ปลูกสเต็มเซลล์จากน้องติดโควิด-19
รักษาพี่ป่วยธาลัสซีเมียสำเร็จครั้งแรกของโลก

by IGreen Editor

แพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีประสบความความสำเร็จในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เร่งด่วนจากผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งเป็นน้องชายวัย 5 ขวบ เพื่อนำสเต็มเซลล์ไปช่วยรักษาพี่สาววัย 7 ขวบที่ป่วยโรคธาลัสซีเมียได้สำเร็จครั้งแรกของโลก

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดเผยเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2563 ถึงความสำเร็จในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อย่างเร่งด่วนเคสแรกของโลกจาก ด.ช.ศิลา บุญกล่อมจิตร หรือ น้องจีโอ้ วัย 5 ขวบ ผู้บริจาคไขกระดูกขณะที่ตัวเองติดเชื้อ COVID-19 เพื่อนำไปรักษา ด.ญ.จินตนาการ บุญกล่อมจิตร หรือ น้องจีน พี่สาววัย 7 ขวบ ซึ่งป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่กำเนิด

ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในเด็ก อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เคสนี้มีความท้าทาย และซับซ้อนเป็นอย่างมาก เพราะในวันที่คณะแพทย์จะเก็บสเต็มเซลล์น้องจีโอ้ กลับตรวจพบว่าติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งผู้ป่วยพี่น้องคู่นี้อายุยังน้อยคือ 5 และ 7 ขวบ ทุกขั้นตอนจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ การจัดเก็บสเต็มเซลล์จากไขกระดูกจึงมีความเสี่ยงหลายด้านและขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากน้องจีโอ้ต้องถูกกักโรคและส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ที่เป็นศูนย์ดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 ในขณะที่น้องจีน ยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับมือกับความเสี่ยงขณะปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย ซึ่งเคสนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในโลกสำหรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อย่างเร่งด่วนจากผู้ป่วย COVID-19

“นอกจากความเสี่ยงของเชื้อ COVID-19 แล้ว การทำงานของคณะแพทย์ยังต้องแข่งกับเวลา เนื่องจากน้องจีนได้เข้ากระบวนการเตรียมความพร้อมของร่างกายด้วยการรับเคมีบำบัดหรือคีโมจนครบเรียบร้อยแล้ว ร่างกายจึงมีภูมิคุ้มกันต่ำและเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในเวลานั้น”

คุณหมอสุรเดช กล่าวว่า การจะหาสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคใหม่ให้น้องจีน ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้ในผู้บริจาคที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมมีน้อยมาก คิดเป็นอัตราส่วน 1 ใน 20,000-50,000 คน ซึ่งต้องใช้เวลา ส่วนการตัดต่อยีนไม่สามารถทำได้ สเต็มเซลล์ของน้องจีโอ้จึงเป็นความหวังเดียว ทีมแพทย์ได้ร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบ จนมั่นใจแล้วว่าโอกาสสำเร็จในเคสนี้มีมากกว่าความเสี่ยง จึงตัดสินใจเจาะไขกระดูกเพื่อเก็บสเต็มเซลล์ของน้องจีโอ้

“วินาทีที่ตรวจสเต็มเซลล์ที่ได้ว่าเป็นสเต็มเซลล์ปลอดเชื้อ COVID-19 และการปลูกถ่ายไปยังพี่จีนประสบผลสำเร็จ จึงไม่เพียงเป็นความน่ายินดีที่สามารถช่วยชีวิตคู่พี่น้องได้อย่างปลอดภัย แต่นี่ยังถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการรักษาผู้ป่วยที่น่าภาคภูมิใจของการแพทย์ไทยอีกด้วย” ศ.นพ.สุรเดช กล่าว

รศ.นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ แพทย์ผู้ดำเนินการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด อาจารย์สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรม ที่ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นและถูกทำลายได้ง่าย ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการซีดเหลืองเรื้อรังและมีภาวะแทรกซ้อน นอกจากการรักษาแบบประคับประครองโดยการให้เลือดและยาขับธาตุเหล็ก

นอกจากนี้ ปัจจุบันสามารถรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดได้ ด้วยวิธีการดัดแปลงพันธุกรรมของเซลล์ในร่างกายผู้ป่วยเองหรือการตัดต่อยีน หรือด้วยวิธีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากไขกระดูกของบุคคลอื่นที่มีสุขภาพดีไปยังผู้ป่วย โดยทั้งผู้ให้และผู้รับต้องมีความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อโดยสมบูรณ์ 100% ซึ่งโรงพยาบาลรามาธิบดีประสบความสำเร็จในการรักษาโรคธาลัสซีเมียด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2532

ด้านพ่อของน้องจีโอ้และน้องจีน ระบุว่า น้องจีนป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียและเข้ารับการรักษาอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีมาโดยตลอด จนปลายปี 2561 ผลการตรวจเนื้อเยื่อเนื้อเยื่อตรงกัน จึงตัดสินใจให้น้องจีนเข้ารับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ โดยได้คิวผ่าตัดในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ช่วงใกล้ถึงวันจะได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ กลับได้รับข่าวร้ายเมื่อน้องจีโอ้ติดเชื้อ COVID-19 ภรรยาก็ติดเชื้อด้วย ทุกคนจำเป็นต้องแยกจากกันในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด

พ่อของน้องจีน กล่าวอีกว่า ทีมแพทย์ให้ความเชื่อมั่นว่าการผ่าตัดมีโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จ อีกทั้งน้องจีโอ้ และคุณแม่ก็อยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ที่เป็นศูนย์ในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 โดยทางมูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน ซึ่งช่วยแบ่งเบาครอบครัวได้เยอะมาก

อ้างอิง: https://www.facebook.com/ThaiPBSFa6n/posts/1016420177470085ขอบคุณภาพ: โรงพยาบาลรามาธิบดี

Copyright @2021 – All Right Reserved.