นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. (28 พฤศจิกายน 2566) มีมติเห็นชอบและอนุมัติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืน ระบบอาหารที่ยืดหยุ่น และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Declaration on Sustainable Agriculture, Resilient Food Systems, and Climate Action) (ร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืนฯ)
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืนฯ [จะมีการให้ความเห็นชอบและร่วมรับรองร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืนฯ ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 28 (COP28 UNFCCC) (การประชุม COP28) ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์]
ทั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการประชุม COP28 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ได้มีหนังสือถึงประเทศสมาชิกขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ [(Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO)] เพื่อขอความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกให้ร่วมลงนามในร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืน โดยพิธีการลงนามระดับผู้นำประเทศจะจัดขึ้นระหว่างการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 28 (COP28 UNFCCC) ในวาระ World Climate Action ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืนฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1.ประเด็นที่ควรตระหนักถึง
(1)สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนเปลงอย่างรุนแรงส่งผลต่อความสามารถในการฟื้นตัวด้านการเกษตรและระบบอาหารเพิ่มมากขึ้น รวมถึงส่งผลต่อกลุ่มเปราะบางในการเข้าถึงอาหารเมื่อต้องเผชิญกับความหิวโหย ภาวะทุพโภชนาการ และความตึงเครียดทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น
(2)ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับอาหารที่ปลอดภัย เพียงพอ ราคาไม่แพงและมีคุณค่าทางโภชนา ตามบริบทของความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
(3) ระบบเกษตรและอาหารเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน เช่น เกษตรกรรายย่อย เกษตรกรแบบครอบครัว ชาวประมง ผู้ประกอบการด้านอาหาร ดังนั้น ความร่วมมือของทุกฝ่ายจึงมีบทบาทสำคัญต่อการตอบสนองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะความร่วมมือของสถาบันการเงินในการให้เงินทุกสนับสนุน
2. แนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ
(1) เพิ่มกิจกรรมเกี่ยวกับการปรับตัวและการตอบสนองต่อการเปลี่ยนเปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดความปราะบางของเกษตรกร ชาวประมง และผู้ผลิตอาหารรวมถึงเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินและทางเทคนิคสำหรับแก้ไขปัญหา เช่น การสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม การเสริมสร้างและการจัดการน้ำแบบบูรณาการในระบบเกษตรและอาหารทุกระดับเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
(2) สนับสนุนผู้ด้อยโอกาสผ่านแนวทางต่าง ๆ เช่น การมีระบบการคุ้มครองทางสังคมและเครือข่ายความปลอดภัย การวิจัยและนวัตกรรมที่ตรงเป้าหมายและความต้องการเฉพาะของกลุ่มต่าง ๆ โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน
(3) สนับสนุนคนงานในภาคการเกษตรและระบบอาหาร รวมถึงบทบาทของสตรีและเยาวชนให้สามารถปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ยังสามารถประกอบอาชีพได้ตามแนวทางที่เหมาะสม
(4)ลดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เช่น เสริมสร้างสุขภาพของดิน สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และลดการสูญเสียขยะทางอาหารจากการผลิตและการบริโภค เสริมสร้างการจัดการน้ำแบบบูรณาการ
3. การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2568
(1) เพิ่มการมีส่วนร่วมตามความเหมาะสมภายในบริบทของประเทศ โดยบูรณาการระบบเกษตร และอาหารเข้ากับแผนของชาติ เช่น ยุทธศาสตร์ระยะยาว และยุทธศาสตร์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ก่นอที่จะมีการประชุม COP30 (ปี 2568)
(2) ทบทวนหรือปรับทิศทางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตรและอาหาร เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนความสามารถในการปรับตัวและการดำรงชีวิตและส่งเสริมให้เกิดการลดการสูญเสียอาหาร ของเสีย และความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงการเงินทุกรูปแบบจากภาครัฐ องค์กรการกุศลและภาคเอกชนสำหรับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงด้านเกษตรและอาหาร เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหาร
(3)ส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม รวมถึงความรู้ในท้องถิ่นและชนพื้นเมืองเพื่อเพิ่มผลผลิตและการผลิตที่ยั่งยืนของเกษตรกร รวมทั้งส่งเสริมความยืดหยุ่นของระบบนิเวศและปรับปรุงความเป็นอยู่ของชุมชนในชนบท เกษตรกรรายย่อย ครอบครัวเกษตรกรและผู้ผลิตรายอื่น
(4)เสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคีที่ไม่เลือกปฏิบัติ เปิดกว้าง ยุติธรรม เสมอภาค และโปร่งใส โดยมีองค์การค้าโลกเป็นแกนหลัก