ครม.อนุมัติแก้รุกป่า เขตที่ดินรัฐทับซ้อน ยันไม่ไล่เพิกถอนสิทธิ์ชาวบ้าน

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 มีมติเห็นชอบผลดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และรับรองเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐ กลุ่มจังหวัดที่ 2 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย จ.จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก นครสวรรค์ ระยอง (ยกเว้นกรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด) ลพบุรี ศรีสะเกษ และสระบุรี (จากทั้งหมด 7 กลุ่มจังหวัด กลุ่มละ 11 จังหวัด) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนของหน่วยงานรัฐประกอบด้วย 9 หน่วยงาน ได้แก่ 1) กรมป่าไม้ 2) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 3) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 4) กรมพัฒนาที่ดิน 5) กรมธนารักษ์ 6) กรมที่ดิน 7) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 8) กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ 9) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อแก้ปัญหาที่แต่ละหน่วยงานมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับและใช้มาตราส่วนในแผนที่แนบท้ายกฎหมายแตกต่างกัน จึงเกิดพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ โดยกลุ่มจังหวัดที่ 2 จำนวน 11 จังหวัด มีพื้นที่หลังปรับปรุงแนวเขตฯ รวม 18,954,338 ไร่

สำหรับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของขนาดพื้นที่ของหน่วยงานรัฐต่างๆ มีได้หลายสาเหตุ อาทิ

  1. ปรับแก้ข้อมูลพื้นที่กันออกตามกฎกระทรวงที่ให้เพิกถอนป่าออกจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ แต่ยังปรากฏว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติในแผนที่ท้ายกฎกระทรวง
  2. ในเขตปฏิรูปที่ดินพบมีสภาพป่าสมบูรณ์ ที่ต้องคืนพื้นที่ป่าให้กรมป่าไม้ จึงให้ ส.ป.ก. กันคืนพื้นที่ป่าคืนให้กรมป่าไม้
  3. กรมธนารักษ์กันพื้นที่ใน จ.นครสวรรค์ (ที่ราชพัสดุใช้ในราชการทหาร พ.ศ. 2484) คืนให้นิคมสร้างตนเองที่ได้มีการประกาศตามกฎหมายแล้วและมีผลกระทบกับสมาชิกนิคมและราษฎรในพื้นที่ที่ได้เอกสารสิทธิไปแล้ว เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนจากการดำเนินงานปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐกรณีแนวเขตที่ดินของรัฐซ้อนทับกับแนวเขตที่ดินที่มีเอกสารสิทธิหรือมีการเข้าครอบครองประโยชน์อยู่

ครม. จึงมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบฯ สำหรับใช้กับทุกกลุ่มจังหวัดเพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเดียวกัน โดย คทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสม เป็นไปตามกฎหมาย และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยมีข้อสรุป 10 ข้อ ดังนี้

  1. การดำเนินโครงการปรับปรุงแผนที่ One Map ไม่ได้เป็นการยกเลิกเพิกถอนเอกสารสิทธิ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินของประชาชน
  2. กรณีมีประชาชนได้รับผลกระทบหรือได้รับความเดือดร้อน ให้ดำเนินการตามข้อ 3-7 เพื่อแก้ไขปัญหาให้ยุติโดยเร็ว
  3. กรณีมีที่ดินของหน่วยงานของรัฐที่จัดสรรให้กับประชาชนตามกฎหมายต่าง ๆ นอกเขตพื้นที่ตามกฎหมาย หรือนอกเขตดำเนินการของหน่วยงานนั้น เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. นิคมสหกรณ์ นิคมสร้างตนเอง เป็นต้น แต่อยู่ในเขตที่ดินของรัฐประเภทอื่น เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลน ป่าไม้ถาวร ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณประโยชน์ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาร่วมกันเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และกรณีประชาชนที่ได้รับการจัดสรรที่ดินมีข้อโต้แย้งให้พิจารณาดำเนินการพิสูจน์สิทธิตามกฎหมายหรือตามมาตรการ แนวทางที่ คทช. กำหนด พร้อมกับหาแนวทางแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนให้เป็นไปตามกฎหมาย เหมาะสม ตามควรแก่กรณี
  4. การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลน นอกจากกรณีในข้อ 3สามารถใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติ ครม. วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561
  5. การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในเขตที่ราชพัสดุ และที่สาธารณประโยชน์ นอกจากกรณีในข้อ 3 และ 4 สามารถใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการจัดให้เช่า การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือแนวทางอื่นที่เหมาะสม
  6. กรณีเกี่ยวกับเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน ให้กำหนดแนวทางปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมที่ดินและกรมป่าไม้ว่าด้วยการตรวจพิสูจน์เพื่อออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเกี่ยวกับเขตป่าไม้ พ.ศ. 2534 ในการนำข้อมูลระวางแผนที่ของกรมที่ดินที่ได้มีการขีดเขตและลงชื่อรับรองแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าชายเลน ป่าไม้ถาวร มาประกอบการพิจารณา
  7. กรณีที่มีประชาชนมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิ หรืออ้างว่ามีสิทธิในเขตที่ดินของรัฐ เพื่อความเป็นธรรม หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิในที่ดินได้
  8. กรณีที่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินของรัฐ มีความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาไม่ตรงกัน และไม่สามารถหาข้อยุติได้ ให้เสนอเรื่องต่อคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. ที่เกี่ยวข้อง และเสนอ คทช. พิจารณา เพื่อกำหนดมาตรการ แนวทางการให้ช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน หรือเยียวยาอย่างเหมาะสม เป็นธรรม ตามกฎหมาย หรือมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนในมิติต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย
  9. ประชาสัมพันธ์ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้สนใจโดยทั่วไปทราบวัตถุประสงค์ของโครงการปรับปรุงแผนที่ One Map ซึ่งจะไม่กระทบต่อเอกสารสิทธิที่ประชาชน หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับโดยชอบตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากแต่จะมีผลดีในภาพรวม ทำให้ประเทศไทยมีแนวเขตที่ดินของรัฐที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้ง ประชาชนตรวจสอบได้สะดวก เกิดความเชื่อมั่น สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างเต็มศักยภาพ
  10. แนวทางดังกล่าว ให้นำไปปฏิบัติกับทุกกลุ่มจังหวัด เพื่อให้เป็นไปในแนวทาง และมาตรฐานเดียวกัน โดยการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐจะไม่ทำให้ ทางราชการเสียหายหรือเสียประโยชน์ รวมถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ โดยให้โอกาสที่จะพิสูจน์สิทธิเป็นพื้นฐาน และจะไม่ลิดรอนสิทธิของประชาชน

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่