เวทีคอนเสิร์ตโคเชลลา เทศกาลดนตรีโลกที่สุดคูล ลดขยะพลาสติกเหลือน้อยสุด

เครดิต @ai.visuals

ตอนนี้คนไทยคงรู้จักเทศกาล Coachella (โคเชลลา) กันมากขึ้นแล้ว หลังจากการขึ้นแสดงของ “มิลลิ” พร้อมกับข้าวเหนียวมะม่วงจนดังไปทั่วโลก แต่ Coachella ไม่ใช่แค่เทศกาลดนตรีที่ดึงดูดคนมากมายเท่านั้น มันยังเป็นงานเทศกาลแห่งอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

Coachella คือชื่อสั้น ๆ ของ “เทศกาลดนตรีและศิลปะโคเชลลาแวลลีย์” จัดขึ้นทุกปีที่เอมไพร์โปโลคลับ ในเมืองอินดิโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย กลางทะเลทรายโคเชลลาแวลลีย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลทรายโคโลราโด 

มันเป็นงานดนตรีที่มีศิลปินมาร่วมจากหลากหลายแนวเพลง ทั้งร็อก อินดี ฮิปฮอป และดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ รวมถึงยังมีงานศิลปะจัดวางและประติมากรรมต่าง ๆ 

โคเชลลาคือสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมดนตรีและศิลปะของคนรุ่นใหม่ แต่ละปีมันจึงดึงดูดผู้ชมจากทั่วโลกรวมแล้วนับแสนคน  แน่นอนว่าจำนวนคนที่มากขนาดนี้มันต้องมีผลสะเทือนต่อสิ่งแวดล้อมแน่ ๆ โดยเฉพาะเรื่องขยะและน้ำ

แต่ผู้จัดงานนี้ใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมสุด ๆ และริเริ่มโครงการด้านสิ่งแวดล้อมมานับสิบปีแล้ว ตั้งแต่เรื่องใหญ่ระดับโลกอย่างการจัดการกับรอยเท้าคาร์บอน ไปจนถึงปัญหาระดับพื้นฐานคือการจัดการขยะ 

พนักงานของโคเชลลาประมาณ 600 คน ต้องเก็บขยะที่สะสมในช่วงเทศกาลนาน 3 สัปดาห์ โดยขยะจะถูกจัดเรียงเป็นรายประเภทในไซต์งานก่อนที่จะถูกนำไปฝังกลบและส่งไปศูนย์รีไซเคิลในท้องถิ่น

บริษัท Goldenvoice ผู้จัดงานโคเชลลามีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนขยะ 90% เป็นวัสดุรีไซเคิลและย่อยสลายได้ ซึ่งเป้าหมายนี้ทำได้ไม่ยาก เพราะตั้งแต่ปี 2013 พนักงานในงานก็สามารถเปลี่ยนขยะ 262,049,383 กก. เป็นของที่รีไซเคิลได้แล้ว

เอาแค่ในปีนั้น ออร์แกไนซเอร์ของงานสามารถรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียม 36,860 ตัน กระดาษแข็ง 105,000 ตัน พลาสติก PET จำนวน 65,360 ตัน เศษโลหะ 47,040 ตัน และแก้ว 34,600 ตัน

ในปี 2018 พวกเขาได้สร้างทีม Waste Gang เพื่อเพิ่มปริมาณวัสดุที่เรารีไซเคิลและหมักในงานเทศกาล ในปี 2019 ทีมงานนี้ช่วยเปลี่ยนขยะเป็นวัสดุรีไซเคิลแบบผสม 94 ตัน และปุ๋ยหมัก 93 ตัน

ทั้งหมดนี้เป็นการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมมานานเป็นสิบปี พวกเขาเริ่มต้นจริงจังกับปัญหานี้ในปี 2007 โดยร่วมมือกับ Global Inheritance องค์กรเอกชนไม่หวังผลกำไรที่ทำงานเพื่อสร้างสรรค์แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม 

ความร่วมมือนี้นำไปสู่การเริ่มโครงการ “รีไซเคิล 10 ต่อ 1” ซึ่งใครก็ตามที่รวบรวมขวดน้ำเปล่าสิบขวดจะได้รับน้ำขวดเต็มฟรี 1 ขวด และโครงการ ใน 2009 ได้เปิดตัวขวดน้ำแบบรีฟิลได้มูลค่า 10 ดอลลร์ ซึ่งผู้ซื้อสามารถเติมน้ำได้ที่จุดบริการน้ำภายในเทศกาลและภายในพื้นที่ตั้งแคมป์

อีกโปรแกรมหนึ่งคือ “Carpoolchella”; เปิดตัวในปี 2007 โดยให้รางวัลกับผู้ที่ไปร่วมงานเทศกาลที่แชร์รถมาด้วยกันเป็นกลุ่ม ตั้งแต่สี่คนขึ้นไป และแสดงคำว่า “Carpoolchella” บนรถของตนโดยจับฉลากเพื่อลุ้นรับตั๋ววีไอพีตลอดชีวิต

พวกเขายังมีแคมเปญที่ชื่อ “TRASHed :: Art of Recycling” ซึ่งท้าให้ศิลปินท้องถิ่นมาร่วมกันออกแบบและตกแต่งถังขยะรีไซเคิลที่วางอยู่ทั่วบริเวณเทศกาล และยังมีบูธดีเจพลังงานแสงอาทิตย์และกระดานหกที่เรียกว่า Energy SeeSaw ซึ่งผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ชาร์จโทรศัพท์มือถือ

ล่าสุดจากข้อมูลในปีนี้ ผู้จัดงานบอกว่าจะลดการใช้ขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้เหลือน้อยที่สุดโดยแทนที่ด้วยบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมสำหรับเครื่องดื่มทั้งหมดที่ขายภายในสถานที่จัดงานและในแคมป์ปิ้ง โดยจะขจัดขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่มีขนาดใหญ่ก 2 มม. 

ผู้จำหน่ายอาหารทุกรายต้องใช้ภาชนะที่ย่อยสลายได้ ซึ่งรวมถึงจาน ถ้วย และช้อนส้อม อีกทั้งจะมีจุดบริการน้ำดื่มตลอดเทศกาลเพื่อให้การเติมขวดนำกลับมาใช้ใหม่ของผู้มาร่วมงงานง่ายยิ่งขึ้น

อาหารเหลือทิ้งก็เป็นปัญหาที่กระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกเช่นกันและที่โคเชลลาก็หนีไม่พ้นปัญหานี้ แต่ผู้จัดงานบอกว่าพวกเขาจะบริจาคอาหารที่เหลือจากพื้นที่จัดงานและวัสดุที่แคมป์ทิ้งไว้ให้กับ Galilee Center ซึ่งจัดหาอาหารและสิ่งของจำเป็นให้ครอบครัวที่ด้อยโอกาส ในปี 2019 พวกเขาบริจาคอาหารและสิ่งของถึง 28 ตัน

ว่าด้วยเรื่องอาหาร ผู้จำหน่ายอาหารของโคเชลลาหลายรายเสนออาหารมังสวิรัติ และร้านทั้งหมดในงานนี้จะต้องมีอาหารมังสวิรัติเป็นตัวเลือกด้วย ซึ่งอาหารปลอดเนื้อสัตว์ช่วยลดความต้องการเนื้อสัตว์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างหนักลงได้อีกทาง

อ้างอิง:

  • https://www.coachella.com/sustainability
  • Madill, Leslie (April 2014). “The Pick-Up Artists”. Camp. No. 5. Urb Magazine. p. 8.
  • Real, Jack (April 2015). “Carpoolchella”. Camp. No. 6. Urb Magazine. p. 2.
  • Murphy, Rosalie (April 19, 2015). “Sustainability becomes a game for Coachella festivalgoers”. The Desert Sun. Archived
  • Global Inheritance”. www.globalinheritance.org. Retrieved January 31, 2021.
  • Jones, Meegan (2014). Sustainable Event Management: A Practical Guide. New York: Routledge. p. 146.

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย