วันนี้ (5 เม.ย. 2566) กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนฉบับที่ 2 (92/2566) เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน
ในช่วงวันที่ 6 – 9 เมษายน 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่งรวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกก่อน ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคเหนือจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป
ในขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมากรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวัน ตั้งแต่วันที่ 4-6 เมษายน 2566 โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่
สีเขียว – ระดับเฝ้าระวัง 27-32 องศาเซลเซียส : อ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
สีเหลือง – ระดับเตือนภัย 32-41 องศาเซลเซียส : ตะคริวจากความร้อน และเกิดอาการเพลียแดด
สีส้ม – ระดับเตือนภัย 41-54 องศาเซลเซียส : ตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด หรือ ฮีทสโตรก หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
สีแดง – ระดับเตือนภัย มากกว่า 54 องศาเซลเซียส : เกิดภาวะลมแดด หรือ ฮีทสโตรก
จังหวัดที่มีค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายภาคได้แก่
วันที่ 5 เม.ย. 2566 ได้แก่ แม่สอด 41 °C, ศรีสะเกษ 38.4 °C, บางนา กทม. 45.5°C, ชลบุรี 45.8 °C, พังงา 43.3 °C
วันที่ 6 เม.ย 2566 ได้แก่ เพชรบูรณ์ 40.6 °C, ศรีสะเกษ 41.5°C, บางนา กทม. 50.2°C, แหลมฉบัง ชลบุรี 49.4 °C, ภูเก็ต 47.9°C
คำแนะนำสุขภาพ ให้สังเกตอาการตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรลดเลิกกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นควรสวมหมวก แว่นกันแดด สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หากทำงานกลางแจ้งควรทำงานเป็นกลุ่ม หลีกเลี่ยงดื่มชา กาแฟ สุรา น้ำอัดลม ควรดื่มน้ำสะอาดบ่อย
สำคัญ เตรียมเบอร์โทรศัพท์ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือ 1669