สมุนไพรไทยรุ่ง ปี 66 มูลค่า 8.8 แสนล้าน ‘มะระขี้นกพันธุ์ใหม่’ ดาวเด่น

by Chetbakers

ปี 2566 มูลค่าธุรกิจสมุนไพรไทยแตะ 8.72 แสนล้าน ที่ได้รับความสนใจมากสุด ได้แก่ ขิงแปรรูป ผักอบกรอบ น้ำนมงาดำ ไข่ผำ และดาวเรืองอบแห้ง

ปัจจุบันธุรกิจสมุนไพรมีแนวโน้มสดใส และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างรายได้ในตลาดอุตสาหกรรม โดยในปี 2564 ธุรกิจสมุนไพร มีรายได้ 867,531.41 ล้านบาท กำไร 38,760.99 ล้านบาท ปี 2565 รายได้ 905,960.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38,428.69 ล้านบาท หรือ 4.43% กำไร 33,311.40 ล้านบาท ลดลง 5,449.59 ล้านบาท หรือ 14.06% และปี 2566 รายได้ 872,466.83 ล้านบาท ลดลง 33,493.27 ล้านบาท หรือ 3.70% กำไร 27,497.70 ล้านบาท ลดลง 5,813.70 ล้านบาท หรือ 17.46%

ถึงแม้ช่วงปี 2565-2566 ผลประกอบการจะลดลงเล็กน้อย แต่ในระยะยาวคาดว่าผลประกอบจะกลับมาเติบโตจากกระแสการนําสมุนไพรมารักษาโรคและเทรนด์รักสุขภาพ โดยการนําเอาสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งคาดการณ์มูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกจะสูงขึ้นต่อเนื่องตามกระแสการรักสุขภาพของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ตลาดสมุนไพรเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก

รวมทั้งกระแสความนิยมในการบริโภค/อุปโภคผลิตภัณฑ์ ‘ออร์แกนิก’ ยิ่งตอกย้ำตลาดสมุนไพรให้ขยายวงกว้างและมีกลุ่มผู้บริโภคหลายหลากมากขึ้น ซึ่งยังมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับสัตว์และสมุนไพรในการกําจัดศัตรูพืชเกิดขึ้นอีกด้วย

ธุรกิจสมุนไพรของไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเพาะปลูก กลุ่มผลิต/แปรรูป และกลุ่มขายปลีก/ขายส่ง จากข้อมูลในระบบ DBD DataWarehouse+ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ธุรกิจสมุนไพร ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 – 2566) คือ ช่วงก่อน – ระหว่าง – หลัง การระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีและมีทิศทางการประกอบธุรกิจที่เป็นบวก โดยในปี 2567 ตั้งแต่เดือน ม.ค.– ก.ค. มีการจัดตั้งบริษัท 1,452 ราย ทุน 3,128398 ล้านบาท

นอกจากนั้นมีนักธุรกิจต่างชาติได้เข้าร่วมทุนทำธุรกิจสมุนไพรกับนักธุรกิจชาวไทยมากขึ้น โดยชาวต่างชาติที่มาลงทุนมากสุด 3 อันดับแรก คือ อเมริกัน 11,809.12 ล้านบาท (30.51%) ญี่ปุ่น 5,082.04 ล้านบาท (13.13%) สิงคโปร์ 3,274.73 ล้านบาท (8.46%) และ อื่นๆ 18,541.36 ล้านบาท (47.90%) ส่วนใหญ่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างคนไทยกับชาวต่างชาติ ทั้งในกลุ่มเพาะปลูก กลุ่มผลิต/แปรรูป และกลุ่มขายปลีก/ขายส่ง เป็นต้น

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 2567 มีธุรกิจสมุนไพรมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวน 18,342 ราย ทุนรวม 147,580.84 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มเพาะปลูก 1,504 ราย (8.20%) ทุน 6,265.44 ล้านบาท (4.25%) กลุ่มผลิต/แปรรูป 1,778 ราย (9.70%) ทุน 16,523.04 ล้านบาท (11.20%) และกลุ่มขายปลีก/ขายส่ง 15,060 ราย (82.10%) ทุน 124,792.36 ล้านบาท (84.56%)

