โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน

พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นขยะที่มีจำนวนมาก กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะไหลไปกองรวมกันในมหาสมุทร ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของมนุษย์

ทุกคนรู้ดีว่าพลาสติกมีประโยชน์มากมาย แต่โทษของมันก็มากมายเกินจะบรรยาย โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastics) ที่มีจำนวนมาก และได้ออกเดินทางไปทั่วโลก โดยเฉพาะไหลไปกองรวมกันในมหาสมุทร ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพของมนุษย์

รู้หรือไม่ว่า ในทุกนาทีขวดพลาสติกจะถูกซื้อจากผู้บริโภคในรูปของบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มและอื่นๆ ทั่วโลก 1 ล้านขวด ในขณะที่ถุงพลาสติกถูกใช้ไปทั่วโลกมากถึง 5 ล้านล้านใบทุกปี และพลาสติกที่ผลิตออกมาส่วนใหญ่กลับใช้งานครั้งเดียว

ปัจจุบันเราผลิตขยะพลาสติกประมาณ 400 ล้านตันทุกปี ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 อัตราการผลิตพลาสติกเติบโตเร็วกว่าวัสดุอื่นๆ โดยคาดว่าการผลิตพลาสติกทั่วโลกจะสูงถึง 1,100 ล้านตันภายในปี 2050 โดยพลาสติกที่ถูกผลิตออกมาประมาณร้อยละ 36 ถูกใช้ในบรรจุภัณฑ์ และพลาสติกใช้ครั้งเดียว ทั้งหมดนี้ประมาณร้อยละ 85 ลงเอยในหลุมฝังกลบหรือเป็นขยะที่ไม่ได้รับการควบคุม

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวประมาณ 98% ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล คาดว่าระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การใช้ และการกำจัดพลาสติกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเดิมจะเพิ่มขึ้นเป็น 19% ของงบประมาณคาร์บอนทั่วโลกภายในปี 2040

ที่น่าตกใจก็คือปริมาณขยะพลาสติก 7,000 ล้านตันที่เกิดขึ้นทั่วโลกจนถึงปัจจุบันมีการนำกลับมารีไซเคิลเพียงไม่ถึง 10% แต่ขยะพลาสติกนับล้านตันกลับเล็ดลอดสู่สิ่งแวดล้อม และส่วนใหญ่ถูกเผาหรือทิ้ง มูลค่าของขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สูญเสียไปในแต่ละปีระหว่างการคัดแยกและแปรรูปเพียงอย่างเดียวมีมูลค่า 80,000-120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในจำนวนขยะพลาสติกเหล่านี้พบว่า ก้นบุหรี่ซึ่งมีไส้กรองพลาสติกขนาดเล็กเป็นขยะพลาสติกที่พบได้บ่อยที่สุดในสิ่งแวดล้อม รองลงมาคือ บรรจุภัณฑ์อาหาร ขวดพลาสติก ฝาขวดพลาสติก ถุงพลาสติกใส่ของชำ หลอดพลาสติก และไม้คน หลายคนใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทุกวันโดยไม่ได้คิดว่ามันจะไปลงเอยที่ไหน

แม่น้ำและทะเลสาบพัดพาขยะพลาสติกออกสู่ทะเล และทำให้เป็นสาเหตุหลักของมลภาวะทางทะเล คาดว่าปัจจุบันมีขยะพลาสติกอยู่ในมหาสมุทรราว 75 – 199 ล้านตัน หากเราไม่เปลี่ยนวิธีการผลิต การใช้ และการกำจัด ปริมาณขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ระบบนิเวศทางน้ำอาจเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจาก 9 ถึง 14 ล้านตันต่อปีในปี 2016 เป็น 23 – 37 ล้านตันต่อปีภายในปี 2040

ขยะส่วนใหญ่มาจากแม่น้ำทั่วโลก โดยคาดว่ามีแม่น้ำประมาณ 1,000 สายที่มีส่วนนำขยะพลาสติกในแม่น้ำลงสู่มหาสมุทรเกือบร้อยละ 80 ต่อปีทั่วโลก ซึ่งมีปริมาณอยู่ระหว่าง 0.8 – 2.7 ล้านตันต่อปี โดยแม่น้ำสายเล็กในเมืองจัดเป็นแม่น้ำที่มีมลพิษมากที่สุด

ญี่ปุ่นถือเป็นผู้ผลิตขยะพลาสติกรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ขวดพลาสติกในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 23,200 ล้านขวดต่อปีจาก 14,000 ล้านขวดในปี 2004 แม้ว่าประเทศจะมีเทคโนโลยีรีไซเคิลขั้นสูง แต่ขวดประมาณ 2,600 ล้านขวดถูกเผา ฝังกลบ หรือเล็ดลอดลงแหล่งน้ำและมหาสมุทรทุกปี

จะว่าไปแล้วปัญหาขยะพลาสติกแพร่ระบาดไปทั่วเอเชีย แม้กระทั่งในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจที่สามารถนำเข้าสินค้ากันง่ายขึ้น

ในปี 2019 เอเชียผลิตพลาสติก 54% ของโลก นำโดยจีนและญี่ปุ่น ขยะพลาสติกประมาณครึ่งหนึ่งที่พบในมหาสมุทรมาจากแค่ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ในที่สุดพลาสติกเหล่านี้จะสลายตัวเป็นอนุภาคขนาดเล็กที่ไม่สามารถย่อยสลายได้หรือไมโครพลาสติก ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ป่าและสุขภาพของมนุษย์

ปัญหาที่ตามมาอีกก็คือเมื่อญี่ปุ่นจัดการขยะพลาสติดไม่ไหวก็ส่งออกขยะเหล่านี้ไปโลกที่สาม โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2020 ญี่ปุ่นส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย ไทย และไต้หวัน จำนวน 820,000 ตัน คิดเป็นประมาณ 46% ของทั้งหมด

ญี่ปุ่นอยู่อันดับสองของโลก รองจากเยอรมนีในด้านการจัดการพลาสติก โดยมีอัตราการรีไซเคิลพลาสติกมากกว่า 85% ซึ่งดูเกินจริงมาก ตามข้อมูลของสถาบันการจัดการขยะพลาสติกกรุงโตเกียว ในปี 2020 ขยะพลาสติกเพียง 21% ในขยะจำนวนนี้ 8% ถูกเผา 6% ถูกฝังกลบ 63% ได้รับการรีไซเคิลด้วยความร้อน

อีกประเทศที่สามารถจัดการขยะได้อย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือไต้หวัน ในปี 2018 ชาวไต้หวันโดยเฉลี่ยผลิตขยะ 850 กรัมต่อวัน ซึ่งลดลงจาก 1.20 กิโลกรัม เมื่อ 15 ปีก่อน สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรปได้รายงานโควตาการรีไซเคิลของไต้หวันระหว่างปี 2001 ถึง 2016 จาก 12% เป็น 55% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากเป็นอันดับสามในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา รองจากเยอรมนีและเวลส์ โดยไต้หวันติดอันดับ 5 ด้วยอัตราการรีไซเคิล 58% และอยู่ในอันดับ 2 ของอัตราการรีไซเคิลขยะครัวเรือนด้วยอัตราการรีไซเคิล 55.4%

อ้างอิง:
Our planet is choking on plastic, UNEP
Aug 25, 2022 . Quitting single-use plastic in Japan, BBC
Taiwan: Counting firmly on Circular Economy, Global Recycling

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย