บรรดาประเทศมหาอำนาจใช้เวทีเสวนาด้านความมั่นคงเอาแต่พูดเรื่องการแย่งชิงอำนาจกันเหยือหมู่เกาะแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกากับพันธมิตรในเอเชียแปซิฟิกที่แลกหมัดกับผู้แทนฝ่ายจีนในการประชุมด้านความมั่นคงระดับสูงของเอเชีย ( Shangri-La Dialogue) ที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่ารัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของฟิจิ อิเนีย เซรูอิราตู (Inia Seruiratu) กล่าวว่า “ในทวีปแปซิฟิกสีน้ำเงินของเรา ปืนกล เครื่องบินขับไล่ เรือสีเทา และกองพันในชุดสีเขียวไม่ใช่ปัญหาด้านความปลอดภัยหลักของเรา” และว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่างหาก
คำพูดของเขาเหมือนกับตบหน้าชาติมหาอำนาจ เพราะในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ทั้งจีนและอเมริกาต่างก็แย่งกันจะมีอิทธิพลเหนือประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จีนและพันธมิตรสหรัฐจะต้องเผชิญหน้ากันในอนาคตแน่นอน ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ หวางอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนก็เพิ่งเดินสายทัวร์ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกไป
จีนเพิ่งจะผ่านสัญญาความมั่นคงกับประเทศหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งสหรัฐ และพันธมิตรของสหรัฐ เช่น ออสเตรเลียกังวลว่าอาจเป็นการเปิดทางให้จีนตั้งฐานทัพในหมู่เกาะแปซิฟิกได้ นักการเมืองออสเตรเลียถึงกับหลุดปากออกมาว่าถ้าจำเป็นต้องบุกยึดหมู่เกาะโซโลมอนก่อนก็ต้องทำ
ทั้ง ๆ ที่หมู่เกาะแปซิฟิกเหล่านี้มีปัญหาเร่งด่วนมากว่าการเป็นเวทีประลองกำลังระหว่างมหาอำนาจ นั่นคือหมู่เกาะเหล่านี้กำลังค่อย ๆ จมทะเลไปทีละน้อย เพราะปัญหาโลกร้อน และยังต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่เลวร้ายลงรวมทั้งข้าวปลาอาหารที่น้อยลงไปเพราะภาวะโลกร้อน
หมู่เกาะแปซิฟิกคือหนึ่งในดินแดนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดและเร็วกว่าภูมิภาคอื่นแห่งหนึ่งในโลก และประเทศเหล่านี้ได้ร้องขอความช่วยเหลือไม่หยุดหย่อนเพราะมันเร่งด่วนเอามาก ๆ แล้ว แต่ผลที่ได้กลับมาคือ การถูกจีนและเครือข่ายพันธมิตรสหรัฐจับประเทศเหล่านี้เป็นตัวประกันทางการเมือง
เป็นเรื่องน่าเศร้าและน่าขำ ชวนให้หัวเราะทั้งน้ำตาในเวลาเดียวกับสำหรับหมู่เกาะแปซิฟิกเหล่านี้ที่อุตส่าห์ร้องหาความช่วยเหลือไปตั้งหลายปี แต่พอประเทศมหาอำนาจปรากฏตัวขึ้น แทนที่จะช่วยพวกเขาจากเงื้อมมือของภาวะโลกร้อนและประเทศที่กำลังจะจมน้ำ กลับจะเปลี่ยนมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นสมรภูมิสงครามและการแย่งชิงอำนาจ
ตามการประมาณการของรัฐบาลฟิจิ ระดับน้ำทะเลของฟิจิเพิ่มขึ้นในอัตรา 4.6 มม./ปี ในขณะที่ระดับน้ำทะเลคาดว่าจะสูงขึ้นถึง 0.21 ถึง 0.48 เมตรภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 ประมาณการชี้ให้เห็นว่า 4.5% ของอาคารในฟิจิจะถูกน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น 22 ซม. และจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.2% หากระดับน้ำเพิ่มขึ้น 63 ซม.
รัฐบาลฟิจิระบุว่า ชุมชน 830 แห่งที่เสี่ยงต่อผลกระทบจากสภาพอากาศ โดยในจำนวนนี้ 48 แห่งจำเป็นต้องย้ายที่อยู่อย่างเร่งด่วน โดยนายกรัฐมนตรีแฟรงก์ ไบนิมารามา (Frank Bainimarama) กล่าวว่า โลกร้อนกำลังสร้าง “ภัยคุกคามในระดับต่อเนื่อง” ในฟิจิ และทำให้ฟิจิต้อง “ต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด”
รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของฟิจิ บอกว่า “ภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพียงอย่างเดียวต่อการดำรงอยู่ของเราคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มันคุกคามความหวังและความฝันของความมั่งคั่ง แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว ฟิจิและหมู่เกาะแปซิฟิกกำลังเจอกับภัยคุกคามจากการเมืองโลก แบบที่ไม่เคยพบมาก่อนตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2”
บทวิเคราะห์โดย iGreen
ภาพ Isderion /wikipedia.org