ทั้งนี้ธุรกิจสมุนไพรส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ 7,873 ราย (42.93%) รองลงมาคือ ภาคกลาง 4,077 ราย (22.23%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,737 ราย (9.47%) ภาคเหนือ 1,644 ราย (8.97%) ภาคตะวันออก 1,285 ราย (7.00%) ภาคใต้ 1,311 ราย (7.14%) และภาคตะวันตก 415 ราย (2.26%)

ผู้ประกอบธุรกิจสมุนไพรไทยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มเพาะปลูก เป็นกลุ่มต้นน้ำที่ผลิตวัตถุดิบ เพาะปลูกพืชพันธุ์ โดยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบการทำเกษตรท้องถิ่น บางพื้นที่มีการรวมกลุ่มกันในรูปแบบของกลุ่มเกษตรกร โดยำลุ่มนี้มีประสบการณ์และความชำนาญในการเพาะปลูกและสืบทอดส่งต่อกันรุ่นต่อรุ่น แต่ยังมีการใช้สารเคมีในการกําจัดและรักษาโรคและศัตรูพืช ดังนั้นหากต้องการอยู่ในตลาดที่สามารถแข่งขันได้จะต้องปรับเปลี่ยนไปสู่วิถีเกษตรอินทรีย์

2. กลุ่มผลิตและแปรรูป เป็นกลุ่มที่นําวัตถุดิบที่ได้จากการเพาะปลูกมาแปรรูปและบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งต่อไปยังผู้จําหน่าย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบกลุ่มอุตสาหกรรมครอบครัว สูตรตํารับยาต่างๆ ยังคงเป็นการถ่ายทอดกันในครอบครัว ซึ่งยังสามารถพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของสินค้า การเก็บรักษา ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมได้ ด้วยการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่จากภาครัฐและหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การเก็บรักษา และการขนส่งสินค้า ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลุ่มผลิตและแปรรูป

3. กลุ่มขายปลีก/ขายส่ง เป็นกลุ่มที่ส่งตรงสินค้าที่ได้จากการผลิตสู่มือผู้บริโภค ทั้งรูปแบบการขายผ่าน หน้าร้าน การขายออนไลน์ เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องเน้นที่การตลาดและสร้างการรับรู้ให้ผู้ซื้อสินค้า เทคนิค และ ช่องทางที่ช่วยสร้างการรับรู้ และกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าในที่สุด สำหรับกลุ่มขายปลีก/ขายส่ง จะให้ความสำคัญกับการตลาดเป็นหลัก และการขยายช่องทางการตลาดให้กว้างขวางเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย

อย่างไรก็ดี เทรนด์การรักสุขภาพที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ไร้สารเคมี เป็นมิตรต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเป็นความต้องการของตลาดทั่วโลกอย่างมาก ผลิตภัณฑ์ที่มีที่มาเป็น “ออร์แกนิค” จึงสามารถสร้างมูลค่าสินค้าได้สูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป

ปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) เป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร ซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นฝ่ายเลขานุการ โดยมีเป้าหมายสร้างภาพลักษณ์, ส่งเสริมการตลาดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตลอดจนขยายตลาดเชิงรุกทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ภายในงานแสดงสินค้าอาหาร (THAIFEX-ANUGA ASIA 2024) เมื่อกลางปี 2567 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร จำนวน 20 ราย เข้าร่วม และสามารถเจรจาจับคู่ธุรกิจ 1,024 คู่ มูลค่าการค้ารวม 194.28 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการเจรจามากที่สุด ได้แก่ ขิงแปรรูป ผักอบกรอบ น้ำนมงาดำ ไข่ผำ และดาวเรืองอบแห้ง ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าสมุนไพรจำนวนมากขึ้น โดยปี 2566 ได้นำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้จากอินโดนีเซีย มูลค่า 144.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างเช่น กระวานมีกลิ่นหอมและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในด้านการทำอาหารและยาจีน ตลอดทั้งปีจีนมีการนำเข้ากระวานจากอินโดนีเซีย มูลค่า 69.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 47.8 นอกจากนั้นเป็น จันทน์เทศ และกานพลู เป็นสมุนไพรชนิดหลักๆ ที่จีนนำเข้าด้วย โดยจันทน์เทศจีนนำเข้ามูลค่า 42.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 กานพลูนำเข้ามูลค่า 6.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.3

แคนาดา เป็นตลาดนำเข้าสมุนไพรที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน สินค้าหลักๆ ที่จีนนำเข้าจากแคนาดาคือโสมอเมริกา ปี 2566 นำเข้าเป็นมูลค่า 74.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32

เมียนมา อยู่ในอันดับสามโดยสินค้าหลักที่จีนนำ คือ ขมิ้นโดยในปี 2565 ได้นำเข้าเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัว และปี 2566 นำเข้าจำนวน 8,858.3 ตัน ขณะที่เวียดนามก็ส่งสมุนไพรไปยังจีนมากขึ้น โดยปี 2566 มีมูลค่าสูงถึง 38.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 192.1 สินค้าที่ส่งออกล็อตใหญ่ที่สำคัญ ได้แก่ ลูกสำรอง หมากสง โป่งรากสน และอบเชยจีน

ปี 2566 สมุนไพรนำเข้า 10 อันดับแรกของจีน คือ โสมอเมริกา กระวาน เขากวางอ่อน จันทน์เทศ โสม ชะเอมเทศ หญ้าฝรั่น เทียนแกลบ กำยาน มดยอบ เลือดมังกร ขมิ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.1 ของมูลค่าการนำเข้าตลอดทั้งปี

สำหรับ โสมอเมริกา เป็นสายพันธุ์ที่นำเข้าเป็นอันดับหนึ่ง โดยหลักๆ มาจากแคนาดาและสหรัฐ มูลค่านำเข้าตลอดทั้งปีอยูที่ 92.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8

ชะเอมเทศ เป็นสมุนไพรอีกสายพันธุ์ที่จีนนำเข้าเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในปี 2566 มูลค่าทั้งปีอยู่ที่ 28.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 199.8 หรือปริมาณ 37,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 230.3 สร้างสถิติสูงสุดในช่วงไม่กี่ปีนี้ ชะเอมเทศเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสมุนไพรที่มีปริมาณการใช้มากที่สุดในจีน โดยหลักๆ นำเข้าจากประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ในปี 2566 นำเข้าจากคาซัคสถาน 23,000 ตัน อุซเบกิสถาน 7,483.5 ตัน เติร์กเมนิสถาน 3,675.9 ตัน

ตามข้อมูลจากศุลกากรจีน (GACC) ระบุว่า เดือน ม.ค. – ก.ค. ปี 2567 ประเทศจีนมีการนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรปริมาณ 117,106 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 คิดเป็นมูลค่า 257.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยที่ส่งออกไปจีนคิดเป็นร้อยละ 34.3 ของการส่งออกทั้งหมด รายการสมุนไพรที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปจีนมีจำนวน 28 รายการ
1. หมากแห้ง
2. ถั่วแดงแห้ง
3. พุทราจีนแห้ง
4. วอลนัทแห้ง
5. งาแห้ง
6. พริกไทย
7. ต้นจีกู่เฉาแห้ง
8. ขิงสด ขิงแห้ง
9. พริกแห้ง
10. เกสรบัวหลวงแห้ง
11. เนื้อลำ ไยอบแห้ง
12. ฮ่วยซัวแห้ง
13. สำ รองสด สำ รองแห้ง
14. กล้วยไม้สกุลหวายแห้ง
15. ลูกเดือยแห้ง
16. ใบงาขี้ม่อนแห้ง
17. ไผ่ (ส่วนที่ได้จากลำต้นไผ่นำมาทำให้แห้งเป็นก้อน)
18. กระวานแห้ง
19. เปลือกของผลหมากแห้ง
20. กระเบาใหญ่แห้ง
21. แสลงใจแห้ง
22. เร่วดง
23. กำยานญวน
24. ยางต้นรง
25. สารสกัดเข้มข้นแบบแห้งจากเปลือกสีเสียด
26. สารสกัดเข้มข้นแบบแห้งจากใบสกุลว่านหางจระเข้
27. สีเสียดเทศ (กะเมีย)
28. เปลือกแห้งของสกุลไม้ยิว
(ที่มา กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช – ผู้ประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรฯ สามารถยื่นเอกสารคำขอขึ้นทะเบียนผู้ผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรฯ กับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งผู้ประกอบการที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนดังกล่าวบนเว็บไซต์ GACC เท่านั้น จึงจะสามารถส่งออกสมุนไพรฯ ไปยังจีนได้)

สำหรับในประเทศมีมูลค่าการบริโภคสมุนไพรอยู่ที่อันดับ 8 ของโลก ประมาณ 1,483.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 46,916.44 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ 3 อันดับแรกคือ กลุ่มอาหารเสริมชนิดพร้อมดื่ม, กลุ่มเพื่อการรักษาอาการไอ หวัด แพ้อากาศ และกลุ่มอาหารเสริม

สมุนไพรที่เป็นที่ต้องการของตลาดมีจำนวน 24 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นชัน ไพล บัวบก กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร กระชายเหลือง กระวาน ข่า ขิง คำฝอย ตะไคร้ บุก พริกไทย ว่านชักมดลูก กระเจี๊ยบแดง เก๊กฮวย ดีปลี บอระเพ็ด พญายอ เพชรสังฆาต มะระขี้นก มะลิ มะแว้งเครือ และมะแว้งต้น (https://www.nstda.or.th/nac/2023/wp-content/uploads/2023/04/se39-present-1010.pdf)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการแพทย์) เปิดเผยว่า มะระขี้นก ถือเป็น 1 ในสมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ ตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งมีตลาดทั่วโลกมูลค่ารวมกว่า 28,000 ล้านบาท โดยเม็กซิโกเป็นประเทศส่งออกมะระสูงสุดในโลกมีมูลค่า 17,000 ล้านบาท ขณะที่ไทยส่งออกมะระขี้นกเพียง 18 ล้านบาท จึงมีโอกาสเติบโตในตลาดโลกอีกมาก

การศึกษาวิจัยหลายฉบับบ่งชี้ว่า มะระขี้นกมีสารสำคัญคือ ชาแรนติน (Charantin) ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งไทยได้พัฒนามะระขี้นก สายพันธุ์สาเกต 101 ขึ้นใหม่ที่ทำให้ได้สารชาแรนตินปริมาณมากขึ้น 2 เท่า มีการนำร่องให้เกษตรกร จ.มหาสารคาม นำไปขยายพันธุ์ปลูก ล่าสุดมีการซื้อขายกับผู้ประกอบการจีน มูลค่า 250 ล้านบาท เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อํานวยการกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการทำโมเดลการเกษตรต้นน้ำมูลค่าสูงของมะระขี้นก เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน พัฒนาสายพันธุ์ให้ได้ Charantin ในปริมาณที่สูงขึ้น ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาทำให้มะระขี้นกใหญ่ขึ้น และให้สาร Charantin มากกว่าเดิมประมาณ 2 เท่า ส่งผลให้ราคามะระขี้นกเพิ่มจากกิโลกรัมละ 30 บาท เป็นกิโลกรัมละ 50 บาท ยกระดับรายได้ของคนในจังหวัด

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการแปรรูปมะระขี้นกด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงให้เป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทั้งมะระขี้นกแบบน้ำสกัดเข้มข้น ซุปมะระขี้นกแบบผง มะระขี้นกดองกิมจิ 3 รส เป็นการผลักดันให้เกิดเกษตรมูลค่าสูงสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติที่มุ่งมั่นผลักดันสมุนไพรให้เป็นพืชเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ มะระขี้นก ยังเป็นอายุรเวทใช้ผลมะระรักษาเบาหวาน โรคตับ บรรเทาอาการโรคเก๊าต์และข้ออักเสบ

Copyright @2021 – All Right Reserved.