10 ปี สิงห์อาสาสร้างฝายลำห้วยดอยอินทรีย์ฟื้นฟูระบบนิเวศและแนวกันไฟธรรมชาติ

เช้าวันหนึ่งในเดือนมีนาคม รถขับเคลื่อนสี่ล้อไต่ระดับความสูงไปตามเส้นทางสายเล็ก ๆ มุ่งหน้าขึ้นสู่ใจกลางดอยอินทรีย์ ตำบลดอยฮาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สองข้างทางที่รถเคลื่อนผ่าน ในอดีตเคยเป็นป่าเสื่อมโทรมจากการบุกรุกและแผ้วถางที่เพื่อทำการเกษตร แต่เวลาผ่านไปกว่า 10 ปี เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมไปถึงวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ และประชาชนในพื้นที่ก็ได้ช่วยทำให้ป่าบริเวณนี้ค่อย ๆ กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

ห้วยแม่ต่าง หนึ่งในลำห้วยธรรมชาติบนดอยอินทรีย์มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ในฐานะต้นน้ำแหล่งกำเนิดความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า ตลอดจนช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้อุปโภคบริโภค ก่อนที่น้ำจากห้วยจะไหลลงสู่แม่น้ำกกซึ่งเป็นดั่งเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจของพื้นที่จังหวัดเชียงราย

มานพ รอดแก้ว

มานพ รอดแก้ว นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยหมากเลี่ยม สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) เล่าถึงการปลูกป่า และฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในช่วงที่ผ่านมาว่า เป็นการช่วยให้ธรรมชาติฟื้นตัวเร็วขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นป่าก็ยังขาดความชุ่มชื้นอยู่ จึงจำเป็นต้องสร้างฝายขึ้น เพื่อชะลอน้ำและดักตะกอน หรือการสร้างฝายต้นน้ำหรือฝายแม้ว

ฝายที่ว่านี้สร้างกั้นทางเดินของน้ำในลำห้วยเพื่อชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงและสามารถกักตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมปลายน้ำตอนล่าง เป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำ ทำให้น้ำลงไปเก็บสะสมอยู่ในดิน ไหลระบายจากดินสู่ลำห้วย มีน้ำไหลทุกฤดูกาลตลอดปี ช่วยให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตลุ่มน้ำได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง

“นอกจากนั้นแล้วการสร้างฝายยังมีส่วนช่วยแก้ปัญหาไฟป่า ถ้าเรามีฝายชะลอความชุ่มชื้น มันก็จะกลายเป็นแนวกันไฟตามธรรมชาติหรือแนวกันไฟเปียก พอไฟมาเจอน้ำเจอความชุ่มชื้นก็จะดับไม่ลามออกไปพื้นที่อื่น และถ้าตรงไหนมีฝายก็จะมีพืชผัก เช่น ผักกูด ผักหนาม ฯลฯ ซึ่งชาวบ้านจะเก็บมากินหรือขาย ฉะนั้นนอกจากฝายจะมีประโยชน์ด้านการอนุรักษ์แล้ว ยังช่วยเรื่องเศรษฐกิจด้วย”

หัวหน้ามานพ อธิบายว่า ฝายที่สร้างจากวัสดุธรรมชาตินี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย แต่ข้อดีมากกว่านั่นหมายถึงว่าฝายที่สร้างในห้วยแม่ต่างได้มีการปรับจากฝายแม้วรูปแบบเดิมให้มีความแข็งแรงมากขึ้น มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น

“ปรกติชาวบ้านในพื้นที่เขาก็ทำฝายอยู่แล้ว เพื่อผันน้ำไปใช้ในการเกษตร ซึ่งเป็นองค์ความรู้ดั้งเดิมของเขา เราก็แค่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องฝาย ช่วยเพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศ รวมทั้งเรื่องการไหลของน้ำ เพิ่มหลักวิชาการเข้าไปให้เขา”

พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการสร้างฝายยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ “ต้องดูว่า ถ้าทำฝายเยอะ ๆ แล้วจะเป็นการแย่งน้ำกันหรือไม่ เพราะมีหลายหมู่บ้านที่ใช้ลำน้ำด้วยกัน ถ้าเราไปกั้น ผันน้ำเข้าหมู่บ้านเดียวก็อาจจะเกิดผลกระทบกับหมู่บ้านอื่น ต้องมาคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการเกษตรของแต่ละหมู่บ้าน”

การทำฝายชะลอน้ำในโครงการ สิงห์อาสาสู้ไฟป่า รักษาต้นน้ำ ในจังหวัดเชียงรายครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทั้งหน่วยงานภาครัฐ ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งนักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสา 10 สถาบันภาคเหนือ โดยที่ทุกคนต่างช่วยกันเตรียมอุปกรณ์ทำฝายที่หาได้ง่ายจากในพื้นที่ รวมทั้งนำกล่องกระชุหินหรือเกเบียนบ็อกซ์มาช่วยสร้างฝายให้มีความทนทานและยั่งยืนยิ่งขึ้น

สุรสิทธิ์ ปุสุรินทร์คำ อาจารย์ประจำวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เรื่องการทำฝายมากว่า 5 ปี อธิบายว่า เกเบียนผลิตจากเส้นลวดชุบสังกะสีกัลวาไนซ์ เป็นวัสดุกันสนิมและสามารถดัดได้ เป็นอุปกรณ์แบบเดียวกับที่ใช้กั้นตลิ่งแม่น้ำหรือทำชลประทาน โดยการสร้างฝายที่ห้วยแม่ต่างจะเลือกทำในพื้นที่แก่งหินซึ่งเป็นจุดที่แคบที่สุด เพื่อประหยัดวัสดุอุปกรณ์

“ฝายที่ทำวันนี้ปรับเปลี่ยนมาจากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่เรียกติดปากว่า ฝายแม้ว ซึ่งใช้ไม้ไผ่และหินมาวางในลำน้ำ เพื่อให้เกิดการชะลอน้ำ แต่ฝายพวกนี้อยู่ได้ประมาณ 1 ปีก็ผุ”

อาจารย์สุรสิทธิ์ ปุสุรินทร์คำ

ฉะนั้นเพื่อให้ฝายมีความคงทนและสามารถใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน อาจารย์สุรสิทธิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า จึงเลือกเกเบียนมาเป็นอุปกรณ์ในการสร้างฝายเพราะมีความทนทานมากกว่า ซึ่งจากการสร้างฝายมา 5 ปี ฝายแต่ละแห่งยังคงสภาพอยู่ แม้แต่ฝายที่หน่วยอนุรักษ์ต้นน้ำเป็นผู้สร้างไว้โดยใช้ลวดถักก็ยังมีอายุเกิน 15 ปี ฝายที่ใช้เกเบียนจึงจะมีอายุการใช้งานนานกว่านั้น

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา อาจารย์สุรสิทธิ์เชื่อมั่นว่า ฝายทั้ง 3 ฝายที่มาช่วยกันสร้างจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลำห้วยยังมีน้ำ “ผมทำฝายมา 5 ปี จากพื้นที่ซึ่งไม่มีน้ำ ลำห้วยแห้ง พอเราทำฝายดักตะกอน สิ่งที่ตามมาก็คือ มีน้ำ ระบบนิเวศฟื้นฟู สัตว์ป่าลงมาหากิน ฝายสูงแค่ 50 ซม. ปลาก็ยังกระโดด”

การจัดกิจกรรมสร้างฝายในลำห้วยบนดอยอินทรีย์ครั้งนี้ได้มีเยาวชนและจิตอาสามาช่วยกันทำงาน
ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อปลูกฝังให้ทุกคนมีจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าไม้ น้ำ และดิน ฯลฯ

หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสาที่มาร่วมสร้างฝายที่ห้วยแม่ต่างคือ วาสนา บุญเกิด นักศึกษาชั้น ปวส. 2 วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย เธอบอกว่า ต้องการช่วยให้จังหวัดมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะการทำฝายที่ช่วยให้ลำธารยังมีน้ำไหลไปหล่อเลี้ยงเมืองเชียงราย

วาสนา บุญเกิด (ขวา)

กิจกรรมจิตอาสาสร้างฝายซึ่งมีนักศึกษาเข้าร่วมนี้ ถูกเลือกมาทำเพื่อทดแทนกิจกรรมรับน้องของสถาบัน ซึ่งเปลี่ยนมาใช้พลังงานในด้านบวกและสร้างสรรค์มากขึ้น เป็นการหล่อหลอมให้เยาวชนมีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม สามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปถ่ายทอดและสานต่อทั้งกับรุ่นน้องหรือแม้แต่คนในครอบครัว

วาสนาในฐานะตัวแทนนักศึกษา 10 สถาบันที่มาร่วมมือร่วมใจสร้างฝายในครั้งนี้บอกว่า “ภารกิจวันนี้ก็ยังไม่จบ เราต้องไปทำฝายที่ต้นน้ำเรื่อย ๆ แล้วเราก็ต้องกลับมาดูฝายที่เราทำวันนี้ เพราะถ้าฝนตก ฝายพังก็ต้องมาซ่อม ถ้ายังโอเคอยู่ก็ไปทำต่อข้างบนอีก ซึ่งชาวบ้านก็จะมาช่วยดูด้วย”

สำหรับกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำในโครงการ “สิงห์อาสาสู้ไฟป่า รักษาต้นน้ำ” ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ 4 ภารกิจการดูแลทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน คือ ต้นน้ำ แหล่งน้ำ สายน้ำ และความยั่งยืน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ตะวันออก และภาคใต้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี สิงห์อาสา เพื่อมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพ

กิจกรรมการดูแลทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนจึงเริ่มต้นที่ฝายต้นน้ำ เพื่อช่วยลดความรุนแรงของการเกิดไฟป่า ด้วยการกระจายความชุ่มชื้นหรือสร้างป่าเปียกเป็นแนวกันไฟธรรมชาติ ทั้งยังช่วยลดการชะล้าง พังทลายของดิน ลดความรุนแรงของกระแสน้ำ ทำให้ระยะเวลาการไหลของน้ำเพิ่มมากขึ้น ทำให้ป่ามีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้นและแผ่กระจายออกไปเป็นวงกว้างในพื้นที่สองฝั่งของลำห้วย

นอกจากนี้ยังช่วยกักเก็บตะกอนที่ไหลลงมากับน้ำ ทำให้แหล่งน้ำตอนล่างไม่ตื้นเขิน ทั้งยังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่พื้นที่ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของผู้คนในท้องถิ่นและสัตว์ป่า รวมทั้งมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรกรรมต่อไป

ในบ่ายของวันที่อากาศร้อนอบอ้าวแม้จะทำให้เม็ดเหงื่อเกาะอยู่ตามใบหน้าและเนื้อตัวของทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรม แต่ไม่มีใครรามือจากงานที่ทำอยู่

นั่นเพราะต่างมีเป้าหมายร่วมกันในการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งเป็นสายเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนจำนวนมากจากต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย