ถ้าบริหารจัดการน้ำเหมือนปี 54 วิกฤตอุทกภัยอาจเลวร้ายยิ่งกว่า

ไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยตั้งแต่ปี 2543 จนถึง 2562 ไทยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติถึง 146 ครั้ง กระทบ GDP ถึงร้อยละ 0.82 โดยเฉพาะมหาอุทกภัยในปี 2554 เป็นอุทกภัยรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยธนาคารโลกประเมินว่า มหาอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดนี้มีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท

ฉะนั้น หากไม่มีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ในอนาคตไทยจะเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ หรือปรากฏการณ์สภาพอากาศรุนแรง อย่างเช่น อุทกภัย ภัยแล้ง หรือวาตภัย ที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ยาก ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ถือเป็นปีที่ประเทศไทยเจออุทกภัยรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ มีพื้นที่ประสบภัยพิบัติรวม 65 จังหวัด โดยธนาคารโลกประเมินว่า มหาอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดนี้มีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท

ปัจจัยหลักน้ำท่วมใหญ่ปี 54

สาเหตุหลักของเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 นั้นมาจาก 3 ปัจจัยหลักรวมกัน 1) ปัจจัยทางธรรมชาติ ฝนมาเร็วกว่าปกติและปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม- ตุลาคม 2554 สูงกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 35 เนื่องมาจากปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงครึ่งแรกของปี 2554

ขณะเดียวกันปีเดียวกันนี้ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากพายุทั้งหมด 5 ลูก ในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้แก่ พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก เริ่มจากพายุไหหม่าที่พัดถล่มภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนมิถุนายน น้ำยังระบายไม่ทันหมด พายุนกเตนก็ถล่มซ้ำพื้นที่เดิมในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม เดือนกันยายนภาคตะวันออกเฉียงเหนือถูกพายุเนสาดเล่นงานต่อ ปิดท้ายด้วยพายุนาลแกที่ทำให้มีฝนมากในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกช่วงเดือนตุลาคม

ประกอบกับน้ำในเขื่อน และปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล (ตาก) และเขื่อนสิริกิติ์ (อุตรดิตถ์) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การระบายน้ำทำไม่ได้เพราะพื้นที่ท้ายเขื่อนมีน้ำท่วม ประจวบเหมาะกับ

น้ำทะเลหนุนในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณอ่าวไทยทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ช้า

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554

2) ปัจจัยทางกายภาพ พื้นที่ป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติลดลง โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการจัดการน้ำไม่สามารถรับมือกับปริมาณฝนที่มีปริมาณมาก ระบบโครงสร้างป้องกันน้ำท่วมมีประสิทธิภาพลดลงจากการทรุดตัวของพื้นที่ ขาดการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนไป ระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานครมีปัญหาศักยภาพการป้อนน้ำเข้าสู่ระบบสูบและอุโมงค์ระบายน้ำไม่สมดุลกับศักยภาพของระบบสูบและอุโมงค์ สะพานหลายแห่งที่มีตอม่อขนาดใหญ่ขัดขวางทางน้ำ สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำขัดขวางการระบายน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น คลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว

3) ปัจจัยด้านการบริหารจัดการน้ำ พื้นที่หน่วงน้ำในภาคเหนือตอนล่าง เช่น บึงบอระเพ็ด (นครสวรรค์) บึงสีไฟ (พิจิตร) ขาดการดูแลและถูกรุกล้ำ ทำให้ความจุน้ำลดลง การผันน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปอย่างไม่เต็มศักยภาพ น้ำที่ระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (ลพบุรี) และไหลมายังเขื่อนพระรามหก (พระนครศรีอยุธยา) ไม่ถูกผันเข้าสู่คลองระพีพัฒน์อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้น้ำส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่อำเภอพระนครศรีอยุธยา ขณะที่คลองระพีพัฒน์ไม่สามารถผันน้ำเข้าทุ่งตะวันออกได้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการบริหารการระบายน้ำผ่านพื้นที่และระบบบริหารจัดการน้ำที่มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ รวมทั้งประชาชนและองค์กรส่วนท้องถิ่นสร้างพนังและคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันพื้นที่ของตัวเอง ทำให้การระบายในภาพรวมไม่สามารถทำได้

จากปัจจัยดังกล่าวรวมกันข้างต้นจึงทำให้มวลน้ำจากทางทิศเหนือไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาในปี 2554 มากถึง 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกไม่ได้ ผนวกกับปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนในจำนวนมาก ทำให้มวลน้ำทะลักเข้าท่วมทุกพื้นที่ด้านล่าง ไม่เว้นนิคมอุตสาหกรรมนวนคร สวนอุตสาหกรรมบางกระดี และไหลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครทางทิศเหนือบริเวณอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี (1)

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จึงถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ยิ่งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มีแนวโน้มรุนแรงและมีความถี่มากขึ้นทุกปี ผนวกกับสภาพอากาศสุดขั้วที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบจึงเป็นประเด็นสำคัญมาก เพราะหากไม่มีการเตรียมการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ภัยพิบัติจากน้ำอาจจะรุนแรง และวิกฤตมากกว่าปี 2554 ก็เป็นไปได้

สทนช.เจ้าภาพหลักบริหารจัดการน้ำ

อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ผ่านพ้นไป ในปี 2557 รัฐบาลขณะนั้นได้มีจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำปี 2558-2569 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ซึ่งต่อมาในปี 2560 รัฐบาลได้มีคำสั่งแต่งตั้ง “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” (สทนช.) มาทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เสนอแนะนโยบายจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ และแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในภาวะปรกติและภาวะวิกฤต ภายใต้การบูรณาการของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดย สทนช. จะเป็นหน่วยงานหลักในการกลั่นกรองโครงการบริหารจัดการน้ำที่หน่วยงานต่าง ๆ นำเสนอให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 108,229 ล้านบาท จำนวน 59,778 โครงการ รวมไปถึงงบประมาณที่เหลืออีก 55,985 ล้านบาท จำนวน 4,227 โครงการ

แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำตามที่ ครม. อนุมัติ แบ่งออกเป็น 6 ด้าน คือ 1) การขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม หรือน้ำเพื่อการผลิต วงเงิน 70,599 ล้านบาท 2) การขาดแคลนน้ำด้านการบริโภค วงเงิน 12,755 ล้านบาท 3) แผนฟื้นฟูป่าต้นน้ำและพังทลายของหน้าดิน วงเงิน 667 ล้านบาท 4) การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย วงเงิน 16,870 ล้านบาท 5) จัดการคุณภาพน้ำ วงเงิน 1,718 ล้านบาท และการบริหารจัดการ วงเงิน 5,610 ล้านบาท (2) (3)

โลกร้อนเงื่อนไขน้ำท่วม-น้ำแล้ง

ผศ. ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (4) เปิดเผยกับคณะทำงานโครงการผลิตสื่อเพื่อการปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ว่า การบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมามีปัญหาเกิดจากการขาดความรู้และความเข้าใจในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผูกพันกับมาตรการลดผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม-น้ำแล้ง ซึ่งปรากฏการณ์โลกร้อนทำให้การคาดการณ์สภาวะอากาศ ปริมาณน้ำฝนทำได้ยากมากยิ่งขึ้น

เมื่อฝ่ายนโยบายขาดความรู้และความเข้าใจจะทำให้การวางแผนการจัดการน้ำขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายการเมืองมีบทบาทสำคัญในการให้ความเห็นชอบโครงการบริหารจัดการน้ำต่าง ๆ หรือความพยายามที่จะสอดแทรกโครงการที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เช่น โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ หรือโครงการเขื่อนแม่วงก์ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการลุ่มน้ำที่มีตัวแทนหลายภาคส่วนเข้ามาพิจารณา รวมถึงภาคประชาสังคม

“การไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติน้ำ และการทำหน้าที่ของ สทนช. ที่เป็นเหมือน regulator ในการกำกับดูแลการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเอากรอบความคิดเดิม ๆ ที่ไม่เหมาะสมกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้แผนการบริหารจัดการน้ำขาดประสิทธิภาพ และไม่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ภาคการเมืองควรปรับเปลี่ยนทัศนคติ และวางแนวคิดที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนที่แท้จริง”

แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำปี 2558-2569 มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำเพื่อการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค โดยมีเป้าหมายพัฒนาประปาหมู่บ้าน 7,490 หมู่บ้าน ปรับปรุงประปาหมู่บ้าน 9,093 หมู่บ้าน ชุมชนเมืองมีระบบประปาเพิ่มขึ้น 255 เมือง และขยายเขตประปา 688 แห่ง รวมถึงการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำได้ไม่น้อยกว่า 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทานไม่น้อยกว่า 8.7 ล้านไร่  จัดหาแหล่งน้ำให้พื้นที่เกษตรน้ำฝน 2,700 ล้านลูกบาศก์เมตร ขุดสระน้ำในไร่นา 270,000 บ่อ และพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 1.04 ล้านไร่

สำหรับการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยนั้นตามแผนยุทธศาสตร์ฯ มีเป้าประสงค์เพื่อลดความเสียหายจากอุทกภัยของชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ บรรเทาความเสียหายและสนับสนุนการปรับตัวในพื้นที่เกษตร ลดความเสียหายจากดินโคลนถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน โดยมีเป้าหมายปรับปรุงเพิ่มอัตราการไหลมากกว่าร้อยละ 10 ในลำน้ำสายหลัก 870 กิโลเมตร ลดความเสียหายจากน้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำวิกฤต 10 ลุ่มน้ำ และพัฒนาพื้นที่รับน้ำนองในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ผศ. ดร.สิตางศุ์ ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) ด้วยอีกตำแหน่ง มองว่า ภาคการเกษตรเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการกำหนดทิศทางและแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่ต้องปรับตัวเพื่อให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในปริมาณทรัพยากรที่จำกัด โดยกระทรวงเกษตรฯ จะต้องเร่งหามาตรการเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกพืช โดยเน้นให้ชาวนาหันมาปลูกพืชทดแทน เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด แทนการปลูกข้าว เนื่องจากมีข้อมูลชัดเจนว่า ในปัจจุบันผลตอบแทนในการปลูกข้าวต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับพืชที่เป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากมีความต้องการสูง และผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยจะเริ่มโครงการนำร่อง จำนวน 4,000 ไร่ ในพื้นที่ภาคกลาง นอกจากนี้ยังเป็นการส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะนำพืชล้มลุก เช่น ข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่สูงมาปลูกในพื้นที่ราบ เพื่อควบคุมการเผาในพื้นที่สูง ป้องกันปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด (อยู่ในขั้นตอนสภาฯ) ที่ต้องการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังมีแผนที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวโดยการใช้น้ำลดลง หรือวิธีการปลูกแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำได้ถึงร้อยละ 30 จากปริมาณ 1,500 ลิตร/ไร่ ซึ่งนอกจากการเป็นการประหยัดน้ำแล้ว ยังสอดคล้องกับแผนการจัดการก๊าซมีเทนในภาคการเกษตรที่มีปริมาณสูงโดยเฉพาะการทำนา

“ภาคการเกษตรต้องปรับตัวในการใช้ทรัพยากร โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีโอกาสสูงที่จะเผชิญปัญหาด้านความมั่นคงด้านแหล่งน้ำ แผนการบริหารจัดการน้ำต้องส่งเสริมชุมชนให้มีการปรับตัว เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด”

แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำปี 68

ล่าสุดคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณปี 2568 ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี จำนวน 57,393 รายการ จาก 24 หน่วยงาน 8 กระทรวง 76 จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2,102 แห่ง กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่ง สทนช. ในฐานะเลขานุการ กนช.ได้ตรวจสอบกลั่นกรองจากจำนวนแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอผ่านระบบ Thai Water Plan โดยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดจะสามารถเพิ่มความจุในการกักเก็บน้ำได้ 1,352 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 6.8 ล้านไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 4.9 ล้านครัวเรือน และพื้นที่ได้รับการป้องกัน 5.7 ล้านไร่ พร้อมมอบหมายให้ สทนช. เสนอต่อคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการฯ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ที่ประชุม กนช.ยังได้เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ เพื่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1. การผันน้ำลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน-เจ้าพระยา 2. การผันน้ำลุ่มน้ำป่าสัก–เจ้าพระยา และ 3. การผันน้ำลุ่มน้ำบางปะกง–ชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยกำหนดเงื่อนไขการดำเนินงานไว้ว่า จะต้องมีปริมาณน้ำเพียงพอกับความต้องการใช้น้ำภายในลุ่มน้ำก่อน และปริมาณน้ำที่ผันไปนั้นจะต้องเป็นปริมาณส่วนที่เหลือหรือส่วนเกินความต้องการภายในลุ่มน้ำ ทั้งนี้ ในการผันน้ำให้พิจารณาถึงความจำเป็นพื้นฐานในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และประโยชน์ที่จะพึงเกิดต่อส่วนรวมเป็นลำดับแรก

ผศ. ดร.สิตางศุ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามในการวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเสียหายให้ได้มากที่สุด แต่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อช่วงปลายปี 2566 ถือเป็นตัวสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากสภาวะโลกร้อน และการจัดตั้งระบบเตือนภัยยังไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบเตือนภัย เนื่องจากระบบดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้ง ลดความสูญเสียทรัพย์สินของประชาชนได้เป็นอย่างดี

นักวิชาการด้านน้ำจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุอีกว่า การแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำท่วมภาคใต้ในครั้งล่าสุดนี้ ได้มีการจัดตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ขึ้น เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ โดยติดตามสภาพปัญหาและสถานการณ์น้ำ สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด พร้อมกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งมีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ทวีความรุนแรง เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และสถานการณ์คลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยให้มีการปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำทุกขนาด ทั้งน้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและอิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล โดยการเร่ง และพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝน

รัฐให้น้ำหนักกับภาวะโลกร้อนน้อยไป?

อย่างไรก็ดี หากกล่าวในภาพรวมจากมุมมองของอาจารย์สิตางศุ์ จะพบว่า การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยยังคงมีความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากแนวคิดการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันยังขาดการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบโดยตรงจากภาวะน้ำท่วม-น้ำแล้ง การสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำซึมน้ำซับที่สำคัญตามธรรมชาติ จากการบุกรุกเพื่อตอบสนองการขยายตัวของเมือง การขาดความเข้มงวดของการใช้พื้นที่ในเขตผังเมือง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยลบที่ทำให้ภัยพิบัติรุนแรงขึ้น อีกทั้งมาตรการด้านสิ่งก่อสร้างอย่างเดียวไม่สามารถลดผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพได้ ยังไม่รวมถึงปัจจัยการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ที่รัฐบาลยังไม่มีแผนรับมืออย่างจริงจังกับเรื่องดังกล่าว ดังนั้นการปรับตัวของชุมชนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้สามารถรับมือกับวิกฤตน้ำได้ดีที่สุด

เมื่อนำข้อเสนอแนะจากนักวิชาการด้านน้ำมาประมวลกับข้อมูลรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ก็จะยิ่งตอกย้ำความเสี่ยงของประเทศไทยกับการเผชิญปัญหาอุทุกภัย โดย IPCC ระบุว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเพียง 2 องศาเซลเซียส จะทำให้น้ำท่วมมากขึ้นอีกร้อยละ 170 และประชากรทั่วโลกโดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูง อย่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยทั่วโลก 1.1 เมตร ในปี 2643 (ค.ศ. 2100) ซึ่งเมื่อปี 2563 Global Climate Risk จัดให้ไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากเป็นอันดับที่ 9 ของโลก โดยตั้งแต่ปี 2543 จนถึง 2562 ไทยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติถึง 146 ครั้ง เกิดความสูญเสียต่อหน่วย GDP ถึงร้อยละ 0.82 โดยเฉพาะมหาอุทกภัยในปี 2554 ซึ่งธนาคารโลกได้ประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท (5)

ฉะนั้นในอนาคต ไทยจึงเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ หรือปรากฏการณ์สภาพอากาศรุนแรง อย่างเช่น อุทกภัย ภัยแล้ง หรือวาตภัย ที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ยาก ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศของภาครัฐซึ่งอาจมีต้นทุนในการบริหารจัดการหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงควรมีการเตรียมการเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน เป็นระบบ และมีความยั่งยืน (5)

อ้างอิง:

(1) แกลเลอรี: มหาอุทกภัยปี 2554 ประเทศไทยจมบาดาล (2021). Retrieved Feb10, 2024, from https://www.bbc.com/thai/58992279

(2) ความเป็นมาของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ Retrieved Feb10, 2024, from http://www.onwr.go.th/?page_id=3992

(3) ประชุม ครม. นัดสุดท้ายปี’57 “ประยุทธ์”บอกประชาชนอย่ากังวลจีดีพีแต่ต้องเตรียมพร้อม – อัดฉีดเงินบำนาญ 4% -ผ่านแผนจัดการน้ำแสนล้าน (2014) https://thaipublica.org/2014/12/ncpo-cabinet-2557-18/

(4) ผศ. ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับผู้รับทุนโครงการผลิตสื่อเพื่อการปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว

(5) ธันยพร กริชติทายาวุธ, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับบทบาทและการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย (2022). Retrieved Feb10, 2024, from https://isc.mfa.go.th/en/content/การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับบทบาทภาคธุรกิจ?cate=5f86c1f7d209322b3d131d22

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย

เร่งกองทุน Loss and damage ช่วยประเทศเปราะบางสู้วิกฤตโลกเดือด