หลายพื้นที่ของประเทศไทยที่ประสบกับสภาพอากาศหนาวเย็นต่อเนื่อง มีโอกาสเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เพราะเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ หรือภาวะ Hypothermia ทำให้หัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน และอวัยวะอื่นๆ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น หรือเกิดภาวะระบบหายใจล้มเหลว และอาจเสียชีวิตได้
สภาพอากาศที่หนาวเย็นจึงเป็นปัจจัยเอื้อให้เชื้อไวรัสมีอายุยืนยาวขึ้น ยิ่งอากาศเย็นเชื้อโรคก็ยิ่งอยู่ได้นาน จึงปรากฎข้อเท็จจริงที่ว่าหน้าหนาวคนมีโอกาสเจ็บป่วยง่ายขึ้นนั่นเอง
นอกจากสภาพอากาศจะเป็นปัจจัยให้เกิดการเจ็บป่วยแล้ว สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันซึ่งภาครัฐได้มีการประกาศขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วประเทศออกไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ยังทำให้เกิดมลพิษจากขยะในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากประชาชนทำงานอยู่กับบ้าน หรือ Work from Home กันจำนวนมาก
นั่นเพราะการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ช่วยลดการสัมผัส การไม่นั่งรับประทานอาหารในร้าน เป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุดทางหนึ่ง แต่กลับกลายเป็นว่าทั้งการทำอาหารรับประทานเอง การสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน หรือแม้แต่กระทั่งการสั่งสินค้าออนไลน์ กลายเป็นการสร้างขยะพลาสติกโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกที่มาในรูปหีบห่อบรรจุภัณฑ์ พลาสติกกันกระแทก ซองเครื่องปรุง ถุงและภาชนะบรรจุอาหาร ฯลฯ
จากการเก็บข้อมูลปริมาณขยะพลาสติกในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบแรก เมื่อเดือนเมษายน 2563 พบว่ามีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 62% จากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 2,120 ตันต่อวัน ในปี 2563 เพิ่มเป็น 1,320 ตันต่อวัน ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็นขยะพลาสติกรีไซเคิลได้ 660 ตันต่อวัน หรือ 19% และขยะพลาสติกปนเปื้อนมากถึง 2,780 ตันต่อวัน หรือ 81%
ในช่วงวิกฤตโควิด-19 รอบที่แล้วมีการคาดการณ์ว่าปริมาณขยะพลาสติกจะสูงถึง 280 ล้านชิ้น ดังนั้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองที่กำลังเกิดขึ้น จึงมีแนวโน้มว่าปริมาณขยะพลาสติกจะเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเป็นเรื่องยากที่จะรณรงค์ให้ประชาชนลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastics) แต่องค์กรที่ทำงานด้านสังคมต่างๆ สามารถเปลี่ยนวิกฤตมาเป็นโอกาส ด้วยการนำนวัตกรรมมาจัดการขยะให้เกิดความยั่งยืน โดยลดการใช้ การใช้ซ้ำ การรีไซเคิล และการอัพไซเคิล หรือการใช้วัสดุจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ถูกใช้งานแล้วมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่
ในบ้านเรามีองค์กรที่ทำงานด้านสังคมจำนวนมาก และมีนวัตกรรมการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย อย่างเช่น บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำโครงการ “ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว” เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 21 โดยในปีนี้ได้มอบผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลกให้ประชาชนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 15 จังหวัด 194 อำเภอ พร้อมมอบโอกาสด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านกีฬา โดยมุ่งหวังให้เกิดพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน ภายใต้แนวคิด “BEYOND THE GREEN BLANKET… A SUSTAINABLE COMMUNITY OF GIVING มากกว่าความอบอุ่น คือสังคมแห่งการให้ที่ยั่งยืน”
ผ้าห่มของไทยเบฟในปีนี้แตกต่างจากทุกๆ ปีที่ผ่านมา เพราะเป็นการผลิต “ผ้าห่มผืนเขียว” จากขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ทำมาจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ Recycled PET (rPET) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต แต่มีคุณภาพนุ่มและให้ความอบอุ่นเหมือนเช่นเคย
ผ้าห่มต้านภัยหนาว จำนวน 2 แสนผืนที่แจกในปีนี้ผลิตจากเส้นใยที่มาจากขวดพลาสติก จำนวน 7,600,000 ขวด โดยผ้าห่ม 1 ผืน ต้องใช้ขวดพลาสติกทั้งหมด 38 ขวด ซึ่งเส้นใยจากขวด PET สามารถช่วยลดการใช้พลังงานลงถึง 60% ที่สำคัญยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 32% อีกทั้งเส้นด้ายจากขวด PET สามารถถักทอเป็นสิ่งทอที่รีไซเคิลได้ 100%
ความอบอุ่นที่ได้จากผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก ยังได้สร้างความยั่งยืนให้กับโลก โดยเฉพาะการลดปริมาณการใช้ขวดพลาสติกด้วยการนำขวดรีไซเคิลมาสร้างประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว อีกทั้งยังช่วยลดมลพิษจากขวดพลาสติก เป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน รวมทั้งเป็นแก้ปัญหาโลกร้อนอีกทางหนึ่งด้วย
อ้างอิง :
- “ไขรหัสทำไมยิ่งหนาว “โควิด-19” ยิ่งแผลงฤทธิ์”. Thairath Online
- “โควิด-19 ดัน “ฟู้ด เดลิเวอรี่” โต “ขยะพลาสติก” ทะลัก ก่อมลพิษไม่รู้ตัว”. Thairath Online
- “ขยะพลาสติกพุ่งกว่า 60 % ในช่วงโควิด -19”. Thailand Environment Institute