ครม. อนุมัติ ‘นกชนหิน’ เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20

ครม. อนุมัติแล้ว กำหนดให้ “นกชนหิน” เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 หลังถูกคุกคามอย่างหนัก ปัจจุบันใกล้สูญพันธุ์และเหลืออยู่ในธรรมชาติไม่เกิน 100 ตัว

รู้จักนกชนหิน

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ก.ย. เห็นชอบตามมติคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เห็นชอบให้ “นกชนหิน” (Helmeted Hornbill หรือ Rhinoplax vigil) เป็นสัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 20 ของไทย เนื่องจากนกชนิดนี้มีอัตราการขยายพันธุ์น้อย และถูกล่าโดยมนุษย์เพื่อเอาลูกนก เอาโหนกของแม่นกไปค้าขาย

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่นกชนหิน (Rhinoplex Vigil) โดยจะเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เนื่องจากนกชนหินเป็นสัตว์ป่าหายาก ใกล้สูญพันธุ์ จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด

นกชนหิน

ปัจจุบันมีนกชนหินในธรรมชาติเหลืออยู่น้อยมากประมาณไม่เกิน 100 ตัว และมีปัจจัยคุกคามสูง เนื่องจากนกชนหินมีโหนกที่ตันและสวยงามเหมือนลักษณะของงาช้าง ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดค้าสัตว์ป่า ส่งผลให้เกิดการลักลอบล่านกชนหินอย่างมาก จนกระทั่งมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้จะกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 410 แล้วก็ตาม จึงต้องยกระดับการคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าสงวน

ทั้งนี้นอกจากเป็นการยกระดับการคุ้มครองทางกฎหมายที่เข้มงวดแล้ว ยังเป็นการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ในระดับนานาชาติ ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ซึ่งมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีมาตรการในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าอย่างเหมาะสม

นกชนหิน

โดยนกชนหิน เป็นนกเงือก 1ใน 13 ชนิดของไทย มีการกระจายเฉพาะตั้งแต่จังหวัดชุมพรจนถึงจังหวัดนราธิวาส พบเป็นกลุ่มขนาดเล็กในป่าดิบชื้นระดับต่ำ โดยมีกลุ่มประชากรหลักอยู่ในอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง

เปิดใจ ‘ปรีดา เทียนส่งรัศมี’ นักอนุรักษ์นกเงือกแห่งเทือกเขาบูโด

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ได้บัญญัติให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า หากเห็นว่าสัตว์ป่าชนิดใดสมควรกำหนดเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในท้ายพระราชบัญญัติ สามารถตราเป็นพระราชกฤษฎีกาได้

ซึ่งสัตว์ป่าสงวนท้ายพระราชบัญญัตินี้ ปัจจุบันมี 4 จำพวก 19 ชนิด ดังนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ กระซู่ กวางผา กูปรีหรือโคไพร เก้งหม้อ ควายป่า พะยูนหรือหมูน้ำ แมวลายหินอ่อน แรด ละองหรือละมั่ง เลียงผา วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ สมเสร็จ และสมัน สัตว์ป่าจำพวกนก ได้แก่ นกกระเรียน นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร นกแต้วแล้วท้องดำ สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่เต่ามะเฟือง และสัตว์ป่าจำพวกปลา ได้แก่ ปลาฉลามวาฬ

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด