เมื่อวันพุธที่ผ่านมาเยาวชนทั้ง 6 คน ได้เผชิญหน้ากับทีมกฎหมายจาก 32 ประเทศ ในศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป หลังยื่นฟ้องกลุ่มประเทศดังกล่าวล้มเหลวในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของผู้เรียกร้อง
เยาวชนทั้ง 6 คนมีอายุระหว่าง 11 ถึง 24 ปี และทั้งหมดมาจากโปรตุเกส ได้ยื่นฟ้องดำเนินคดี 27 ประเทศในสหภาพยุโรป รวมถึงนอร์เวย์ รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี และสหราชอาณาจักร ในเดือนกันยายน 2020 ด้วยข้อหาล้มเหลวการจัดการกับภาวะโลกร้อนที่เกิดจากมนุษย์อย่างเพียงพอ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการของโจทก์ และขอให้ศาลบังคับให้ประเทศเหล่านี้เร่งดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงบังคับให้บริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ภายในขอบเขตของกลุ่มประเทศดังกล่าวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งอุปทานทั้งหมดของห่วงโซ่
คดีนี้เกี่ยวข้องกับมาตรา 2, 3, 18 และ 14 ตามอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบหรือสุขภาพของมนุษย์”
คาทารินา โมตา หนึ่งในกลุ่มเยาวชนผู้เรียกร้องให้สัมภาษณ์ CNN ระบุว่าจุดเริ่มของการฟ้องร้องเกิดจากไฟป่าที่เกิดขึ้นที่โปรตุเกสในปี 2017 ลุกลามไปกว่า 125,000 ไร่ และคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 100 คนในปีนั้น ขณะที่ไฟลุกลามไปยังที่ที่คาทารินาอาศัยอยู่ โรงเรียนของเธอและคนอื่นๆ ในพื้นที่ก็ถูกปิด ควันมีอยู่ทุกที่
แม้ว่าคำกล่าวอ้างนี้เกิดจากเหตุไฟป่า แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่นความร้อนที่รุนแรงซึ่งโปรตุเกสต้องเผชิญอยู่เป็นประจำ ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้เกิดคลื่นความร้อนและไฟป่า กระทบต่อชีวิตและสุขภาพของโจทก์ ถือเป็นคดีด้านสภาพภูมิอากาศคดีแรกที่ยื่นต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป และเป็นคดีที่ใหญ่ที่สุดในคดีด้านสภาพอากาศ 3 คดีที่ศาลกำลังพิจารณาอยู่
ก่อนพิจารณาคดี ทุกประเทศได้ยื่นเพิกถอนข้อกล่าวหา และทีมกฎหมายประจำสหราชอาณาจักรยังเสริมอีกว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวอยู่นอกขอบเขตอำนาจศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป โดยเชื่อมั่นว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ เข้าใจถึงภัยคุกคามของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมุ่งมั่นที่จะร่วมกันจัดการผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ
ทีมกฎหมายของโปรตุเกสยื่นหลักฐานต่อศาลแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่โจทก์ไม่สามารถแสดงหลักฐานที่ประจักษ์ได้ถึงผลกระทบโดยตรงต่อพวกเขา
ทีมกฎหมายของกรีซ ซึ่งเป็นประเทศที่เพิ่งเผชิญกับความร้อน ไฟป่าและพายุในฤดูร้อนที่ผ่านมา ตอบโต้ว่า “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังที่บันทึกไว้จนถึงขณะนี้ ดูเหมือนจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์
กลุ่มเยาวชนกล่าวว่าช่วงเวลาเหล่านี้ทำให้ยากต่อการออกไปข้างนอก ยากต่อการมีสมาธิกับการเรียน การนอนหลับ และสำหรับบางคนก็ยากแม้กระทั่งหายใจ นอกเหนือจากนี้ผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพวกเขาอีกด้วย
คลอเดีย อากอสตินโญ ปัจจุบันอายุ 24 ปี กล่าวว่าเธอคงรู้สึกหวาดกลัวเหตุเพลิงไหม้ในปี 2017 และยังคงรู้สึกอยู่ ในขณะที่มาเรียน่าน้องสาววัย 11 ปี จะรู้สึกหวาดกลัวเมื่อได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์ เพราะมันทำให้เธอนึกถึงเหตุการณ์ไฟป่าที่เลวร้ายครั้งนั้น
สำหรับคดีนี้คาดว่าศาลจะมีการพิจารณาคดีในครึ่งปีของปี 2024 ซึ่งศาลอาจยกฟ้อง หรือตัดสินว่าไม่มีอำนาจพิจารณาคดี หากเป็นเช่นนั้นจะเท่ากับยอมรับว่ารัฐ (State) ไม่มีพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“นั่นอาจสร้างความเสียหายอย่างมากต่อกรณีอื่นๆ ที่คล้ายกัน” ไมเคิล บี. เจอร์ราร์ด ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายซาบินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แห่งโรงเรียนกฎหมายโคลัมเบีย กล่าวกับ CNN
หรือถ้าศาลตัดสินเห็นชอบตามโจทก์เรียกร้อง คำตัดสินจะทำหน้าที่เหมือนสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และบังคับให้ทั้ง 32 ประเทศเร่งดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ
“นี่อาจเป็นการตัดสินใจที่สำคัญยิ่ง ที่จะผลักดันให้เกิดการเรียกร้องในกรณีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วยุโรป และบางทีอาจจะเป็นภูมิภาคอื่นๆ อีกมาก” เจอร์ราร์ดกล่าว
อ่านที่มา: เยาวชนฟ้องศาลยุโรป 32 ประเทศเบี้ยวลดปล่อยก๊าซตามเป้าหมาย
ที่มา
- Sept 27, 2023. ‘Truly a David and Goliath case’: Six young people take 32 countries to court in unprecedented case. CNN
- Sept 27, 2023. Girl, 11, among six young people taking on 32 nations in historic climate case. The Guardian
- Sept 27, 2023. In a Landmark Case, 6 Young Climate Activists Take on 32 European Countries. Time
- Sept 27, 2023. Six young people suing 32 countries in ‘unprecedented’ climate action lawsuit. Independent