ปัญหาการแพร่กระจายของวัชพืชน้ำอย่างผักตบชวามีมาในประเทศไทยเป็นระยะเวลายาวนาน และกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ เพราะผักตบชวาเข้าไปอุดตันทางไหลของน้ำ หรือทางระบายน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน
รู้จักเอเลี่ยนชื่อ … ผักตบชวา
ผักตบชวาจัดเป็นวัชพืชต่างถิ่น หรือ “เอเลี่ยนสปีชีส์” ซึ่งแพร่ระบาดรุกรานก่อให้เกิดความเสียหายต่อพืชพื้นเมือง และระบบนิเวศ เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ แพของพืชชนิดนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ซึ่งเป็นพาหะนำโรคจึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ด้วย
ที่สำคัญคือ ผักตบชวาเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในหลายพื้นที่ ด้วยปริมาณของกิ่งก้านที่ลอยอยู่อย่างหนาแน่นบนผิวน้ำ ทำให้น้ำไหลช้า และเมื่อไปกองรวมกันตามจุดต่าง ๆ เช่น ใต้สะพาน ประตูระบายน้ำ ฯลฯ จะยิ่งกลายเป็นสิ่งกีดขวางทางไหลของน้ำ เป็นอุปสรรคต่อการสัญจรและการระบายน้ำ เมื่อฝนตกหนักหรือเกิดน้ำหลากทำให้ระบายไม่ทัน จนทำให้น้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือน
ผักตบชวาจึงเป็นพืชน้ำที่ถูกจัดให้เป็นวัชพืชร้ายแรง 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก
เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วม จึงต้องควบคุมผักตบชวา เมื่อเร็วๆนี้ สิงห์อาสา โดยมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด พร้อมด้วย บริษัท สิงห์เบเวอเรช จำกัด บริษัทในเครือ ร่วมกับเครือข่ายสิงห์อาสาภาคกลาง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลหลักชัย, โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด – บางยี่หน กรมชลประทาน, เครือข่ายสิงห์อาสา 3 สถาบันการศึกษาภาคกลาง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี และวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยชาวบ้านในพื้นที่ ริมคลองญี่ปุ่นหน้าวัดปทุมวัน ต.หลักชัย อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา จัดโครงการสิงห์อาสาสู้น้ำท่วม ร่วมกันกำจัดผักตบชวารวมถึงเก็บขยะที่กีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมรับปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝน ซึ่งคลองดังกล่าวเป็นคลองที่สำคัญของชาวลาดบัวหลวงและเป็นพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง ซึ่งจะนำผักตบชวาที่เก็บได้มาสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.พระนครศรีอยุธยา จะแปรรูปผักตบชวาทำปุ๋ยอินทรีย์ และคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.สุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี สร้างเครื่องตัดย่อยผักตบชวา เพื่อแปรรูปผักตบชวาให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างรายได้ให้ชุมชนต่อไป เช่น ทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวา เป็นอาหารสัตว์ เครื่องจักสาน วัสดุกันกระแทก ทรายแมว สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่
สิงห์อาสาร่วมแก้ปัญหาน้ำท่วม กำจัดผักตบชวา
ผักตบชวา เป็นพืชที่เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน สิงห์อาสาเป็นเครือข่ายอาสาสมัครที่ใหญ่ที่สุด โดยมีทีมเครือข่ายทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ทางสิงห์อาสา โดยมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ บริษัท สิงห์เบเวอเรช จำกัด บริษัทในเครือ, องค์การบริหารส่วนตำบลหลักชัย, โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด – บางยี่หน กรมชลประทาน, เครือข่ายสิงห์อาสา 3 สถาบันการศึกษาภาคกลาง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี และวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันกำจัดผักตบชวาและเก็บขยะในบริเวณคลองญี่ปุ่น หน้าวัดปทุมวัน ต.หลักชัย อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง โดยดำเนินการภายใต้โครงการ “สิงห์อาสาสู้น้ำท่วม”
ผักตบชวาระบาดอย่างรุนแรงในแถบที่ราบลุ่มภาคกลาง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นที่เหล่านี้ประสบอุทกภัยเป็นประจำ “ในทุก ๆ ปี บริษัทฯ จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลชุมชนและนำเครือข่ายสิงห์อาสาที่เป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีอยู่มาช่วยเหลือพี่น้องในพื้นที่ โดยร่วมกันจัดกิจกรรมกำจัดผักตบชวาและขยะที่กีดขวางทางน้ำ ซึ่งผักตบชวาที่เก็บได้จะนำไปต่อยอดทำเป็นปุ๋ย” คุณสุชิน อิงคะประดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์เบเวอเรช จำกัด กล่าว และว่า ปุ๋ยหมักที่ได้จากผักตบชวาจะนำไปต่อยอดใช้ในแปลงเกษตรไร้สารเคมีของบริษัทฯ ในพื้นที่บางเลน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกสมาร์ทฟาร์มที่แบ่งปันผลผลิตให้ชุมชนอยู่เป็นประจำ และจะนำปุ๋ยไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในชุมชนรอบโรงงาน นอกจากนี้ยังนำผักตบชวาที่ได้ไปให้นักเรียนทำผลิตภัณฑ์จักสาน เผยแพร่ในโรงเรียนเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
แปรรูปวัชพืชเพิ่มมูลค่าเป็นปุ๋ยสร้างรายได้
สิริวรรณ สมิทธิอาภรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวา และที่ปรึกษาการทำปุ๋ยอินทรีย์จากผักตบชวา ในโครงการสิงห์อาสาสู้น้ำท่วม ให้ข้อมูลว่า วิธีการนำผักตบชวามาทำปุ๋ย ต้องนำขึ้นจากน้ำมาทั้งต้น เอามากองและใช้เท้าย่ำ พร้อมใส่น้ำหมักจุลินทรีย์ หรืออาจจะใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ของกรมพัฒนาที่ดิน หรือเป็นน้ำหมักจุลินทรีย์ที่ทำขึ้นเอง ผสมกับมูลสัตว์ที่มี แล้วย่ำให้แน่น ก่อนวางทับเป็นชั้น ๆ
“หลังจากหมักทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่ง เมื่อมีความร้อนเกิดขึ้นให้พลิกกลับกองปุ๋ย เพื่อทำให้มีระบายอากาศ เพิ่มออกซิเจน และช่วยให้วัสดุคลุกเคล้าเข้ากัน หรือใช้วิธีฝังท่อพีวีซีที่เจาะรูเพื่อใช้ระบายความร้อนระบายอากาศ ก่อนนำไปปุ๋ยใช้อาจจะต้องใช้เครื่อง หรือแรงงานคนในการสับให้ปุ๋ยชิ้นยาว ๆ ให้ย่อยเล็กลง
“ถ้าเรามีเครื่องจักรผ่อนแรงช่วยย่อยผักตบเป็นชิ้นเล็ก ๆ จะทำให้กระบวนการเสร็จสมบูรณ์เร็วขึ้น ถ้าเกษตรกรทำเพื่อใช้เอง อาจจะไม่ต้องตัดสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือไม่ต้องพลิกกลับกอง แต่ทำเป็นกองไว้ในจุดที่ใกล้กับบริเวณที่เราจะใช้ปุ๋ยได้เลย”
อาจารย์สิริวรรณ บอกถึงข้อควรระวังในการทำปุ๋ยหมักคือ ความร้อน เนื่องจากกองปุ๋ยจะมีความร้อนเกิดขึ้น ถ้าไม่ดูแลให้ดีเชื้อจุลินทรีย์บางส่วนก็จะตาย ถ้าอยู่ใกล้ต้นไม้ ก๊าซมีเทนจะทำให้ต้นไม้หรือใบไม้ตาย อีกทั้งหากกองปุ๋ยร้อนมากอาจจะติดไฟได้
“โดยทั่วไปถ้าทำปุ๋ยกองไม่ใหญ่มาก สูงประมาณเอว ใช้เวลาราว 2 สัปดาห์หรือประมาณ 1 เดือนกองจะยุบ สามารถนำปุ๋ยไปใช้ได้ เรื่องเวลาจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ถ้าอากาศร้อนแห้งจะเร็ว แต่ต้องเติมน้ำในกองปุ๋ยด้วย ถ้าเป็นหน้าฝนก็จะช้าหน่อย เพราะว่าน้ำเยอะ จุลินทรีย์ที่ใช้หมักจะชอบอากาศร้อนชื้น”
นอกจากนี้แล้วควรพิจารณาแหล่งที่มาของผักตบชวาที่จะนำมาทำปุ๋ยด้วย เพราะต้นผักตบชวาจะดูดโลหะหนักได้ ถ้านำมาจากแหล่งน้ำทั่วไปจะไม่มีปัญหา แต่ถ้ามาจากแหล่งน้ำเสีย เช่น มาจากโรงงานอุตสาหกรรมก็อาจจะต้องคำนึงถึงโลหะหนักที่จะติดมากับผักตบชวา โดยเฉพาะการนำมาทำปุ๋ยเพื่อใช้ในการปลูกพืชอาหาร หรือในธุรกิจการเกษตร เช่น การปลูกผักอินทรีย์ต่าง ๆ
ปุ๋ยหมักที่พร้อมนำไปใช้งานสังเกตได้ว่าสีของผักตบชวาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำและมีลักษณะอ่อนนุ่ม “ปุ๋ยจากผักตบชวาสามารถนำไปใช้ในขั้นตอนการเตรียมดินเพื่อเพาะปลูกหรือใส่โคนต้นได้เลย ถ้าใส่ทับถมไปเรื่อย ๆ ดินจะกลายเป็นสีดำ ซึ่งหมายความว่า สภาพดินดีขึ้น จึงเป็นที่มาของคำว่าดินมีชีวิต” อาจารย์สิริวรรณกล่าว
ปุ๋ยหมักจากผักตบชวามีอินทรียวัตถุทำให้ดินร่วนซุย รากพืชเจริญเติบโตได้ดี มีธาตุอาหารพืช ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช นอกจากนี้ยังช่วยดึงคาร์บอนในอากาศกลับสู่ดินทำให้หน้าดินอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีในการเกษตรและจำหน่ายสร้างรายได้
เครื่องย่อยผักตบช่วยลดขั้นตอนการแปรรูป
ในกระบวนการนำผักตบชวามาทำปุ๋ยหมัก หากสามารถย่อยต้นและก้านใบเป็นชิ้นเล็กลงได้ก่อนจะช่วยให้ได้ปุ๋ยหมักมาใช้งานหรือจำหน่ายได้เร็วขึ้นและมากขึ้น ที่ผ่านมามีความพยายามในการหาวิธีการและเครื่องมือช่วยย่อยผักตบชวาให้ง่ายขึ้น แต่เครื่องที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานมากนัก
“เครื่องย่อยผักตบที่มีอยู่ ก่อนจะนำผักตบเข้าเครื่องต้องตัดรากตัดใบออกก่อน เพื่อไม่ให้เข้าไปติดในเครื่อง แล้วผักตบที่ได้ออกมาจากเครื่องก็มีความละเอียดไม่มากนัก อาจต้องใช้แรงงานตัดอีกรอบหนึ่งก่อนนำไปใช้แปรรูป” อาจารย์จีรัฐติกุล กล้าหาญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีเครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี อธิบายในฐานะผู้ทำการศึกษาเครื่องตัดย่อยผักตบชวาในปัจจุบัน ซึ่งได้มีการออกแบบและสร้างขึ้นใหม่ร่วมกับสิงห์อาสาให้ตอบโจทย์การใช้งานมากกว่าเดิม
“เครื่องตัดย่อยผักตบชวาตัวใหม่นี้เป็นนวัตกรรมซึ่งหวังจะช่วยลดระยะเวลาและลดขั้นตอนในการแปรรูปผักตบชวา สามารถเทผักตบชวาลงเครื่องตัดย่อยได้เลย โดยไม่ต้องจัดเรียงหรือตัดหัวท้ายก่อนเหมือนเครื่องทั่ว ๆ ไป ทั้งยังสามารถกำหนดขนาดผักตบชวาสั้นหรือยาวให้เหมาะสมต่อการนำไปแปรรูปที่แตกต่างตามการใช้งาน
“เราทดลองทำให้ดีที่สุด มีความละเอียดมากที่สุด เพื่อช่วยลดแรงงาน รวมทั้งเพิ่มผลผลิต ยิ่งผักตบละเอียดมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะลดเวลาในการทำปุ๋ยได้มากขึ้น ซื้อไปใช้ได้ ใช้งานง่าย ปลอดภัย ซ่อมบำรุงรักษาเองได้ง่าย ไม่ได้มีกลไกอะไรที่ซับซ้อน โดยเครื่องนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ใบมีดตัด” อาจารย์จีรัฐติกุลระบุ
กิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในโครงการช่วยดูแลด้านสิ่งแวดล้อมของสิงห์อาสา “แต่ละปีสิงห์อาสาจะมีโครงการที่ช่วยดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงป้องกันมาโดยตลอด ตั้งแต่ต้นน้ำ แหล่งน้ำ สายน้ำ และความยั่งยืน ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำมาโดยตลอดก่อนช่วงเข้าสู่ฤดูฝน คือการดูแลปัญหาขยะและผักตบชวาที่อยู่ตามลำคลองต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในกรณีที่มีฝนตกจำนวนมาก ผ่านโครงการสิงห์อาสาสู้น้ำท่วม” คุณอรรถสิทธิ์ พรหมสุข ผู้จัดการฝ่ายงานกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่ม
การนำผักตบชวาที่กำจัดออกจากคลองไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แบ่งปันและสร้างรายได้ให้ชุมชน ทางสิงห์อาสาได้ร่วมกับเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญ คือ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ซึ่งนำความรู้เรื่องการแปรรูปผักตบชวาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในการเกษตรให้แนะนำแก่ประชาชน และคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี ยังได้สร้างเครื่องตัดย่อยผักตบชวาเพื่อแปรรูปผักตบชวาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้สะดวกและง่ายขึ้นด้วย
กิจกรรมกำจัดผักตบชวาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “สิงห์อาสาสู้น้ำท่วม” ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวากีดขวางทางเดินน้ำ ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาสิงห์อาสา และเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคกลาง ทั้งมหาวิทยาลัย และสถาบันอาชีวศึกษามากกว่า 20 สถาบันได้ร่วมกันผนึกกำลังช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยมาโดยตลอด
การบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งจากประชาชน โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมน้ำสามารถช่วยลดปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง แต่การเอาชนะผักตบชวาอย่างยั่งยืนนั้นยังจะต้องใช้ความพยายามและดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่องต่อไป