‘อัมสเตอร์ดัม’ ต้นแบบเมืองฟองน้ำ จีนเร่งสร้างรับมือโลกรวนรุนแรง

การสร้าง “เมืองฟองน้ำ” เป็นแนวทางหนึ่งในการกักเก็บน้ำไว้บนหลังคาและแหล่งซับน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งมีต้นแแบอยู่เมืองอัมสเตอร์ดัม และจีนกำลังสร้างบ้าง แต่ยังไม่สำเร็จ

ถ้าจะกล่าวว่าประเทศไหนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากก็ต้องรับกรรมกันไป ก็อาจเป็นการด่วนสรุปที่มีทั้งถูกแล้ว สมควรแล้ว และไม่ถูกเสียทีเดียว นั่นเพราะผู้ปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากๆ ของประเทศใดประเทศหนึ่งมักมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป เช่น กรณีจีนปล่อยก๊าซมากที่สุดในโลก ถ้าจะกล่าวโทษว่าสมควรแล้วที่จีนเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ถือเป็นคำกล่าวที่ไม่เห็นอกเห็นใจประชาชนชาวจีนที่ต้องมาแบกรับความเสียหายจากนโยบายของรัฐบาลจีนหรือเมืองที่มุ่งขับเคลื่อนการการพัฒนาโดยมองข้ามความยั่งยืน

ตัวอย่างการจัดการเมืองฟองน้ำ (Sponge Cities) ที่ “อัมสเตอร์ดัม” น่าสนใจ โดยมีการสร้างพื้นที่ที่สามารถซึมซับน้ำได้ เช่น หลังคาสีเขียว, สวนรับน้ำฝน และระบบการระบายน้ำที่ปรับปรุงใหม่ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองได้

อัมสเตอร์ดัมมีหลังคาแบบ “น้ำเงิน-เขียว” รวมพื้นที่ 45,000 ตารางเมตร ซึ่งสามารถซึมซับน้ำฝนและให้น้ำที่เก็บได้ถูกนำมาใช้โดยผู้อยู่อาศัยในอาคารสำหรับรดน้ำต้นไม้และกดชักโครก นั่นหมายความว่าเนเธอร์แลนด์ไม่ได้มีแค่คลองของเมืองให้ชมเท่านั้น บนหลังคาก็มีสิ่งมหัศจรรย์อีกด้วย

ทั่วโลกมีหลังคาสีเขียวที่งดงามในลักษณะนี้ปรากฏขึ้นมากมาย โดยมีพืชพันธุ์ที่คัดสรรมาเป็นพิเศษเจริญเติบโตบนโครงสร้างที่ออกแบบมาเพื่อรองรับน้ำหนักของมวลชีวภาพ แต่อัมสเตอร์ดัมได้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการสร้างหลังคาน้ำเงิน-เขียวที่ออกแบบมาเพื่อเก็บกักน้ำฝน

โครงการหนึ่งที่มีชื่อว่า Resilio ซึ่งเป็นเครือข่ายของหลังคาที่ชาญฉลาดและปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศได้ดี ได้ครอบคลุมหลังคาอาคารในอัมสเตอร์ดัมกว่า 9,000 ตารางเมตร และ 8,000 ตารางเมตรในอาคารที่อยู่อาศัย ทั้งเมืองจึงมีพื้นที่หลังคาน้ำเงิน-เขียวขนาดใหญ่มากกว่า 45,000 ตารางเมตร

แนวคิด “เมืองฟองน้ำ” กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น นักวางผังเมืองจัดทำพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติมเพื่อซึมซับฝนที่ตกหนักขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากโลกร้อนขึ้น ซึ่งไม่เพียงช่วยลดน้ำท่วม แต่ยังช่วยเติมชั้นหินซับน้ำข้างใต้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในยามจำเป็น ในขณะที่เมืองต่างๆ เคยถูกออกแบบมาเพื่อระบายน้ำฝนออกไปให้เร็วที่สุด แต่ปัจจุบันเมืองต่างๆ กำลังใช้ประโยชน์จากทรัพยากรนี้มากขึ้น

ความท้าทายใหญ่ของเมืองฟองน้ำในอัมสเตอร์ดัมคือพื้นที่ในเมืองส่วนใหญ่เป็นหลังคาสีเขียวสามารถดูดซับน้ำฝนบางส่วนเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่พืช แต่หลังคาน้ำเงิน-เขียวก้าวไปอีกขั้น โดยมีโครงสร้างที่รวบรวมน้ำ, เก็บน้ำ และแจกจ่ายน้ำให้กับผู้อยู่อาศัยในอาคารสำหรับการรดน้ำต้นไม้และกดชักโครก

