วันที่ 7 เม.ย. ที่จะถึงนี้จะมีการประชุมระดับผู้นำประเทศเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนระหว่างไทย ลาว และเมียนมา โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการแก้ปัญหา ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 28 ที่ผ่านมา ประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะไทยได้ใช้วิธีการประสานสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อขอความร่วมมือให้เพื่อนบ้านลดการเผา ซึ่งสรุปได้ว่าวิธีการนี้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
แนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันข้ามแดนของภูมิภาคอาเซียน เริ่มต้นขึ้นในปี 2538 โดยมีความร่วมมืออาเซียนว่าด้วยเรื่องมลภาวะข้ามแดน (1995 ASEAN Cooperation on Transboundary Pollution) และนำไปสู่แผนปฏิบัติการว่าด้วยเรื่องหมอกควันในภูมิภาค ปี 2540 (1997 Regional Haze Action Plan) และท้ายที่สุดก็เกิดข้อตกลงว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดนอาเซียน ในปี 2545 (2002 ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution)
อย่างไรก็ดี แม้จะมีข้อตกลงดังกล่าวของอาเซียนเกิดขึ้น แต่ก็พบว่าปัญหามลภาวะทางอากาศในภูมิภาคอาเซียนมิได้ถูกจัดการแก้ไขให้หมดไปเสียทีเดียว เพราะนอกจากไฟป่าในอินโดนีเซียจะยังคงเกิดขึ้นอีกในปี 2558 และได้สร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศข้างเคียง รวมถึงภาคใต้ตอนล่างของไทย
เช่นเดียวกับปัญหาฝุ่นควันบริเวณภาคเหนือตอนบนของไทย ซึ่งมีพรมแดนติดกับเมียนมาและลาวก็ไม่ได้รับการจัดการแก้ไขภายใต้ความร่วมมือของอาเซียนแต่อย่างใด (ที่มา: วารสารนิติสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 มิ.ย. 2561)
สำหรับการเตรียมการที่จะประชุมในวันที่ 7 เม.ย.นี้ไม่มีการระบุรายละเอียดและเป้าหมายว่าจะหาข้อสรุปในประเด็นใดบ้าง ทั้งที่ปีนี้จังหวัดภาคเหนือตอนบนประสบวิกฤตฝุ่น PM2.5 มาระยะหนึ่งแล้ว
ฝุ่นแม่ฮ่องสอนพุ่ง 349.5
ล่าสุดค่าฝุ่น PM2.5 หลายจังหวัดภาคเหนือยังคงวิกฤต ตรวจสอบจากแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” แบบรายชั่วโมง เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 เม.ย. 2566 พบว่า จ.เชียงใหม่ มีค่า PM2.5 อยู่ที่ 296.7 เชียงราย 334.6 แม่ฮ่องสอน 349.5 น่าน 308.6 ลำปาง 248.5 ลำพูน 228.2 ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพในระดับรุนแรง
ก่อนนี้เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2566 GISTDA เปิดข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ไทยพบจุดความร้อน 2,978 จุด โดยลาว ยังคงนำสูงสุดอยู่ที่ 8,640 จุด, เมียนมา 5,292 จุด, เวียดนาม 615 จุด, กัมพูชา 399 และมาเลเซีย 9 จุด
ขณะเดียวกัน จุดความร้อนหรือฮอตสปอตในบ้านเราพบในพื้นป่าอนุรักษ์มากที่สุดถึง 1,532 จุด ตามด้วยป่าสงวนแห่งชาติ 1,018 จุด, พื้นที่เกษตร 212 จุด, พื้นที่เขต ส.ป.ก. 107 จุด, พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 94 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 15 จุด ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ น่าน 359 จุด, เชียงใหม่ 350 จุด และแม่ฮ่องสอน 263 จุด
‘เชียงใหม่’ เมืองมลพิษสูงสุดในโลก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันที่เกิดขึ้นในจังหวัดภาคเหนือไม่ว่าจะมีแหล่งกำเนิดในประเทศหรือฝุ่นข้ามแดนก็ตาม ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ IQAir รายงานว่า พื้นที่เชียงใหม่ ติดอันดับ 1 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก ขณะที่ กรุงเทพมหานคร อยู่ในอันดับที่ 18 โดยมีดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 212 AQI และ 123 AQI ตามลำดับ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาคประชาชนในจังหวัดภาคเหนือได้รวมตัวกันในนามสภาลมหายใจเชียงใหม่และได้ยกระดับเป็นสภาลมหายใจภาคเหนือ ได้ร่วมกันถอดบทเรียนการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือแตลอดจนนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหามาทุกปี
คนเหนือนำเสนอ ‘บลูพรินท์’ ดับไฟ
เช่นล่าสุดวันที่ 8 ก.ย. 2565 เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ 9 จังหวัด ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ลำปาง ชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่ พะเยา เครือข่ายรักษ์อากาศน่าน และสภาลมหายใจตาก ร่วมแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลปรับกระบวนทัศน์ และยกระดับการแก้ปัญหามลพิษอากาศจากฝุ่นควัน PM2.5 อย่างจริงจัง
นายภาณุพงศ์ ไชยวรรณ์ ประธานสภาลมหายใจลำพูน ตัวแทนแถลงไว้ตอนหนึ่งว่า ฤดูแล้งที่ผ่านมา เกิดฝุ่นควันและไฟน้อยกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยสภาพภูมิอากาศมีฝนตกจากภาวะลานีญ่าเป็นสำคัญ ขณะที่การบริการจัดการแก้ไขปัญหา เครือข่ายฯ พบว่า มีความจำเป็น ต้องยกระดับปรับปรุงชุดมาตรการแก้ปัญหามลพิษอากาศจากฝุ่นควัน PM2.5 ตามวาระแห่งชาติด้านฝุ่นละอองที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2562 เพราะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาของภาคเหนือ
นอกจากนี้เป็นการใช้ตัวชี้วัดที่ไม่สะท้อนและไม่ครอบคลุม มุ่งเน้นที่การบังคับห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ชุดมาตรการ zero burning ซึ่งไม่ได้ผลจริงในทางปฏิบัติ
เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ จึงนำเสนอแนวทางการยกระดับการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันภาคเหนือ หรือเรียกว่า “บลูพรินท์” ประกอบด้วยหลักคิด 6 ประการ คือ
- บริหารจัดการสาเหตุตามบริบทภูมิสังคม (แทนการห้ามเผาเด็ดขาด)
- หลักความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม
- หลักสุขภาพประชาชนเป็นตัวตั้ง
- เปิดการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นแกน
- การเข้าถึงอากาศสะอาดเป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐต้องคุ้มครอง
- ประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (เอาพื้นที่ปัญหาเป็นตัวตั้งไม่ใช่เขตอำนาจปกครองหรืออำนาจหน่วยงานตามกฎหมาย)
จากข้อเสนอในนามสภาลมหายใจภาคเหนือในครั้งนี้ รวมถึงหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า มาตรการแก้ไขจากภาครัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยเฉพาะการเผาในที่โล่งและการเผาพื้นที่เกษตรบนที่สูง
ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นผู้ให้รายละเอียดการเตรียมการประชุมเรื่องฝุ่นข้ามแดนแค่ว่า เนื่องจากสถานการณ์ไฟป่าในปีนี้ส่งผลให้เกิดปัญหาหมอกควันในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือของไทย และแนวชายแดนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5
นอกจากนี้ ประกอบกับการคาดการณ์สภาพอากาศยังไม่มีแนวโน้มการเกิดฝนไปจนถึงเดือน พ.ค. 2566 จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องหารือร่วมกับลาว และเมียนมา เพื่อยกระดับแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่เกิดขึ้นร่วมกัน
ในวันเดียวกัน ทส.ยังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสระหว่างไทย ลาว และเมียนมา เพื่อกำหนดกรอบแนวทางในการยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนร่วมกัน 3 ประเทศ โดยได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษในฐานะหน่วยงานกลางประสานการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการจัดทำกรอบการเจรจา เพื่อสร้างความร่วมมือแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนของภูมิภาคต่อไป
คนตาย 4 หมื่นรัฐบาลสอบตก
ขณะที่เจ้าภาพหลัก นายวราวุธ ศิปลอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ โดยยืนยัน ทส.ไม่ได้นิ่งเฉยกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพราะมีการทำจัดทำแผนและแนวทางไว้ตั้งแต่ปลายปี 2565 เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติดำเนินการตามมาตรการ
ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ต้องยกระดับเข้มงวดมากขึ้นกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ทั้งการเผาในพื้นที่เกษตร พื้นที่ป่า ซึ่งในป่าอนุรักษ์มีการปิดอุทยานไปแล้ว 80 กว่าแห่ง และเจ้าหน้าที่เข้าดับไฟป่าอย่างเต็มพื้นที่ ทำงานหามรุ่งหามค่ำ และมีการใช้เฮลิคอปเตอร์ขนน้ำดับไฟ
การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 แบบหามรุ่งหามค่ำตามที่นายวราวุธระบุ ย้อนแย้งกับสถานการณ์วิกฤตที่ประชาชนในพื้นที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะปัญหาจากฝุ่นควันข้ามแดนที่หน่วยงานรัฐซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบหลักคือกระทรวงทรัพย์เพิ่งจะนัดประชุมระดับผู้นำจากลาวและเมียนมาเพื่อหาทางออก ทั้งที่วิกฤตฝุ่นควันในจังหวัดภาคเหนือเกิดขึ้นทุกปี และก็เป็นที่ทราบกันดีกว่าแนวทางปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ภายใต้ 3 มาตรการสำคัญของรัฐที่ผ่านมานั้นล้มเหลว
กล่าวคือ มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ล้มเหลวเพราะยังคงเกิดไฟป่าในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ป่านอนรักษ์ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, การป้องกันและลดการเกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิดก็ล้มเหลว เนื่องจากยังมีการเผา การปล่อยคาร์บอนไม่ลดลง เพราะปรับเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงยูโร 5 ก็ถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 ม.ค. 2567 และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษที่ผ่านมาก็ยิ่งตอกย้ำชัดว่าไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เกิดประสิทธิผลเป็นรูปธรรมตามแผน
แน่นอนที่สุดปัญหาไฟป่าและฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงที่เกิดใน กทม. และปริมณฑลทุกปีส่งผลกระทบต่อระบบระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากงานวิจัยของ ศ.นพ.ชัยชาญ โพธิรักษ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากฝุ่นพิษปีละราว 40,000 คน และภาคธุรกิจประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจปีละราว 1 แสนล้านบาท (ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่, ประชาชาติธุรกิจ)
โดยหน่วยภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบ และทุกรัฐบาลที่ผ่านมาสอบตกในการแก้ปัญหานี้ เนื่องจากมลพิษจากฝุ่นควันและไฟป่ากลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากประจำถิ่นไปแล้ว