ได้พักหนี้แต่ไม่มีเงินลงทุนต่อชาวนาหนีไม่พ้นวงจร (ยากจน) เดิมๆ

“การไปต่อของชาวนาหลังจากนี้ คือ หนึ่ง ทำตามยถากรรม สองไปกู้นอกระบบ ก็ไม่จบ เพราะรู้อยู่แล้วทำนามันขาดทุน รัฐบาลยิ่งกว่ารู้อีก เพราะกระทรวงเกษตรฯ เป็นคนทำต้นทุนเองอยู่ที่ 8,500 บาทต่อเกวียน แต่ชาวนาขายได้แค่ 6,000 บาท”

คอลัมน์ IGreen Talk คุยกับ ชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย สะท้อนปัญหาชาวนาที่ปักหลักเรียกร้องอยู่บริเวณริมรั้วหน้ากระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. 2565 ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งเห็นชอบในหลักการให้พักหนี้เงินต้นครึ่งหนึ่งและดอกเบี้ยทั้งหมด ทว่าข้อเรียกร้องที่เสนอให้รัฐบาลไปยังไม่เป็นที่พอใจ เพราะชาวนากลุ่มนี้ต้องการให้โอนหนี้ทั้งหมดไปอยู่กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อปิดโอกาสที่เจ้าหนี้จะใช้อำนาจในการฟ้องร้องและยึดทรัพย์สินขายทอดตลาดได้

หลังจาก ครม.มีมติพักหนี้เงินต้น 50% พร้อมดอกเบี้ยแล้ว ชรินทร์อธิบายกับ iGreen ว่า ปัญหายังไม่จบ เพราะข้อเสนอจากเครือข่ายหนี้สินชาวนาฯ คือจะต้องโอนหนี้ของสมาชิกกองทุนฯ ทั้งหมดไปอยู่กับกองทุนฯ เพราะไม่เช่นนั้นสถาบันการเงินทั้ง 4 ที่เป็นเจ้าหน้าหนี้ก็ยังมีอำนาจในการฟ้องหรือยึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้

ยิ่งกว่านั้นถ้าทรัพย์ยังอยู่กับเจ้าหนี้ ๆ ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธในกรณีเจ้าหนี้รายอื่นขอฟ้องเฉลี่ยทรัพย์ ทรัพย์สินของชาวนาไม่ปลอดภัยแน่นอน ดังนั้นมติ ครม.ที่ถูกควรจะให้กองทุนฯ ไปชำระหนี้แทนชาวนา โดยเอาโฉนดที่ดินมาไว้กับกองทุนฯ ซึ่งโครงการที่เสนอ ครม.มีประเด็นนี้ด้วยโดยไปเลือก 2 แนวทาง แต่ ครม.ไปเลือกแนวทางที่ 2 แนวทางแรกก็คือให้กองทุนฯ ชำระหนี้แทน หรือโอนหนี้ทั้งหมดย้ายมาอยู่กับกองทุนฯ แต่ความเป็นเจ้าหนี้ยังเป็นสถาบันการเงินเหล่านั้น ซึ่งทางเครือข่ายฯ จะหารือกับทาง ธ.ก.ส.ในรายละเอียดเพื่อเจรจาในการเรื่องการโอนหนี้

“เราต้องคุยกับเจ้าหนี้เอง ไม่มีใครคุยให้เราหรอก ม็อบนี้ไม่ใช่เพิ่งมาวันแรก มา 19 ปีแล้ว เราก็ช่วยตัวเองตลอดไม่เคยมีใครมาช่วยเรา เราเจรจากับ ธ.ก.ส.เอง เจรจากับเจ้าหนี้เอง และไปบอกให้กองทุนฯ ทำตามนี้ ไม่เคยมีราชการกระทรวงไหนที่จะมาทำให้เราเลย มติ ครม.ที่ออกมาก็เป็นเพียงหลักการ วิธีการเราก็ต้องทำเอง ไม่มีใครมาทำให้หรอก กองทุนฯ ก็ไม่ทำ อาจจะทำไม่ได้เพราะอาจไม่มีศักยภาพหรืออะไรก็ไม่รู้เราก็ต้องทำเองหมด แต่ข้อดีคือเมื่อเราไปตกลงกับเจ้าหนี้อย่างไร ทางกองทุนฯ ก็ทำตามเราทั้งหมด เพราะชาวนากลุ่มนี้เป็นสมาชิกของกองทุน”

ภาพใหญ่ของปัญหาชาวนา ต้องเข้าใจว่าชาวนาที่ปักหลักเรียกร้องอยู่นี้เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกของกองทุนฯ โดยมีสมาชิกที่จะได้รับสิทธิ์ตามมติ ครม.นี้มีทั้งสิ้น 3.2 แสนรายเศษ คนที่มา (ชุมนุม) คือคนที่เสียสละสูงสุด แต่สมาชิกที่นอนอยู่บ้านก็ได้เท่ากับคนที่มานอนอยู่ที่นี่ (หน้ากระทรวงการคลัง) แต่เกษตรกรทั่วประเทศมี 5.5 แสนครัวเรือนหรือประมาณ 35 ล้านคน โดยมีมูลหนี้ทั้งหมด 5 แสนล้านบาท

สมาชิกของกองทุนฯ เป็นหนี้เฉลี่ยคนละ 3 แสนบาท ซึ่งครม.ให้เวลาผ่อนชำระ 15 ปี มติ ครม.เหมือนหวี่ยงแห จริง ๆ เกินครึ่งหนึ่งไม่สามารถผ่อนได้หมด แม้ตามระเบียบกองทุนฯ ให้ผ่อนชำระได้ 20 ปี ใคร 20 ยังไม่หมดค่อยไปต่อเอา แต่การที่หนี้ไปอยู่กับกองทุนฯ เขาจะกำหนดการคืนตามอาชีพและรายได้ บางคนก็ไม่ถึง บางคนก็เกิน

“ผมเชื่อว่าน่าจะเกิน 50% ที่ส่งหนี้ไม่หมดภายใน 15 ปี เพราะหนี้ภาคกลางเฉลี่ยหนี้อยู่ที่ 5 แสนบาท และที่มาก็เป็นภาคกลาง พักหนี้และผ่อนอีกครึ่งคือ 2.5 แสน ใน 15 ปี มันไม่น่าจะหมดเพราะตกปีเกือบ 2 หมื่นบาท ถ้ารวมดอกเบี้ยก็ 2 หมื่นกว่า แต่ถ้าโอนไปอยู่กับกองทุนฯ ไม่มีดอกเบี้ย

ผมมองว่ารัฐบาลไม่จริงใจ และผมเดาว่าถังแตก ถ้าใช้วิธีที่เราเสนอไปคือโอนมากองทุนฯ รัฐบาลต้องจ่ายเต็ม คือครึ่งหนึ่งมาให้กองทุนฯ เพื่อไปชำระหนี้แทนชาวนา แล้วเราไปผ่อนกองทุนฯ แต่วันนี้รัฐบาลผลักภาระให้เกษตรกรไปผ่อนเอง

ต้นทุน 8,500 ขายได้แค่ 6,000 ทำตามยถากรรม-กู้นอกระบบ

ชรินทร์ ระบุว่า “ฤดูทำนาจะเริ่มในเดือน พ.ค.-มิ.ย. นี้ แต่ชาวนาไม่มีความพร้อมในการทำนาและสามารถปลดหนี้ได้ เพราะนอาจจะเจอกับภัยพิบัต เรื่องที่ใหญ่กว่านั้นคือชาวนาไม่มีทุน แต่ถ้าโอนหนี้ไปอยู่กับกองทุนฯ ๆ จะมีเงินกู้ให้อีกก้อนเพื่อไปเป็นทุนทำกิน ถ้าไม่ให้ทุนก็เอารายได้ที่ไหนมาใช้หนี้ แต่มติ ครม.ที่ออกมาคือ พักหนี้เฉย ๆ ที่ไม่มีทุนให้ ทุนไม่มีแล้วแล้วจะเอาที่ไหนทำกิน จะเกิดปัญหาตามมาอีก

“จริง ๆ ผมไม่อยากใช้คำว่ารัฐบาลไม่จริงใจ แต่ขอใช้คำว่าคิดไม่รอบด้าน ที่เขาพูดว่านาย-ก โง่ถูกแล้วละ เพราะถ้าพักหนี้กับ ธ.ก.ส.หรือสถาบันการเงินเจ้าหนี้เขาก็ไม่ให้กู้เพิ่มอยู่แล้ว แล้วชาวนาจะเอาทุนที่ไหนไปทำกิน หลังจากนี้ถ้าโอนหนี้ไปกองทุนฯ เจ้าหนี้กับลูกหนี้ไม่ต้องคุยกันแล้ว

