ประเทศไทยจะรอดพ้นจากวิกฤตโลกร้อนและสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ตามนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ คงไม่อาจเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย และรวดเร็ว หากทุกภาคส่วนไม่ร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อน จึงเป็นที่มาในการจัดตั้ง “เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network)” หรือ TCNN ขึ้นโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น/ชุมชน เสมือนเป็นการรวมพลังของภาคส่วนต่าง ๆ ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจกให้มีความคืบหน้าและเกิดรูปธรรมมากที่สุด สามารถสร้างการเติบโตทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน สร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ประเทศไทยมีความเป็นกลางทางคาร์บอน และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามเป้าหมายของประเทศ ซึ่งได้กำหนดการดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นเครือข่ายแกนนำของประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero”
ปัจจุบันเครือข่าย TCNN มีสมาชิกแบ่งออกเป็นองค์กรผู้ริเริ่มด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก จำนวน 630 องค์กร องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก จำนวน 112 องค์กร และองค์กรผู้พัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก จำนวน 5 องค์กร โดยมี วรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่ประธานกรรมการเครือข่าย เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ทำหน้าที่ที่ปรึกษาเครือข่าย และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานคู่ขนาน (1)
ช่วง 2 ปีกว่าหลังการจัดตั้ง TCNN ขึ้นมีสมาชิกเข้าร่วมแล้ว จำนวน 749 องค์กร ถือเป็นเครือข่ายที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดย “วรพงษ์” ในฐานะประธานกรรมการเครือข่าย TCNN อธิบายว่า ที่ผ่านมาเครือข่าย TCNN ได้จัดกิจกรรมเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ทั้งกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ และแชร์ประสบการณ์ ส่งเสริมความรู้ให้กับองค์กรสมาชิกในการดำเนินงานบริหารจัดการ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการส่งเสริมองค์กรสมาชิกในการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ในระดับองค์กร
นอกจากนั้น TCNN ยังได้ร่วมกับสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change secretariat : UNFCCC secretariat) พัฒนาหลักเกณฑ์การรับรองสมาชิกประเภท “องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization : CALO)” ขึ้น ซึ่งเป็นการยกระดับการดำเนินงานของเครือข่าย TCNN ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
ปัจจุบัน TCNN มีองค์กรหรือบริษัทที่สามารถดำเนินงานตามเกณฑ์ในการตรวจวัด ลด และชดเชย (optional) คาร์บอน จนได้รับการรับรองเป็นองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ CALO ทั้งหมด 112 องค์กร โดย 14 องค์กรเพิ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมคณะกรรมการเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Executive Committee) ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567
ในจำนวนนี้มี 16 องค์กรที่มีผลการประเมินในระดับโดดเด่น ซึ่ง ปตท. ติดเป็น 1 ใน 16 องค์กร ดังนั้นจะเห็นได้ว่า TCNN มุ่งส่งเสริมความร่วมมือการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกของสมาชิกในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความร่วมมือกับภาคเอกชนซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยผลักดันและยกระดับการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกให้มีความก้าวหน้า ตลอดจนสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามเป้าหมายได้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม องค์กรที่จะเป็นสมาชิกประเภทองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ CALO จะต้องประกาศเจตนารมณ์ในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจนว่าจะดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกด้านใด วิธีการใด อย่างเช่น กิจกรรมในการลด ดูดซับ ดูดกลับ ดักจับ และกักเก็บก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในระดับองค์กร จากนั้นจะมีคณะกรรมการจากภายนอกเป็นผู้พิจารณาให้การรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากสมาชิกประเภทองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ CALO เป็นความร่วมมือระดับนานาชาติที่ต้องมีความน่าเชื่อถือ (2)
นอกจากความร่วมมือในนาม TCNN แล้ว ยังมีหลายหน่วยงานอย่างเช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการรวมตัวเป็นสมาคมเพื่อจัดกิจกรรมแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน รวมถึงถ่ายทอดความรู้ต่อประชาชนในการลดภาวะโลกร้อน เช่น สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) ซึ่งเป็นอีกกลไกสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ของประเทศไทยด้วย
ดังนั้น กล่าวได้ว่าการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในนามเครือข่าย TCNN มีความต่อเนื่องและการดำเนินงานเป็นรูปธรรมในระดับที่น่าพอใจตามวัตถุประสงค์การก่อตั้ง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสิทธิเป็นศูนย์ในปี 2065
อ้างอิง:
- Thailand Carbon Neutral Network. Retrieved Apr 26, 2024, from https://tcnn.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=YUc5dFpRPT0
- วรพงษ์ นาคฉัตรีย์, สัมภาษณ์, 3 พฤษภาคม 2567