บิลล์ เกตส์ จัดให้สตาร์ทอัป ผลิต ‘เนย’ จากคาร์บอน ไม่ต้องเลี้ยงสัตว์

by Chetbakers

การทำฟาร์มในภาคเกษตรทำให้เกิดก๊าซมีเทนจำนวนมหาศาลต่อปี ล่าสุดสตาร์ทอัปสามารถคิดค้น “เนย” ที่ผลิตจาก “ก๊าซคาร์บอน” โดยไม่ต้องเลี้ยงวัว

Savor สตาร์ทอัปจากสหรัฐต้องการแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พวกเขาประกาศผ่านเว็บไซต์บริษัทว่า “สร้างสรรค์อาหารรสชาติแสนอร่อยโดยไม่ต้องใช้สัตว์ พื้นที่เพาะปลูก ปุ๋ย ฮอร์โมน หรือยาปฏิชีวนะ แต่ไขมัน (ที่คิดค้น) เหล่านี้เป็นไขมันจริง ไม่ใช่สารทดแทน โดยใช้กระบวนการปิโตรเคมีที่เรียกว่า การสังเคราะห์ Fischer-Tropsch ซึ่งสามารถเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และถ่านหินให้กลายเป็นไฮโดรคาร์บอนสำหรับการผลิตสเปรดทาขนมปังที่มีไขมันคล้ายกับ “เนย”

 

วิธีการนี้ใช้เพียงคาร์บอนไดออกไซด์ ความร้อน ไฮโดรเจน และออกซิเจนเท่านั้น โดยจะดึงคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ และดึงไฮโดรเจนออกจากน้ำ จากนั้นให้ความร้อนและออกซิไดซ์ให้กลายเป็นไขมัน เพียงแค่นี้ก็ได้เนยทาขนมปังอร่อยๆ กินโดยไม่ปล่อยมลพิษ

 

บิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์

 

นั่นเท่ากับว่าถ้าโปรเจกต์นี้สำเร็จ โลกก็จะมีการผลิตภัณฑ์ “เนย ที่มาจากอากาศแทนเนยจากวัว? สตาร์ทอัปจากแคลิฟอร์เนียอ้างว่า พวกเขาได้คิดค้นกระบวนการอันซับซ้อนที่ช่วยลดความจำเป็นในการใช้สัตว์ ขณะเดียวกันก็ทำให้ได้เนยทางเลือกที่ไม่ใช่นมวัว แต่มีรสชาติดีเหมือนเดิม

Savor ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บิลล์ เกตส์ มหาเศรษฐีจาก Microsoft ทดลองสร้างทางเลือกที่ปราศจากผลิตภัณฑ์จากนมที่ใช้ทำไอศกรีม ชีส และนม ซึ่งจะเป็นการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมที่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่มนุษย์เป็นผู้ก่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากการผลิตปศุสัตว์เป็นแหล่งก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ

Savor ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ “เนยรักษ์โลก” ของบริษัทจะมีปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์มาก อาจมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่า 0.8 กรัมต่อแคลอรี่ จากที่เนยจืดมีไขมัน 80% มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 2.4 กรัมต่อแคลอรี่

“ขณะนี้เราอยู่ในช่วงก่อนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์และกำลังขออนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อจะสามารถขายเนยของเราได้ คาดว่าจะสามารถขายได้ในปี 2025 เป็นอย่างน้อย” Kathleen Alexander ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Savor กล่าว

คำถามในตอนนี้คือ ผู้ซื้อจะยอมรับไขมันสังเคราะห์ดังกล่าวหรือไม่ การทำให้ผู้คนเลิกผลิตภัณฑ์นมและเนื้อสัตว์ที่เคยชื่นชอบและหันมาบริโภคเลือกทานอาหารทางเลือกที่แปลกใหม่มากขึ้นอาจเป็นเรื่องท้าทาย

บิลล์ เกตส์ เขียนในบล็อกว่า “แนวคิดในการเปลี่ยนไปใช้ไขมันและน้ำมันที่ผลิตในห้องแล็ปอาจดูแปลกในตอนแรก แต่ไขมันและน้ำมันเหล่านี้มีศักยภาพมหาศาลในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมาก ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและกระบวนการที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว เราก้าวเข้าใกล้เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของเราไปอีกขั้นหนึ่ง

“กระบวนการนี้ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกและใช้น้ำน้อยกว่าเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมถึงหนึ่งในพันส่วน และที่สำคัญที่สุดคือมีรสชาติดีเหมือนของจริง เพราะมีคุณสมบัติทางเคมี”

ตามข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) อุตสาหกรรมปศุสัตว์ซึ่งครอบคลุมฟาร์มโคนมและเนื้อสัตว์ทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 14.5 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ต่อให้ไม่มีการเลี้ยงวัวก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีผลิตภัณฑ์จากนมให้บริโภค เพราะปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์นมทางเลือกมากมายในท้องตลาด เช่น เนยเทียม ซึ่งผลิตจากน้ำมันพืชผสมกัน แต่พืชเหล่านี้ต้องใช้ที่ดินและทรัพยากรในการเจริญเติบโต ซึ่งอาจทำให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าเดิม

หนึ่งในนั้นคือ ปาล์มน้ำมันที่นำมาผลิตน้ำมันปาล์ม ส่วนประกอบสำคัญที่อยู่ในทุกสิ่ง ตั้งแต่อาหาร ผลิตภัณฑ์ความงาม ไปจนถึงเชื้อเพลิงชีวภาพ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด แม้ว่าอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ก็ยังคงมีหลายพื้นที่ในโลกที่มีการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อนำไปปลูกปาล์มจนเกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

Savor กล่าวว่า เนยของพวกเขาดีกว่าเนยทั่วไปและเนยเทียม เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้พืช สัตว์ หรือสารเคมีที่ใช้ทำเนย มาการีน และผลิตภัณฑ์ไขมันอื่นๆ

จากข้อมูลของ Pitchbook ผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกที่ครอบคลุมตลาดทุนทั่วโลก ระบุว่า ในปัจจุบัน Savor ได้ระดมทุนมากกว่า 33 ล้านดอลลาร์จาก BEV และบริษัทธุรกิจเงินร่วมลงทุนอื่น ๆ เช่น Climate Capital และ CPT Capital

อ้างอิง:
July 9, 2024 . ‘Butter’ made from CO2 could pave the way for food without farming By Madeleine Cuff, Newscientist
Jul 9, 2024 . This Bill Gates-Backed Startup Is Making ‘Butter’ From CO2 Instead of Cows . By Chloe Aiello, Inc
Jul 18, 2024 . Bill Gates-Backed Startup Creates Butter from Thin Air Without Animal Suffering . Socialmediadissect

Copyright @2021 – All Right Reserved.