OPINION: เลิกกินสัตว์ป่ายังไม่พอ
ต้องเลิกทำลายป่าด้วย

by The Green Mile

• เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563ทางการเมืองอู่ฮั่นออกคำสั่งห้ามกินเนื้อสัตว์ป่าและมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดี (ที่อาจจะช้าไปสักหน่อย) สำหรับเมืองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

• แต่คำสั่งของอู่ฮั่นมีระยะเวลาดำเนินการแค่ 5 ปีแล้วจะค่อยยทบทวนอีกครั้ง ซึ่งหมายความว่าหลังจากนั้น 5 ปีถ้าเรื่องซาลงแล้ว อู่ฮั่นก็อาจจะกลับมากินเนื้อสัตว์ป่ากันอีก

• การหยุดกินเนื้อสัตว์ป่าไม่ว่าจะถาวรหรือชั่วคราวเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังไม่ดีไม่พอ เพราะมันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ถ้าจะลงไปถึงต้นเหตุของโรคระบาดกันจริงๆ ต้องแก้ที่การหยุดตัดไม้ทำลายป่า

• เมื่อเดือนเมษายน 2563 จากงานวิจัยใหม่ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดแสดงให้เห็นว่าการสูญเสียของป่าเขตร้อนในยูกันดาสามารถทำให้ผู้คนสัมผัสกับสัตว์ป่ามากขึ้นและรวมถึงไวรัสที่อยู่ในสัตว์ป่าด้วย

• ยูกันดาเป็นต้นกำเนิดของไวรัสซิกา (Zika virus) ที่มีพาหะเป็นยุงลาย แต่ต้นทางของไวรัสมาจากป่าที่ชื่อว่า ป่าซิกา (Zika Forest) ที่มียุงชุกชุม และยุงคือพาหะของไวรัสที่ถูกปล่อยออกมาในปี 2550

• ป่าซิกาเป็นป่าที่มีขนาดเล็กแค่ 156 ไร่แต่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากทั้งในแง่พืชและแมลง เป็นที่อยู่อาศัยของยุงประมาณ 40 ชนิด (1)

• ลองคิดเอาว่าป่าที่เล็กๆ ยังมีความสมบูรณ์ขนาดนี้ แต่มันยังเก็บสิ่งมีชีวิตที่มองไม่เห็นเอาไว้มากมาย เมื่อมันถูกคุกคามมันจะปลดปล่อยโรคที่เราไม่รู้จักออกมาด้วย ถ้าเป็นป่าใหญ่อันตรายต้องมากกว่านี้แน่นอน

• ในรายงานล่าสุดภัยคุกคามไม่ใช่ยุง แต่เป็นพวกลิงหรืออันดับวานร (primates) ที่เป็นญาติกับมนุษย์โดยตรง เรื่องนี้คนท้องถิ่นยูกันดาก็ทราบดีว่ามันเป็นพาหะของโรคที่รู้จักกันดี เช่น HIV และตามปกติแล้วผู้คนจะหลีกเลี่ยงลิงป่า

• แต่ตอนนี้มนุษย์กับวานรมาเจอกันบ่อยขึ้น เพราะมนุษย์บุกรุกป่าเพื่อถางเป็นที่ทำกิน แม้ว่าคนจะไม่ล่าลิงมากินหรือเข้าใกล้พวกมันไม่ว่าจะเพราะกลัวโรคหรือกลัวความผิดตามกฎหมายอนุรักษ์ แต่การรุกป่าทำให้คนเข้าไปใกล้พวกมันอย่างเลี่ยงไม่ได้

• นักวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดแนะนำว่าเพื่อป้องกันไวรัสจากสัตว์มาสู่มนุษย์ ควรจะตั้งเขตกันชนขนาดเล็ก เช่น ป่าชุมชนหรือโครงการปลูกป่ารอบๆ ป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อลดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า (1)

• การสร้างแนวกันชนเป็นอะไรที่ยากกว่าการห้ามตัดไม้ทำลายป่าเสียอีก เพราะหมายถึงการสร้างแนว “ป่าเทียม” ขึ้นมาใหม่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชน

• แต่ชุมชนนั่นแหละที่เป็นฝ่ายรุกป่าตั้งแต่แรก ดังนั้นจะต้องเปลี่ยนความคิดของคนในพื้นที่เสียก่อน เช่น ให้พวกเขาตระหนักว่ายิ่งเข้าใกล้ป่าและสัตว์ป่า โรคแบบโควิด-19 จะยิ่งถูกปลดปล่อยออกมามากขึ้น เป็นการใช้ความกลัวให้เป็นประโยชน์

• งานวิจัยนี้เน้นเฉพาะยูกันดา แต่ยังมีอีกหลายป่าที่น่ากลัวกว่านี้ เช่น แอมะซอนที่ไม่ใช่แค่ป่าขนาดใหญ่ แต่ยังเป็นแหล่งกักเก็บไวรัสขนาดใหญ่ด้วยจากคำเตือนของ David Lapola นักนิเวศวิทยาชาวบราซิล

• Lapola เป็นอีกคนหนึ่งที่เตือนว่าการบุกรุกแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์โดยมนุษย์กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ ก็เพราะการตัดไม้ทำลายป่าที่มากขึ้น เขาบอกว่า “เมื่อคุณสร้างความไม่สมดุลทางนิเวศวิทยาขึ้นมา … นั่นคือโอกาสที่ไวรัสจะสามารถกระโดดจากสัตว์สู่มนุษย์” (3)

• ในบราซิลช่วงที่มีการล็อคดาวน์หนีโรคระบาด ปรากฎว่าการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอนเพิ่มขึ้นถึง 51% ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ แต่นี่ยังไม่น่ากลัวเท่ากับแนวโน้มระยะยาว

• ผู้นำคนปัจจุบันของบราซิล คือ Jair Bolsonaro ดูเหมือนจะเป็นศัตรูกับการอนุรักษ์ เมื่อปีที่แล้วตอนที่เขารับตำแหน่งใหม่ๆ ป่าแอมะซอนถูกทำลายเพิ่มขึ้นถึง 85%

• สิ่งที่เกิดขึ้นในยูกันดาและบราซิลเป็นสัญญาณที่น่าวิตกมากกว่าในเมืองจีนเสียอีก เพราะอย่างน้อยอู่ฮั่นก็หยุดกินเนื้อสัตว์ป่า (ชั่วคราว) แต่การทำลายป่าแบบไม่มีวี่แววจะหยุดลงคือการปลดปล่อยโรคระบาดที่เรายังหาทางหยุดยั้งมันไม่ได้

อ้างอิง
1. Wikipedia contributors. (2020, April 14). Zika Forest. In Wikipedia, The Free Encyclopedia. Retrieved 08:48, May 21, 2020, from https://en.wikipedia.org/w/index.php?title=Zika_Forest&oldid=950890675

2. Jordan, Rob. “Stanford researchers show how forest loss leads to spread of disease”. April 8, 2020. Retrived May 21, 2020 From https://news.stanford.edu/2020/04/08/understanding-spread-disease-animals-human/

3. Ramon, Paula. (Agence France-Presse). “Amazon could be next virus hot zone: scientist”. May 14, 2020. Retrived May 21, 2020 From https://www.thejakartapost.com/news/2020/05/14/amazon-could-be-next-virus-hot-zone-scientist-.html

Copyright @2021 – All Right Reserved.