ประชาชนภาคเหนือยื่นฟ้องประยุทธ์ เหตุเพิกเฉยแก้ปัญหา PM2.5

ประชาชนเชียงใหม่ยื่นฟ้องพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เหตุเพิกเฉยใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแก้ไขปัญหาและบรรเทาสถานการณ์ความรุนแรงของวิกฤตฝุ่นควัน ทอดทิ้งประชาชนเผชิญภยันตรายต่อชีวิตและสุขภาพอนามัยต่อเนื่องยาวนานเป็นเดือน รอลุ้นรับเป็นคดีฉุกเฉิน

วันนี้ (10 เม.ย. 2566) ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนสภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ พร้อมด้วยประชาชนนำเอกสารหลักฐานและรายชื่อประชาชนที่ร่วมกันลงชื่อระหว่างวันที่ 7 – 9 เม.ย. 2566 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 727 คน และทางออนไลน์อีกกว่า 980 คน

เข้ายื่นศาลปกครองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อฟ้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน นโยบาย และแผนที่มีอยู่ กำเนิดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤตฝุ่นควันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การฟ้องร้องครั้งนี้มีคอกเรียกร้องสำคัญทางคดี 3 ประการได้แก่

1.ฟ้องนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างร้ายแรงให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มข้น เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจนี้จนการแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น PM 2.5 มีความล่าช้าไม่ทันต่อความร้ายแรงของสถานการณ์

2.ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ” การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากในระยะเวลา 4 ปี ในการใช้แผนนี้แทบจะไม่เห็นความคืบหน้าและปัญหายังคงความรุนแรงอยู่ ถือเป็นความผิดปกติที่ไม่สามารถยอมรับได้

3.ฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขตให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้านเพิ่มในแบบรายงาน66-1 One Report หรือแบบอื่นๆในฐานะเอกสารสำคัญ สำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมาอย่างประเทศไทย

รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ร่วมฟ้อง กล่าวถึงเหตุผลในการฟ้องครั้งนี้ว่าแผนฝุ่นแห่งชาติที่มีมาตั้งแต่ปี 2562 แต่ไม่ได้ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเลย ส่วนมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ นั้น ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มที่ แต่นายกรัฐมนตรีกลับไม่ได้ใช้อำนาจนี้ ซึ่งปัญหาสำคัญคือกฎหมายและแผนที่มีอยู่ไม่ถูกปฏิบัติอย่างเต็มที่ เราอยากเห็นการนำกฎหมายและแผนมาใช้ปฏิบัติการจริง ถ้ามันใช้ไม่ได้เราจะได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้จริงๆ โดยการฟ้องในครั้งนี้มีการขอให้ศาลปกครองรับเป็นคดีฉุกเฉินด้วย เพราะสถานการณ์ปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่มีความรุนแรงระดับวิกฤตที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและป้องกันในระยะยาวด้วย

ขณะที่นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ ‘หมอหม่อง’ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และนักอนุรักษ์เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว เปิดเผยว่า ประชาชนในเมืองต้องเจอฝุ่นพิษ PM2.5 ระดับเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมะเร็งปอดชนิด EGFR mutation ที่มักพบในคนไม่สูบบุหรี่ เพิ่มขึ้น 7 เท่า รวมถึงเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมีอายุเฉลี่ยสั้นลง 4 5 ปี เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายจากภาครัฐด้วยเจตจำนงค์ทางการเมืองที่แน่วแน่ ไม่เกรงใจกลุ่มทุน ซึ่งจะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยและรักษาชีวิตคนได้นับล้าน ทั้งนี้ส่วนตัวในฐานะแพทย์ได้แสดงออกและเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหานี้มายาวนานกว่า10ปีแล้ว พร้อมทั้งให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่พิสูจน์แล้วว่าฝุ่นควัน PM2.5นั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลจริงใจและจริงใจในการแก้ไขปัญหานี้ โดยร่วมฟ้องในครั้งนี้พร้อมข้อมูลสนับสนุนทางการแพทย์ ซึ่งคาดหวังว่าศาลจะเข้าใจและรับฟัง

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ทุกคนต้องทนอยู่กับวิกฤตฝุ่นพิษที่เลวร้ายขึ้นทุกปีจนทนไม่ไหวแล้ว อยากเรียกร้องให้รัฐต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อลดมลพิษฝุ่นควันในป่าและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณต่อพรรคการเมืองและรัฐบาลชุดใหม่ว่าต้องให้ความสำคัญและมีนโยบายเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษไม่ควรจะทำเป็นอีเวนท์หรือแบบชั่วครั้งชั่วคราวจบเป็นปีๆ ไป ซึ่งเป็นแบบนี้มานานกว่า 10 ปี แล้ว โดยที่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง ซึ่งสภาลหายใจในฐานะตัวแทนประชาชนต้องการเป็นอีกพลังส่งเสียงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในยุคของเรา เพื่อลูกหลานจะได้ไม่ทุกข์ทรมาน และมีลมหายใจที่สะอาดในอนาคต

สถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 ภาคเหนือยังมีความเข้มข้นสูงต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน และถือได้ว่าเป็นวิกฤตระดับสูงสุด ส่งผลให้มีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษอากาศสะสมแล้วกว่า 2 ล้านคน โดยเฉพาะในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนอย่าง จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอนต้องประสบกับผลกระทบทางสุขภาพจากการรับสัมผัสฝุ่นพิษในระดับที่เป็นอันตราย โดยมีฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไปต่อเนื่องนานนับสัปดาห์ เป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลอย่างร้ายแรงและถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลมายาวนาน

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่