มีเสียงวิจารณ์กันให้แซดว่าไฟป่าที่เชียงใหม่เลวร้าย เพราะรัฐราชการรวมศูนย์ รวบอำนาจสั่งการจากส่วนกลางทำให้แก้ปัญหาล่าช้า
มีเสียงเรียกร้องให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นมีอำนาจดูแลตัวเองมากขึ้นเพื่อจะได้จัดการไฟป่าได้รวดเร็วทันท่วงที
มีเสียงร่ำลือกันว่าผู้ใหญ่บางคนมีคำสั่งแปลกๆ ออกมาเหมือนจะขัดขวางการทำงานของคนในพื้นที่
กลายเป็นคำถามว่าใช่หรือไม่ว่าเพราะระบบราชการทำให้การแก้ไขปัญหาไฟป่ายิ่งล่าช้า
แต่มันยังหาข้อสรุปไม่ได้จึงต้องใส่เครื่องหมายคำถามไปด้วยว่า “จริงหรือ?”
เมื่อไฟป่าจบลงแล้วเราอาจจะต้องประเมินกันใหม่ว่ากลไกของภาครัฐมีปัญหาอะไรหรือเปล่า
แต่มีบางคนเปรียบเทียบว่าการแก้ปัญหาไฟป่าของไทยทำไมไม่ใช้วิธีแบบออสเตรเลีย และชื่นชมว่าออสเตรเลียสามารถแก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพมาก
ไม่ใช่เลย มันเป็นคำชมที่เกินเหตุ แถมยังดูเหมือนเป็นการดิสเครดิตเจ้าหน้าที่และประชาชนคนไทยที่ร่วมกันดับไฟป่า
ย้อนมาดูการแก้ปัญหาไฟป่าที่ออสเตรเลียกันบ้าง ตัวปัญหาอาจจะคนละดีกรีกับไฟป่าที่เชียงใหม่ แต่มันคล้ายกันตรงที่มีปัญหาที่ “ไฟ” และ “ผู้ใหญ่” เหมือนกัน
ออสเตรเลียไม่เหมือนกับไทยตรงที่แบ่งกันบริหารออกเป็นรัฐ แต่ละรัฐรับผิดชอบพื้นที่ตัวเองกันไปก่อน ถ้าไม่ไหวแล้วรัฐบาลกลางจะเข้าไปช่วย ดังนั้นออสเตรเลียจึงไม่มีปัญหาประเภทส่วนกลางอืดอาดและเงินมาไม่ถึงท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นมีเงินอยู่แล้ว และถ้าไม่จำเป็นส่วนกลางจะไม่ยื่นมือเข้าไป
ออสตรเลียมีกำลังคนและกำลังเงินมากกว่าไทยหลายเท่า แต่ก็ยังแก้ไม่ทันและเพราะมันหนักขึ้นทุกปี ปัญหาของไฟป่าออสเตรเลีย คือผู้บริหารประเทศไม่เชื่อว่ามันเป็นปัญหาใหญ่
เชื่อหรือไม่ว่า สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย บอกว่าเราต้องปรับตัวให้เข้ากับปัญหาโลกร้อนไม่ว่จะมีนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนแบบไหนก็ตาม
พูดสั้นๆ ก็คือ ทำตัวให้ชินไว้ซะ
ที่ชินนี่ไม่ใช่แค่โลกร้อน แต่ให้ชินกับปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นทุกปี แต่ที่มันรุนแรงขึ้นทุกปีเพราะปัญหาโลกร้อนนั่นแหละ
มอร์ริสันไม่อยากจะพูดถึงปัญหาโลกร้อน แล้วบอกว่า “การให้ความปลอดภัยในทางปฏิบัติกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตไฟป่ากับการลดอันตรายของไฟป่ามีความสำคัญยิ่งกว่าการลดการปล่อยมลพิษ”
พูดสั้นๆ คือขายผ้าเอาหน้ารอดไปก่อน ส่วนสาเหตุที่ทำให้ไฟป่ามันแรงขึ้นทุกปีนั้นช่างมัน
คนออสเตรเลียอาจจะรอดไฟป่าในปีนี้ แต่ปีต่อๆ ไปอาจจะไม่รอดก็ได้ถ้าต้นเหตุไม่ถูกแก้ไข
เอาเข้าจริง ที่ท่านนายกฯ บอกว่า “ความปลอดภัยในทางปฏิบัติ” มันจะเป็นไปได้อย่างไร? เพราะในทางปฏิบัติไฟมาแต่ละครั้งกินบริเวณกว้างใหญ่จนดับกันไม่ทัน ประชานต้องเสียบ้าน เสียฟาร์ม เสียปอด และเสียชีวิต
ชาวออสเตรเลียต้องใช้ชีวิตกับหน้ากากอนามัยก่อนที่โควิด-19 จะมาถึงซะอีก เพราะค่า PM2.5 สูงจนมองอะไรแทบไม่เห็น
เหมือนคนกรุงเทพฯ ในช่วงก่อนนี้และเหมือนกับคนเชียงใหม่ในตอนนี้
ถามว่ามันชินกันได้ด้วยหรือ?
ตอบว่าไม่ชินก็ต้องชินเพราะผลประโยชน์มหาศาล
ตอนที่ไฟป่ากำลังเผาประเทศ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียประกาศดีล 2,000 ล้าน กระตุ้นการใช้แก๊ซ อุตสาหกรรมพลังงานที่ทำเงินมหาศาล แต่ทำลายสิ่งแวดล้อมมหาศาล และเป็นต้นเหตุตัวจริงของโลกร้อน และโลกร้อนคือต้นเหตุที่ทำให้ไฟป่ารุนแรงขึ้น
จริงอยู่ที่มีคนวางเพลิงหรือฟ้าผ่าหรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เกิดไฟลุกขึ้นมา แต่มันจะไม่ลามไปทั่วถ้าอากาศไม่แห้งแล้งติดต่อกันหลายปี เพราะอะไร? ก็เพราะโลกร้อนอีกนั่นแหละ
ชาวออเสตรเลียเหม็นหน้านายกรัฐมนตรีของพวกเขามาก เมื่อมอร์ริสันลงพื้นที่พบประชาชนในพื้นที่ไฟป่าเขาถูกด่า ถูกไล่ คนไม่ต้อนรับ ถูกตอกหน้า ถูกปฏิเสธการจับมือจากพนักงานดับเพลิง
ไฟป่าในเมืองไทยยังไม่รุนแรงเท่าออสเตรเลีย แต่มันเกิดขึ้นบ่อยเกินไป เป็นสัญญาณว่าไม่เฉพาะแค่คนเผาป่าเท่านั้นที่เป็นปัญหา แต่ยังเกี่ยวกับเรื่องสภาพอากาศโลกที่วิปริตอีกด้วย
บางคนบอกว่าเจ้าหน้าที่เอาแต่ตำหนิคนเผาป่า
เอ้า! ก็ถูกแล้ว คนเผาป่าคือสาเหตุหนึ่งของไฟป่าที่ต้องตำหนิ แม้แต่ออสเตรเลียที่ไหม้กันข้ามเดือนก็เกิดจากคนเผาป่าเหมือนกัน
ผลวิจัยเมื่อปี 2551 บอกว่า ไฟป่าในออสเตรเลีย 85% เกิดจากน้ำมือมนุษย์ไม่ว่าวางเพลิงโดยตั้งใจหรือความเผลอเรอก็ตาม
จะแก้ไฟป่าภาคเหนืออย่างแรกเลยต้องจัดการที่มนุษย์วางเพลิงก่อน แล้วให้คนทั้งประเทศตระหนักในเรื่องภัยจากโลกร้อนที่เป็นตัวเร่งปัญหา
และที่สำคัญอย่าเลียนแบบผู้นำออสเตรเลียมที่บอกให้ทุกคนชิน