“การไปต่อของชาวนาหลังจากนี้ คือ หนึ่ง ทำตามยถากรรม สองไปกู้นอกระบบ ก็ไม่จบ เพราะรู้อยู่แล้วทำนามันขาดทุน รัฐบาลยิ่งกว่ารู้อีก เพราะกระทรวงเกษตรฯ เป็นคนทำต้นทุนเองอยู่ที่ 8,500 บาทต่อเกวียน แต่ชาวนาขายได้แค่ 6,000 บาท”

ไม่เคยรู้ว่าจะขายข้าวได้เท่าไหร่? อยู่ที่ 5 เสือส่งออกเป็นคนกำหนด

ถามว่ารัฐบาลจะต้องสนับสนุนปัจจัยอะไรอีกนอกจากพักหนี้ ชรินทร์ บอกว่า “เอาตั้งแต่หลัง 2475 เป็นต้นมาหลังอาจารย์ปรีดี (พนมยงค์) หมดอำนาจ เกษตรกรไทยไม่เคยได้รับการเหลียวแลเลย เราไม่เคยรู้อนาคตว่าเราจะขายข้าวได้ราคาเท่าไหร่ เพราะคนกำหนดราคาคือ คนแค่ 5 คนคือ 5 เสือส่งออกข้าว คนกำหนดราคาไม่ใช่โรงสี เราตีโจทย์ผิดไปด่าโรงสี

“จริง ๆ พ่อค้าส่งออกเป็นคนกำหนดราคาข้าว เมื่อกำหนดมาแล้วโรงสีก็มากดต่อเพื่อเอากำไร รัฐบาลไม่เคยเข้ามาแทรกแซง มันเคยเข้ามาแทรกแซงได้ผลอยู่ 2 ปี คือสมัยยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) สมัยนั้นได้ผลจริง แต่ถามว่าเป็นแนวทางที่ถูกมั๊ยก็ยังไม่ถูก แต่ก็ดีกว่าแนวทางอื่น ปัญหาคือ หนึ่ง ไม่เคยเหลียวแลรับผิดชอบเรื่องราคา ปล่อยไปตามยถากรรม สองไม่เคยรับผิดชอบเรื่องต้นทุนการผลิต สามไม่เคยรับผิดชอบเรื่องประกันพิบัติภัย เช่น ภัยแล้ง ไม่เคยมี ทั้งสามเรื่อง ราคา ต้นทุน และภัยพิบัติ อยู่ในอำนาจของรัฐบาลที่ทำได้ อำนาจล้นฟ้าที่จะทำ

“เรื่องต้นทุนทำไมไม่กำหนดให้ปุ๋ยยาควบคุมราคาเหมือนสบู่ผงซักฟอกละ ทั้งที่เกษตรกรใช้ปัจจัยเหล่านี้ 8-9 แสนล้าน  แล้วพวกพ่อค้าได้กำไรปีละเท่าไหร่ การประกันภัยก็ทำได้ รัฐจะทำเองหรือให้เอกชนมาทำก็ได้ แต่มันไม่ทำ ทั้งที่อยู่ในอำนาจและศักยภาพที่ทำได้ สมัยยิ่งลักษณ์ซื้อข้าวเราไป 15,000 รัฐบาลไปสีเป็นข้าวสารขายเมื่อไหรก็ได้ 18,000 ขาดทุนตรงไหน ไม่ขาดทุน

“เรื่องเหล่านี้ใครก็รู้ ชาวนาไทยก็รู้ ว่าข้าว 1 เกวียนพันกิโลเมื่อสีเป็นข้าวสารจะได้ 600 กก. ราคาเฉลี่ยข้าวสารอยู่ที่ 30 บาท ไม่นับหอมมะลิ เอาราคาข้าวอ่อนข้าวแข็งเฉลี่ยอยู่ที่ 30 บาท เอา 600 กก.คูณ 30 ก็ 18,000 ซื้อจากเราไป 15,000 กำไรแหง ๆ อยู่แล้ว ได้เน็ต ๆ เพราะรัฐบาลจ้างเขาสีเกวียนละ 3,000 บาท แต่นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ เป็นนโยบายแบบโรแมนติก แก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย เอาไว้พูดเอาไว้โม้ เอาไว้แถลงต่อสภาเท่านั้น แต่ทำจริงไม่ได้”

ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้มีบทบาทช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ชาวนาเลยหรือ…ชรินทร์ บอกว่า “นโยบายกระทรวงเกษตรฯ เพ้อฝัน ผมใช้คำว่าโรแมนติก เจ้ากระทรวง ผู้บริหารก็ฝันไป แต่ไม่ถึงชาวนาหรือทำไม่ได้ แค่ขอ GAP (Good Agricultural Practice) คนเหล่านี้ (ชี้ไปที่ม็อบชาวนาที่กำลังนอนอยู่บนพื้นริมถนน) ขอได้มั๊ย ขอไม่ได้หรอก คนที่ขอคือพ่อค้าคนกลาง ไปตลาด อ.ต.ก.ซิ GAP เต็มไปหมด แล้วใครได้ก็พ่อค้าคนกลาง

“ในม็อบที่มาเรามีล้งขนุนคนหนึ่ง เกษตรกรที่ปลูกขนุนไม่มี GAP หรอก แต่ล้งเขาไปขอเอง บังเอิญว่าสมาชิกเราเป็นเกษตรกรด้วยเพราะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าล้งอื่น รับซื้อในราคาเสมือนว่าเกษตรกรมี GAP ถ้าล้งนายทุนมันจะให้หรือ ไม่ให้หรอก ซึ่งล้งเจ้านี้เขาขอ GAP มาให้เกษตรกรทุกคน แต่ไม่เป็นทางการ แต่มีการกำกับดูแลเรื่องคุณภาพกัน แต่ถ้าขอให้เกษตรกรไปขอเองไม่มีทางได้

ถึงคราวชาวนารุ่นสุดท้าย! ไม่มีลูกหลานอยากทำนาแล้ว

ถ้าเป็นแบบนี้ชาวนาไม่ตายหมดหรือ…”นี่รุ่นสุดท้ายแล้ว คุณไปสัมภาษณ์ได้เลยว่ามีลูกหลานใครที่จะทำนาต่อ ในเมื่อลูกหลานเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันตั้งแต่เกิดว่าแม่ทำงานหนัก แต่ไม่เคยหมดหนี้ หนี้ไม่หมดยังไม่ว่า ถูกฟ้องอีกต่างหาก เย็น ๆ ค่ำ ๆ จะมีลูกหลานเข้ามา (ในม็อบ) เอาข้าวมาส่งเอาอะไรมาให้ มานอนค้างเป็นเพื่อนเยอะแยะ เพราะมาทำงานในเมืองไม่ทำเกษตรแล้ว

“สมมติว่าชาวนาสามารถขายข้าวได้ในราคาที่ 18,000 โอโห! ภาคเกษตรไทยจะร่ำรวยมหาศาล เขาลงทุน 8,500 บาทตามข้อมูลกระทรวงเกษตรฯ โดยที่รัฐบาลปล่อยไม่ต้องมาดูแลเรื่องยาเรื่องปุ๋ยก็ได้ ชาวนาจะเหลือประมาณ 9,500 บาท ผมทำนา 50 ไร่ได้ข้าว 50 เกวียน ผมก็จะมีกำไรเกือบ 5 แสน นี่คิดครอปเดียวพอ เพราะชาวนาส่วนใหญ่ทำนารอบเดียวไม่เหมือนภาคกลางและพื้นที่ในเขตชลประทานภาคอื่นที่มีไม่มาก แค่ครอปเดียวเผลอ ๆ จะรวยกว่าชนชั้นกลางในเมืองอีก ซึ่งทำได้ถ้ารัฐบาลอยากทำหรือจริงใจ แต่ที่ทำไม่ได้เพราะมี 5 ส่งออกค้ำคออยู่

“จะให้ชาวนาไปทำนาแบบ 1 ไร่ 1 แสนก็ทำไม่ได้ เพราะต้นทุนสูง ชาวนาโดยเฉลี่ยทุกวันนี้มีแรงงานแค่ 3 คน ซึ่งต้องใช้ทั้งปุ๋ย ทั้งคน ทั้งเทคโนโลยี” ขณะที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงของอาชีพทำนา ซึ่งชรินทร์บอกว่า มีผลแต่ไม่มากอย่างที่คิด ยังไม่ทำให้ชาวนาได้รับผลกระทบเยอะจนถึงขั้นให้ขาดทุนหรือล้มละลาย อากาศร้อนเกินไปก็ทำให้ข้าวออกรวงช้า หรือออกไม่สุด หรืออาจทำให้สัตว์น้ำกินอาหารน้อยลง แต่ไม่ถึงขั้นสุดโต่ง แต่ถ้ามาในรูปภัยพิบัติอันนั้นเจ๊งเลย เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ซึ่งก็ควรจะได้รับการคุ้มครองด้วย

หันไปปลูกข้าวออร์แกนิกไม่ดีกว่าหรือเพราะได้ราคาดี….”ผมพูดตรง ๆ นะ ข้าวออร์แกนิกตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะภาคกลางเพราะสเปกเยอะมาก แค่ใช้น้ำคลองเดียวกับคนที่ใช้สารเคมีก็ไม่ได้แล้ว แค่รอบที่นาคุณใช้สารเคมีอยู่ก็ไม่ได้ ถ้าจะใช้ก็ต้องมีบัฟเฟอร์โซนตามธรรมชาติ เช่น การปลูกต้นไม้ แล้วใครมันจะไปทำ 

“ประการต่อมาตลาดออร์แกนิกเป็นตลาดแคบมาก มีแต่คนชั้นกลางระดับสูงขึ้นไปที่มีกำลังซื้อข้าวสารกิโลละ 150-200 บาท ผมเห็นด้วยกับการลด เลิก การใช้สารเคมี แต่ต้องมีลำดับขั้นไม่ใช่หักดิบเหมือนเลิกยาเสพติด และจะต้องพร้อมใจทำกันทั้งประเทศ ไปทำลักษณะไข่แดงอยู่ไม่ได้ พื้นที่อิสานส่วนใหญ่ทำได้ เช่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ  เรื่องใหญ่ของออร์แกนิกต้องจัดตั้งคนให้ได้

“สมมติคุณจะทำที่อำเภอกันทรลักษณ์จะต้องจัดตั้งเกษตรกรทำออร์แกนิกร่วมกัน ถ้าไปส่งเสริมอยู่เจ้าเดียวไม่มีทางเป็นออร์แกนิก ข้างบ้านต้องเป็นพวกเดียวกัน จึงต้องอาศัยการจัดตั้งการรวมกัน ถ้าจัดตั้งได้ก็ค่อยลดสารเคมี ปลอดสารไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าไปดูพันธุ์ข้าวที่ใช้อยู่ไม่เป็นออร์แกนิกเพราะเป็นข้าวพันธุ์ผสมทั้งนั้น

“การทำข้าวออร์แกนิกจะต้องเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งข้าว 99% ที่บริโภคกันอยู่ไม่ปลอดสาร เพราะพันธุ์ข้าวที่ผลิตโดยกรมการข้าวผลิตมาเป็นพันธุ์ผสมเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ๆ ซึ่งต้องใส่ปุ๋ยเคมี พันธุ์ข้าวที่ผลิตโดยกระทรวงเกษตรฯ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ไม่ได้กิน มันมีข้าวอายุ 70 วัน ถ้าใช้ปุ๋ยขี้วัวขี้ควายกว่าต้นข้าวจะดูดข้าไปกว่าจะแปลงเป็นอาหารมันใช้เวลา แต่ปุ๋ยเคมีสาดไปวันรุ่งขึ้นเห็นชัดว่าเขียวขึ้น มันผลิตมาเพื่อการนั้น นอกจากนั้นยังมีเรื่องแมลงอีกต้องใช้ยาคู่กันอีก”

รัฐบาลนี้ถังแตก..รอรัฐบาลหน้า ขอทุนหมุนเวียนเพิ่ม 3 หมื่นล้าน

ถ้าอย่างนั้นชาวนาจะอยู่รอดกันอีกสักกี่ปี….”ผมถึงบอกว่าต้องผลักดันหนี้ไปอยู่กับกองทุนฯ แล้วมีเงินทุนให้ แต่เรายังไม่ไปถึงตรงนั้นเพราะรัฐบาลมันถังแตก รอเปลี่ยนรัฐบาลก่อนดีกว่า ซึ่งช่วง 1-2 ปีนี้เรายังชะลอไว้ไว้ก่อนได้ ตอนนี้อย่างน้อยฟ้องไม่ได้แล้ว ยึดไม่ได้ ขายไม่ได้แล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ถือว่าเราหมดไปเปราะหนึ่ง

