ผู้ประกอบการรีไซเคิลผนึกกำลังรัฐ
หยุดรับซื้อทองแดงจากการเผา
ช่วยเพิ่มมูลค่าและลดมลพิษ

by Admin

กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ลงนามบันทึกความร่วมมือ “การไม่รับซื้อวัสดุมีค่าจากการเผาซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” กับภาคีเครือข่ายทั้งภาคราชการ สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมและองค์กรเอกชน และผู้ประกอบการในธุรกิจรับซื้อทองแดงหรือรับซื้อวัสดุมีค่าทั่วประเทศ รวม 118 แห่ง เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประธานในพิธีลงนาม กล่าวว่า ปี 2564 ไทยมีปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นประมาณ 435,000 ตัน ถูกเก็บรวบรวมไปกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 70 ตัน เท่านั้น 

โดยซากผลิตภัณฑ์ที่มีค่าส่วนใหญ่จะถูกขายให้ซาเล้ง รถเร่ หรือร้านรับซื้อของเก่า เพื่อนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ  ที่มีมูลค่าสูง เช่น ทองแดงที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลหรือหลอมเพื่อนำกลับไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ธุรกิจก่อสร้าง เครื่องจักร และยานยนต์ แต่วิธีการได้มาของวัสดุมีค่าเหล่านี้อย่างไม่ถูกต้องเป็นการสร้างปัญหามลพิษอื่นเพิ่มขึ้น 

การลงนามบันทึกความร่วมมือในวันครั้งนี้ ผู้ประกอบการจะร่วมมือไม่รับซื้อวัสดุมีค่าที่มาจากการเผา เริ่มจากผลิตภัณฑ์ทองแดงที่มาจากการเผาสายไฟ เป็นการตัดวงจรการเผาที่ดีที่สุดแทนการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งผู้ประกอบการจะร่วมเป็นหูเป็นตาไม่ให้มีการแอบซื้อ เมื่อร่วมมือกันก็จะไม่มีผู้เผา ส่วนคนเผาก็จะขายไม่ได้ 

ดร.สมไทย วงษ์เจริญ  ประธานบริหารกลุ่ม วงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป กล่าวว่า กลุ่มวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป และสมาคมการค้าผู้ประกอบการรีไซเคิลไทยซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะหยุดรับซื้อทองแดงที่มาจากการเผา ซึ่งก่อนหน้านี้มีปริมาณการรับซื้อ 3,000 ตันต่อปี มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท การถอดแยกซากอย่างถูกต้องแทนการเผาจะได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและราคารับซื้อดีกว่าทองแดงจากการเผาตกกิโลกรัมละ 310 บาท

ทั้งนี้ จะเร่งทำความเข้าใจและติดป้ายหยุดรับซื้อทองแดงจากการเผา และป้ายประกาศไม่รับซื้อทองแดงผิดกฎหมายจากการลักทรัพย์ โดยจะมีสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคดำเนินการตรวจสอบกิจการคู่ขนานกันไป ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเริ่มออกเทศบัญญัติห้ามเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์ 

“อุปสรรคสำคัญในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ คือ กลไกและมาตรการของภาครัฐ โครงสร้างภาษีที่ไม่เอื้อต่อการประกอบกิกจารร้านขายของเก่า โรงงานรีไซเคิล และกฎหมายผังเมืองที่ไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงานรีไซเคิลในเมือง ซึ่งล้าสมัย  และไม่เอื้ออำนวยต่อการรวบรวมจัดส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ หากภาครัฐส่งเสริมภาคเอกชนดำเนินการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มที่ แผ่นดินไทยจะสะอาดปราศจากมลพิษ” ดร.สมไทยระบุ

สำหรับ กลุ่มวงษ์พาณิชย์มีเครือข่ายทั่วประเทศไทย 2,222 ราย  ภาพรวมการรีไซเคิล 2.5 ล้านตันต่อปี  

Copyright @2021 – All Right Reserved.