ระบบนี้ทำงานในหลายชั้น ที่ผิวดินจะมีพืชต่างๆ เช่น มอส, พุ่มไม้, หญ้า, เฟิร์น, สมุนไพร และซิดัม ซึ่งเป็นพืชที่ทนทานและเป็นส่วนสำคัญของหลังคาสีเขียว ใต้ดินเป็นชั้นกรอง ซึ่งป้องกันไม่ให้ดินเข้าไปในชั้นถัดไป สุดท้ายคือชั้นเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำและรากพืชซึมเข้าไปในหลังคาจริง

ระดับน้ำในหลังคาน้ำเงิน-เขียวจะถูกจัดการโดยวาล์วอัจฉริยะ หากพยากรณ์อากาศบอกว่าจะมีพายุ ระบบจะปล่อยน้ำที่เก็บไว้จากหลังคาล่วงหน้า เมื่อฝนตกหนัก น้ำฝนจะถูกเติมกลับเข้าไปในหลังคา หมายความว่าน้ำฝนที่ไหลเข้าสู่รางน้ำและท่อระบายน้ำในพื้นที่รอบข้างจะลดลง กล่าวอีกนัยหนึ่ง หลังคาจะกลายเป็นฟองน้ำที่สามารถซับและบีบน้ำออกได้ตามต้องการ

เมื่อราว 10 ปีมานี้จีนเริ่มสร้างเมืองฟองน้ำ (Sponge Cities) บ้าง เพราะต้องจัดการกับน้ำท่วมในเมืองใหญ่ๆ โดยเน้นการสร้างในพื้นที่ในเมืองที่สามารถเก็บกักน้ำฝนได้มาก เช่น สวนสาธารณะ, ถนนที่ซึมซับน้ำ, และแอ่งน้ำธรรมชาติ แนวคิดนี้ช่วยให้เมืองสามารถจัดการกับน้ำฝนได้ดีขึ้น ลดการเกิดน้ำท่วมและการระบายได้รวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดเมืองฟองน้ำจะเป็นเรื่องที่ดี แต่การนำไปใช้ในประเทศจีนยังมีข้อจำกัดและปัญหาหลายประการ เช่น การออกแบบและการก่อสร้างที่ไม่ครอบคลุม เมืองฟองน้ำหลายแห่งในจีนถูกสร้างขึ้นโดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพภูมิอากาศและความซับซ้อนของระบบน้ำในพื้นที่นั้นๆ ทำให้การจัดการน้ำฝนไม่สามารถทำงานได้เต็มที่

ที่สำคัญกหกว่านั้นคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน ทำให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าปกติ ซึ่งเกินกว่าที่ระบบเมืองฟองน้ำจะสามารถจัดการได้ ขณะเดียวกันเมืองฟองน้ำต้องการการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ระบบอาจเสื่อมสภาพและทำให้ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และเป็นที่เข้าใจกันว่าเมืองนั้นมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง หากผู้บริหารเมืองไม่ใมีวิสัยทัศน์์ด้านความยั่งยืน ไม่มีการวางแผนที่ดีจะทำให้ระบบเมืองฟองน้ำไม่สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ที่มีการพัฒนาได้

ด้วยปัญหาเหล่านี้ ทำให้แม้ว่าแนวคิดของเมืองฟองน้ำจะมีประสิทธิภาพในการจัดการน้ำฝน แต่เมื่อถูกนำไปใช้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ก็อาจจะไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จีนถูกน้ำท่วมอย่างหนัก ส่งผลให้เมืองต่างๆ จมอยู่ใต้น้ำ มีผู้คนเสียชีวิตและความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ยังเกิดคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของโครงการ “เมืองฟองน้ำ” ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2015 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมในเขตเมือง

โครงการนี้ถูกริเริ่มขึ้นเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นต่อการเกิดน้ำท่วมในเมืองใหญ่ๆ และเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำฝนให้ดียิ่งขึ้นผ่านการปรับปรุงด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เมืองต่างๆ ยังคงเปราะบางต่อฝนตกหนัก ในเดือน ก.ค. 2023 ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่และภัยพิบัติในจีนทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหาย 142 ราย ทำลายบ้านเรือน 2,300 หลัง และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยตรงถึง 15.78 พันล้านหยวน (2.19 พันล้านดอลลาร์) และเดือนเดียวกันนี้ในปี 2024 ก็เกิดนำท่วมใหญ่ในจีนครั้งใหญ่และดูเหมือนจะรุนแรงมากกว่าปีก่อนหน้า

คำถามคือ เมืองฟองน้ำ ไม่มีประสิทธิภาพในการรับมือน้ำท่วมได้ใช่หรือไม่
ความจริงแล้วจีนพยายามปรับปรุงวิธีการจัดการกับสภาพอากาศที่รุนแรงมาเป็นเวลานาน และต้องการทำให้เมืองที่มีประชากรหนาแน่นมีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมและภัยแล้งน้อยลง

โครงการ “เมืองฟองน้ำ” ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มการใช้ “โซลูชันที่อิงธรรมชาติ” ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง เพื่อจัดการน้ำให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงปรับปรุงระบบระบายน้ำและการกักเก็บน้ำ
โซลูชันเหล่านี้รวมถึงการใช้แอสฟัลต์ที่ซึมซับน้ำได้ การสร้างคลองและบ่อเก็บน้ำใหม่ๆ รวมถึงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งไม่เพียงช่วยลดการเกิดน้ำขัง แต่ยังช่วยปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในเมืองอีกด้วย

การพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วทำให้พื้นที่กว้างใหญ่ถูกปกคลุมด้วยคอนกรีตที่ไม่สามารถซึมซับน้ำได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำสายหลักที่เคยทำหน้าที่เป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วมตามธรรมชาติ เมื่อพื้นที่ชุ่มน้ำถูกปูทับด้วยคอนกรีตและไม่มีที่ให้น้ำส่วนเกินระบายออก การเกิดน้ำขังและน้ำท่วมจึงกลายเป็นเรื่องปกติ (กรุงเทพฯก็กำลังตกอยู่ในสภาพเดียวกันนี้)

จากข้อมูลในปี 2018 เมืองใหญ่และขนาดกลางในจีน 641 เมือง จากทั้งหมด 654 เมืองยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมและน้ำขัง โดย 180 เมืองเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมทุกปี

งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า โครงการเมืองฟองน้ำนำร่องในพื้นที่หลายแห่งที่เปิดตัวไปแล้วมีผลในเชิงบวก โดยโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ เช่น หลังคาสีเขียวและสวนรับน้ำฝน สามารถลดปริมาณน้ำที่ไหลบ่าได้

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในระดับท้องถิ่นยังคงไม่สม่ำเสมอ มีการคัดเลือกเมืองฟองน้ำนำร่องจำนวน 30 เมืองในปี 2015 และ 2016 แต่จนถึงปี 2022 มีเพียง 64 เมืองจาก 654 เมืองในจีนเท่านั้นที่ออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้แนวทางของเมืองฟองน้ำ

เจิ้งโจวในมณฑลเหอหนานเป็นหนึ่งในเมืองที่เป็นผู้นำในการก่อสร้างเมืองฟองน้ำอย่างกระตือรือร้น โดยจัดสรรงบประมาณเกือบ 60,000 ล้านหยวนให้กับโครงการตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2021 แต่เมืองนี้ก็ไม่สามารถรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ของตนเองในปี 2021 ได้

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าโครงสร้างพื้นฐานของเมืองฟองน้ำสามารถรองรับปริมาณฝนได้ไม่เกิน 200 มิลลิเมตรต่อวันเท่านั้น ในช่วงพายุฝนที่กระหน่ำกรุงปักกิ่งเมื่อปลายเดือน ก.ค. 2023 ปริมาณฝนที่สถานีหนึ่งวัดได้สูงถึง 745 มิลลิเมตรในช่วงสามวันครึ่ง และในเดือน ก.ค. 2021 เจิ้งโจวฝนตกเกิน 200 มิลลิเมตรภายในเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง

นี่คือบทเรียนจากภาวะโลกรวนที่จีนต้องเร่งรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฝนตกหนักในปีนี้กระทบเมืองต่างๆ

อ้างอิง:
May 02, 2024 . ‘On every roof something is possible’: how sponge cities could change the way we handle rain . The Guardian
Aug 10, 2023 . What are China’s ‘sponge cities’ and why aren’t they stopping floods? By David Stanway . Reuter
เครดิตภาพ: urbanisten

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่