไปเรียบร้อย! (เอกสารอ้างอิง 4) ใช้เวลาแค่ 5 ปี แต่ไทยเราใช้เวลาตั้ง 12 ปี!! แล้วยังไม่มีความคืบหน้าและไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน 

ปัจจุบันมาเลเซียมีการกำหนดค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง คือ 35 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปี คือ 15 มคก./ลบ.ม. ค่าสารมลพิษอื่น ๆ ก็ปรับดีขึ้นกว่าไทย อาทิ ฝุ่นพิษ PM10 หรือ ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงต่อสุขภาพคนไทย อย่าเน้นเพียงแค่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืนอย่างเดียว ข้อมูลของธนาคารโลกประเมินว่า ไทยมีจำนวนปีที่สูญเสียไปเนื่องจากการเจ็บป่วยและพิการ 65,373 ปี สูงเป็นอันดับ 11 ของโลกจาก 180 ประเทศ และมีจำนวนการสูญเสียชีวิต 25,432 คน สูงเป็นอันดับ 22 ของโลกจาก 180 ประเทศ (เอกสารอ้างอิง 5) มากกว่าการเสียชีวิตจากโควิด-19 หลายเท่า (อ้างอิง: https://www.facebook.com/witsanu.attavanich/posts/10160112871947009)

ด้านกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายางานสถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 วันที่ 8 ก.พ. ค่าฝุ่นอยู่ระหว่าง 39-73 มคก./ลบ.ม. ค่ามาตรฐาน 50 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ คพ. ระบุว่าว่า ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานสูงสุดที่ริมถนนลาดพร้าว ซอยลาดพร้าว 95 เขตวังทองหลาง ค่าฝุ่นอยู่ที่ 73 มคก./ลบ.ม. นอกจากนี้ค่าฝุนยังเกินมาตรฐานใน กทม.และปริมณฑลอีกหลายพื้นที่ ประชาชนทั่วไปควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ฯลฯ 

ขณะที่ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศ และภูมิศาสตร์สารสนเทศ คพ. คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล 1 วันข้างหน้า คุณภาพอากาศปานกลาง และคาดการณ์ 7 วันข้างหน้าแนวโน้มในช่วงวันที่ 9 – 15 ก.พ. 2565 จะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเนื่องจากสภาพอากาศที่เปิด และสภาพอากาศที่นิ่งลดลง

ทั้งนี้สามารถติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ bangkokairquality.com แอปพลิเคชั่น Air4Thai และ AirBKK

Related posts

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน

อุณหภูมิทะลุ 3.1°C แผนลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 เป็นเรื่องเพ้อฝัน