“นี่คือการผลักดันโอนหนี้ไปอยู่กับกองทุน เพื่อจะได้กู้กองทุนฯ ไปลงทุนเพราะกองทุนมีกระแสเงินสดอยู่ร่วมหมื่นล้าน มีวิธีนี้เท่านั้นที่จะทำให้เราฟื้นได้ และต่อไปหาทางให้เกษตรกรขายข้าวสารแทนข้าวเปลือก ถ้ากองทุนฯ ไม่มีก็ต้องขอรัฐบาล 1,000-2,000 ล้านบาท เพื่อมาหมุนในกองทุน แต่กระแสเงินสดที่มีไม่น่าจะพอ เพราะควรจะต้องใช้เงินหมุนเวียนสัก 3 หมื่นล้าน

“ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะยังมีเงินค่าธรรมเนียมพิเศษส่งออกข้าวที่มีอยู่ 3 แสนล้าน แต่รัฐบาลไม่เคยเอามาช่วยเหลือเกษตรกรตามเป้าหมายของกองทุนนี้เลย มันถูกเอาไปใช้อย่างอื่นหมด อย่างสนามบินสุวรรณภูมิสมัยทักษิณ (ชินวัตร) ก็เอาเงินนี้ไปใช้แสนล้าน ก่อนหน้านั้นสมัย พล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์) เอาเงินไปทำอีสเทิร์นซีบอร์ด 3 แสนล้านเพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในภาคตะวันออก ขนาดใช้ไปขนาดนี้เงินเหลือประมาณ 3 แสนล้าน ซึ่งควรเอามาช่วยชาวนา  แต่ตอนนี้ยังไม่ขอเรียกร้องประเด็นนี้กับรัฐบาลนี้ 

ดูเหมือนอนาคตชาวนามืดมน…”จริง ๆ ด่าคนอื่นอย่างเดียวไม่ถูก ต้องด่าตัวเองด้วย เช่น รวมกันไม่ได้ คุณคิดดูว่ารวมกันหลักพันยังได้ขนาดนี้ ถ้าชาวนาทั้งหมดรวมกันได้ก็จะได้ทุกอย่าง แต่ก็โทษชาวนาไม่ได้ เพราะเขาถูกฝึกถูกสอนมาให้คิดแบบนี้คือเดี๋ยวให้รัฐบาลทำให้ ที่ผ่านมาทำให้ชาวนาไม่เชื่อว่ารวมกันแล้วจะได้อะไร และการรวมตัวกันของชาวนาตอนนี้เหลือกลุ่มนี้กลุ่มเดียว ซึ่งคนเหล่านี้เห็นอานิสงส์ของการมารวมกัน

#สำหรับมติ ครม. เมื่อวันที่ 2 มี.ค. นำเสนอผ่านเว็บไซต์ https://www.thaigov.go.th/ ระบุว่า ครม.ได้เห็นชอบหลักการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง คือธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เพื่อดำเนินการชำระหนี้แทนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 50,621 ราย ยอดหนี้เงินต้นจำนวน 9,282.92 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (นับจากวันที่ ครม. อนุมัติ)

แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ปีที่ 1 จำนวน 10,000

ปีที่ 2 จำนวน 22,000 ราย

ปีที่ 3 จำนวน 18,621 ราย

ดำเนินการตามมาตรการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันเจ้าหนี้ โดยพักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง (50%) และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน จากนั้นให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้ “เงินต้นครึ่งหนึ่ง (50%)” ตามระยะเวลาที่ตกลง แต่ไม่เกิน 15 ปี

ทั้งนี้ เมื่อเกษตรกรชำระหนี้คืนเสร็จสิ้นแล้ว เงินต้น (50%) และดอกเบี้ยที่พักไว้ จะได้รับการยกให้เกษตรกรทั้งหมด โดยสถาบันเจ้าหนี้จะได้รับการชดเชยเงินต้นจากรัฐบาล ส่วนการชดเชยดอกเบี้ยให้เป็นไปตามมติ ครม. ซึ่งเงื่อนไขสำคัญนั้น เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้อง “ไม่ก่อหนี้เพิ่ม” กับสถาบันการเงินอื่นใดอีก

ชรินทร์ ยืนยันว่า ตามมติ ครม.ไม่ได้ช่วยพักหนี้แค่ 5 หมื่นกว่าคน แต่จะช่วยทั้ง 3.2 แสนคน เพียงแต่ขณะนี้มีชาวนาที่เป็นหนี้และได้รับการตรวจสอบแล้วจำนวน 50,621 คน 

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย