มีความจำเป็นจะต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นผู้ต้องใช้ชีวิตในโลกอนาคตได้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทะเลและมหาสมุทรที่เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่ใหญ่ที่สุดของโลกราว 70% ของออกซิเจนในบรรยากาศทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพขนาดใหญ่ ฉะนั้นการลดปัจจัยรบกวนธรรมชาติ อย่างเช่นการลดขยะลงสู่ทะเล จึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลและมหาสมุทร
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีมีขยะพลาสติกถูกทิ้งลงสู่ทะเลและมหาสมุทรทั่วโลกมากถึง 12 ล้านตัน ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสัตว์ทะเลและระบบนิเวศอื่นๆ ตามมาอีกมาก โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าในแต่ละปีมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลและมหาสมุทรทั่วโลกราว 100,000 ตัว นกทะเลอีกราว 1 ล้านตัว ต้องถูกสังเวยชีวิตจากการกินขยะพลาสติกเข้าไป เพราะพวกมันเข้าใจผิดว่าขยะเหล่านั้นคืออาหาร รวมถึงเต่าทะเลซึ่งกินแมงกะพรุนเป็นอาหารมักจะเข้าใจผิดและกินถุงพลาติกใสเข้าไปเช่นกัน ในขณะที่ขยะพลาสติกเหล่านั้นไม่ได้ย่อยสลายตามชีวิตสัตว์ที่เน่าเปื่อยลง เพราะพลาสติกใช้เวลาย่อยสลาย 450-500 ปี อีกทั้งบางส่วนยังกลายเป็นไมโครพลาสติกตกค้างในระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
จากงานวิจัยพบว่าในกระเพาะอาหารของสัตว์ทะเลไม่ว่าจะเป็นวาฬ เต่าทะเลทุกสายพันธุ์จะพบเศษพลาสติกในท้องมากถึงร้อยละ 22 และในกระเพาะอาหารของนกทะเลถึงร้อยละ 44 ของสายพันธุ์นกทะเลทั้งหมด ไม่รวมถึงขยะประเภทอื่นๆ อย่างเช่น เชือก ตาข่ายจับปลาที่กลายเป็นเครื่องพันธนาการรัดร่างกายหรืออวัยวะจนสัตว์ทะเลเหล่านั้นต้องเสียชีวิต
นอกจากมลพิษจากขยะแล้ว นักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐ สหราชอาณาจักร และแอฟริกาใต้ รายงานในวารสาร Nature ล่าสุดว่า ภาวะโลกร้อนก็เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรเขตร้อนอาจต้องล้มตายลง หรือเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ภายในปี 2573 เนื่องจากไม่อาจทนต่ออุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นหลายองศาเซลเซียส รวมทั้งหาดทรายครึ่งหนึ่งของโลกจะจมทะเลหายไปภายในปี 2643 หรืออีก 80 ปีข้างหน้า
“สิงห์อาสา” โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด หนึ่งในองค์กรที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจึงได้ร่วมมือกับ 12 สถาบันการศึกษาในภาคใต้และภาคตะวันออก จัดทำโครงการ SEA SAND STRONG (ซี แซนด์ สตรอง) รณรงค์ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ครอบคลุมชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด โดยเริ่มจากบริเวณหาดสนหนาและหาดยาว อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ จากนั้นจะขยายต่อไปยังภาคตะวันออก
โครงการดังกล่าวมุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล การจัดการขยะ ตลอดจนให้กลุ่มนักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสา รวมทั้งเยาวชน และคนในพื้นที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้และร่วมกันดูแลรักษาชายหาด เนื่องจากในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศที่มีขยะพลาสติกลงสู่ทะเลเฉลี่ยประมาณปีละ 2 ล้านตัน และติดอันดับท็อป 10 ของโลกที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุด
สำหรับ 12 สถาบันการศึกษาภาคใต้ เครือข่าย “สิงห์อาสา” ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 4 วิทยาเขต ประกอบด้วย วิทยาเขตภูเก็ต ตรัง หาดใหญ่ และสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา และวิทยาเขตนครศรีธรรมราช
ขณะเดียวกันยังได้ร่วมมือกับ คุณสิรณัฐ สก๊อต นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ผู้ก่อตั้งกลุ่ม SEA YOU STRONG นำนักเรียนจาก 13 โรงเรียนในพื้นที่ตำบลตลิ่งชัน และตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันเก็บขยะบริเวณหาดสนหนาและหาดยาว เช่น ถุงพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก ภาชนะใส่อาหาร วัสดุบรรจุหีบห่อ และเครื่องมือประมง ฯลฯ เพื่อนำขยะเหล่านี้ไปคัดแยก และรีไซเคิลเป็นวัสดุเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีปัญหาขยะพลาสติกตกค้าง ทั้งในบ่อกำจัดขยะและในสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศได้พยายามส่งเสริมให้ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น ตลอดจนนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับมารีไซเคิลให้ได้มากที่สุด ซึ่งรวมถึงนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ต้องสัมผัสอาหาร (food-contact packaging) เช่น ขวดเครื่องดื่ม (bottle-to-bottle recycling) ด้วย เนื่องจากเทคโนโลยีรีไซเคิลในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมากจนสามารถดำเนินการดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย โดยมีการนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ ไม่ว่าในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือสหภาพยุโรป โดยไม่มีผลกระทบเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร (food safety) แต่อย่างใด
#สิงห์อาสา #SeaSandStrong
อ้างอิง:
- “ขยะพลาสติกในมหาสมุทรสีน้ำเงิน”. Greenpeace Thailand
- “3 เหตุผล ที่เราต้องช่วยกันปกป้องมหาสมุทรโลก”. Greenpeace Thailand
- “ระบบนิเวศมหาสมุทรเขตร้อนใกล้ถึงภาวะล่มสลายในอีกสิบปีข้างหน้า”. BBC News
- “สถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2562”. GNews