มีรายงานว่านิวซีแลนด์มีแผนการที่จะเก็บ “ภาษีเรอ” จากการเรอของแกะและวัว เพื่อจัดการกับหนึ่งในแหล่งก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ หากเป็นจริงจะทำให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกที่เรียกเก็บเงินจากเกษตรกรสำหรับการปล่อยก๊าซมีเทนจากการทำปศุสัตว์ และเป็นมีเทนจากการ “เรอ” ซะด้วย
ในปี 2019 IPCC รายงานว่า 13% -21% ของก๊าซเรือนกระจกจากมนุษย์มาจากภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และการใช้ที่ดินอื่น ๆ และสาเหตุหลักสามประการของการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกที่สังเกตได้ในช่วง 250 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ เชื้อเพลิงฟอสซิล การใช้ที่ดิน และการเกษตร
ตัวการปล่อยก๊าซหลักจากภาคเกษตร คือฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งเกิดก๊าซขึ้นจากระบบย่อยอาหารของสัตว์ในฟาร์ม โดยเฉพาะโคสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัวและแกะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ส่วนสุกรและอาหารที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ปีก เช่น เป็ด หรือไก่ อยู่ในระดับต่ำ
จากข้อมูลของ BBC
นิวซีแลนด์มีประชากรมนุษย์ 5 ล้าน คน แต่มีวัวมากถึงประมาณ 10 ล้านตัวและแกะ 26 ล้านตัว
เกือบครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดมาจากการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน แต่ปัญหาก็คือปศุสัตว์เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศและเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลักของประชนด้วย
BBC รายงานว่า ก่อนหน้านี้การปล่อยมลพิษทางการเกษตรไม่เคยรวมอยู่ในโครงการซื้อขายการปล่อยมลพิษของนิวซีแลนด์ ทั้ง ๆ ที่มันมีส่วนในการทำให้นิวซีแลนด์แบกรับปัญหาโลกร้อนอย่างมาก ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการมากขึ้นเพื่อหยุดภาวะโลกร้อน
แผนดังกล่าวเสนอว่า เกษตรกรจะต้องจ่ายค่าปล่อยมลพิษตั้งแต่ปี 2025 ซึ่งมลพิษเหล่านี้มาจาก “เรอ” และ “ตด” ของวัวและแกะนั่นเอง ซึ่งรัฐบาลจะไม่เก็บอย่างเดียว แต่ยังมีสิ่งจูงใจชดเชยสำหรับเกษตรกรที่ลดการปล่อยมลพิษผ่านการใช้อาหารสัตว์ที่ลดมลพิษ การปลูกต้นไม้เพิ่มในฟาร์มที่สามารถช่วยได้
ส่วนภาษีที่เก็บได้ก็ไม่ใช่ว่าจะรีดเลือดเกษตรกรมาใช้งานด้านอื่น ๆ แต่ถูกนำไปวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรนั่นเอง เพราะนิวซีแลนด์ได้ให้คำมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์สุทธิภายในปี 2050 และจำเป็นจะต้องทำให้เกษตรกรรมเจเนอเรชั่นใหม่ตอบรับกับเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่นี้
ตัวอย่างของการทำปศุสัตว์ยุคใหม่ที่ลดมีเทนได้มากมายมหาศาลคือ การศึกษาที่ดำเนินการโดยเพื่อนบ้านของนิวซีแลนด์ คือองค์กร Meat and Livestock Australia, CSIRO และ James Cook University พบว่าการเพิ่มสาหร่าย Asparagopsis taxiformis ลงในอาหารของโค สามารถลดมีเทนได้ถึง 99% และรายงานว่าอาหารที่ทำด้วยสาหร่าย 3% ทำให้มีเทนลดลง 80%
อีกทางแก้คือการลดการกินเนื้อ จากการศึกษาในปี 2018 ในวารสาร Nature พบว่า การลดการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างมีนัยสำคัญจะเป็น “สิ่งสำคัญ” ในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประชากรมนุษย์จะเพิ่มขึ้น 2,300 ล้านคนตามที่มีการคาดการณ์ไว้ภายในกลางศตวรรษ
ในเดือน พ.ย. 2017 นักวิทยาศาสตร์ 15,364 คนทั่วโลกได้ลงนามใน “คำเตือนต่อมนุษยชาติ” (World Scientists’ Warning to Humanity) เพื่อเรียกร้องให้ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ต่อหัวของมนุษยชาติอย่างมาก เพื่ดหยุดยั้งปัญหาโลกร้อน
ทว่าการเรียกร้องให้ลดการบริโภคเนื้อจะกระทบต่ออุตสาหกรรมหลักของประเทศที่ผลิตเนื้อและกินเนื้ออย่างนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ดังนั้นที่ผ่านมาประเทศเหล่านี้จึงอิดออดที่จะแก้ปัญหาในจุดนี้
ข้อมูลจาก
• Peter Hoskins. (June 10, 2022). “Climate change: New Zealand’s plan to tax cow and sheep burps”. BBC News.
• FP Explainers. (June 10, 2022). “Explained: New Zealand’s plan to tax cow and sheep burps”. First Post.
• “Seaweed-fed cows could solve livestock industry’s methane problems”. ABC News. 2017-04-21.
• Carrington, Damian (October 10, 2018). “Huge reduction in meat-eating ‘essential’ to avoid climate breakdown”. The Guardian.
• Ripple WJ, Wolf C, Newsome TM, Galetti M, Alamgir M, Crist E, Mahmoud MI, Laurance WF (13 November 2017). “World Scientists’ Warning to Humanity: A Second Notice”. BioScience. 67 (12): 1026–1028. doi:10.1093/biosci/bix125
ภาพ: Keith Weller – http://www.ars.usda.gov/is/graphics/photos/apr12/k4166-5.htm (Image Number K4166-5)