‘วราวุธ’ ขึ้นเหนือแก้ PM2.5ภาคประชาชนฟ้องศาลปกครองรัฐละเลยปฏิบัติหน้าที่ลดมลพิษฝุ่น

องค์กรภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน ประกอบด้วย สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) กรีนพีซ ประเทศไทย และมูลนิธิบูรณะนิเวศ จะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีปกครองต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม ฐานละเลยการปฎิบัติหน้าที่เพื่อให้หน่วยงานรัฐทั้งสองปฎิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ปี 2562 ในการแก้ไขปัญหา PM2.5

ทั้งนี้ 5 องค์กรจะเข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ในวันที่ 22 มี.ค. 2565 เวลา 11.00 น. เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำหน้าที่ตามกฎหมายในการแก้ไขปัญหา PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม และหยุดละเมิดสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาดอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

Cr.ภาพ Rchi Janprateep.

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐทั้งสองแห่งซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 เป็น 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) สำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และ 15 มคก./ลบ.ม. สำหรับค่าเฉลี่ยรายปี แต่ไม่มีความคืบหน้า

ด้านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้ประชุมเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ประจำปี 2565 ณ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า) ทส. อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และผ่านระบบ VDO Conference ไปยังหน่วยงาน 17 จังหวัดภาคเหนือ

รมว.ทส. ย้ำว่ามีการบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนผ่านกลไกคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565  “1 สื่อสาร 5 ป้องกัน 3 เผชิญเหตุ”   

พร้อมกันนี้ได้กำชับให้เฝ้าระวังการแก้ปัญหาไฟป่าในช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. 2565 เป็นพิเศษ โดยยกระดับการทำงานเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไข และควบคุมไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในทุกมิติ ให้ ทสจ. ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ปภ. จังหวัด ออกประกาศช่วงห้ามเผาหรืองดเว้นการเผา พร้อมบทลงโทษตามกฎหมาย

รวมทั้งกำหนดเขตความรับผิดชอบ และมอบหมายการปฏิบัติที่ชัดเจน และให้มีศูนย์การปฏิบัติการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันระดับตำบล และหมู่บ้าน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และให้ ทสม. เป็นแกนนำร่วมกับอาสาสมัครป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า และเครือข่ายอื่น ๆ ในพื้นที่

สำหรับสถานการณ์จุดความร้อนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่เดือน ม.ค.- 18 มี.ค. 2565 พบจุดความร้อน (Hot spot) ลดลงร้อยละ 69 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 โดย 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เกิดจุดความร้อนในพื้นที่ป่าเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างเกิดจุดความร้อนในพื้นที่เกษตรเป็นส่วนใหญ่

เมื่อเทียบกับประเทศในอนุภูมิภาคแม่โขง 5 ประเทศ คือเมียนมา กัมพูชา ไทย สปป.ลาว และเวียดนาม พบว่าไทยมีจำนวนจุดความร้อนลดลงมากที่สุด ส่วนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ พบมีค่าเฉลี่ยลดลงร้อยละ 38 และจำนวนวันที่มีค่า PM2.5 เกินมาตรฐานลดลงร้อยละ 43

วันเดียวกันนายวราวุธได้นำผู้บริหารกระทรวงลงพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน โดยระบุว่าเป็นจังหวัดที่เกิดจุดความร้อนสะสมมากสุดในภาคเหนือช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงแม้จะลดลงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อปีที่ผ่านมาถึง 72%

Cr. ภาพ Rchi Janprateep

นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กล่าวระหว่างนายรัชฎาตรวจเยี่ยมเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ว่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จำนวน 5.77 ล้านไร่ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 ถึงวันที่ 17 มี.ค. 2565 เกิดจุดความร้อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในท้องที่เชียงใหม่และลำพูน ลดลงร้อยละ 87

นายรัชฎา ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานควบคุมไฟป่าอย่างเข้มแข็ง เต็มที่ เต็มกำลัง เต็มความสามารถ และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท มีจุดมุ่งหมายในการรักษาอากาศบริสุทธิ์ให้กับชาวเชียงใหม่ โดยมีคณะทำงาน 21 คณะรับผิดชอบการแก้ปัญหาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และมีกำลังพลจากชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า (เสือไฟ) มาสนับสนุนการดับไฟป่าด้วย

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด