ขบวน #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู รณรงค์หยุดซื้อหยุดขายสัตว์น้ำวัยอ่อน ร้องรัฐรับมือวิกฤตอาหารทะเลไทย

ขบวน #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู จัดกิจกรรมรณรงค์ “ล่องคน ล่องเรือ สามน้ำ จากปัตตานีสู่เจ้าพระยา” โดยออกเดินทางจากปัตตานีสู่รัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือร้องรัฐบาลรับมือวิกฤตอาหารทะเลไทย จะใช้เวลา 11 วันในการเดินทางถึงกรุงเทพฯ เพื่อสื่อสารกับสาธารณะถึงปัญหาการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนและหยุดซื้อหยุดกินปลาตัวเล็กที่นำมาจำหน่ายในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้การจับสัตว์น้ำมีปริมาณน้อยลงและกระทบต่อการประกอบอาชีพของประมงพื้นบ้าน ตลอดจนทำให้คนไทยบริโภคอาหารทะเลที่มีราคาแพง

ทั้งนี้ เป้าหมายจะเข้ายื่นหนังสือกับตัวแทนรัฐบาลให้บังคับใช้กฎหมายควบคุมการจับตัวอ่อนสัตว์น้ำ ซึ่งกิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทยและภาคีเครือข่ายชาวประมง 23 จังหวัด ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 ขบวนแวะทำกิจกรรมกับชุมชนประมงพื้นบ้านที่ จ.สุราษฎร์ธานี

นายวิโชคศักดิ์  รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยว่า สถิติการจับประมงในประเทศไทยปี 2563 พบว่า การทำประมงปัจจุบันจับปลาเป็ด (Trash Fish) หรือปลาขนาดเล็กที่นำไปป่นเป็นอาหารสัตว์จำนวนมากกว่าครึ่ง สะท้อนให้เห็นวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากเป็นการจับลูกสัตว์น้ำวัยอ่อนและตัดตอนระบบนิเวศ เพราะเป็นการเร่งจับทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อนแทนการรักษาให้สัตว์น้ำโตเต็มวันและมีมูลค่าสูงขึ้น

“การกินตัวอ่อนสัตว์น้ำเท่ากับว่าการทำลายอาหารของลูกหลานเราในอนาคตและจริง ๆ แล้วอาหารทะเลไม่จำเป็นต้องราคาแพงแบบทุกวันนี้” นายวิโชคศักดิ์ ระบุ

เขา กล่าวอีกว่า ปลาเป็ดส่วนใหญ่มักจับโดยเครื่องมือประมงพาณิชย์ ขนาดเรือมากกว่า 10 ตันกลอส ปี 2563 ประมงพาณิชย์จับปลาเป็ดได้ทั้งหมด 410,236 ตัน เช่น เครื่องมือประมงอวนลากแผ่นตะเฆ่จับปลาเป็ดได้ราว 100,000 ตันและจับปลาเลย (ปลาที่นำไปบริโภคเป็นอาหาร) เพียง 23,000 ตันเท่านั้น ซึ่งประมงพาณิชย์ในไทยราวหนึ่ง1 หมื่นลำเป็นสัดส่วนน้อยในบรรดาเรือประมงทั้งหมดในไทย

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ทำให้อาหารทะเลไทยราคาแพงโดยไม่จำเป็น เพราะการประมงจับสัตว์น้ำได้จำนวนน้อยลง แถมยังมีขนาดเล็ก เป็นการทำประมงที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ตัดตอนพันธุ์สัตว์น้ำไม่ให้เจริญพันธุ์เป็นขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่า เมื่อปริมาณอาหารทะเลมีคุณภาพน้อยลง ราคาอาหารทะเลจึงสูงขึ้น

ข้อมูลปี 2562 ประเทศไทยมีผลผลิตสัตว์น้ำรวมทั้งสิ้น 1.4 ล้านตัน พบว่า เป็นปลาเป็ด ถึง 23% และมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ปลาทูซึ่งเป็นเมนูอาหารพื้นฐานของคนไทยทุกภาค ในปี 2557 จับได้มากถึง 128,835 ตัน ปี 2558 จับได้ 48,522 ตัน ปี 2561 จับได้ 11,290 ตัน ปี 2562 จับได้ 24,374 ตัน และปัจจุบันจับได้เพียง 18,436 ตัน ซึ่งลดลงต่อเนื่องและทำให้ราคาปลาทูเพิ่มขึ้นสูงหลายเท่า

สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทยและภาคีเครือข่าย จึงร่วมจัดสื่อสารกับสาธารณะถึงปัญหาการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนในไทยและช่องว่างทางกฎหมายประมง โดยจะเดินทางไปยื่นหนังสือกับตัวแทนรัฐบาลที่รัฐสภา กรุงเทพฯ ให้บังคับใช้กฎหมายควบคุมการจับตัวอ่อนสัตว์น้ำอย่างแท้จริง หลังจากมีการกำหนดเพียงคร่าวๆ ใน พ.ร.ก.ประมงปี 2558

สำหรับกิจกรรมระหว่างการเดินทางที่ผ่านมา 4 จุด 1) สมาคมประมงพื้นบ้านสระบัว บริเวณอ่าวท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าชายเลนสำคัญ 2) ชุมชนประมงพื้นบ้านปลายทอน อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ชุมชนประมงที่มีโครงการสร้างกำแพงกันคลื่นแห่งใหม่ 3) เกาะเสร็จ ต.พุมเวียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เกาะที่เป็นแหล่งปล่อยพันธุ์ปูและสัตว์น้ำในทะเลที่สามอำเภอใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์ และสิ้นสุดวันที่ 4) หาดสมบูรณ์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ชุมชนประมงศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้า

#ทวงคืนน้ำพริกปลาทู #ปกป้องสัตว์ทะเลตัวอ่อน #บอกรักทะเลไทย #หยุดจับ_หยุดซื้อ_หยุดขายสัตว์น้ำทะเลวัยอ่อน

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย