สมาคมพลเมืองนครนายก เครือข่ายรักษ์เขาใหญ่ ผู้นำชุมชนบ้านคลองมะเดื่อ ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดเวทีเสวนา “นิเวศลำธารกับหมอหม่อง” เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมานี้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าใจถึงความสำคัญของระบบนิเวศและผลกระทบที่จะตามมาจากการใช้พื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จำนวน 1,858 ไร่ ในการก่อสร้างเขื่อน
น.ส.อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลประทานมีโครงการที่อยู่ในแผนการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ทั้งหมดคือ 7 เขื่อน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน คลองมะเดื่อ ไสน้อย ไสใหญ่ ซึ่งตอนนี้ชลประทานบอกว่าจะไม่ทำไสน้อยไสใหญ่ แต่จะทำแค่ไสน้อยแห่งเดียว และอ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร ซึ่งหากไม่ทำตรงนี้จะเกิดอ่างเก็บน้ำขึ้นมาแทน 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำทับลาน มีอยู่แล้วแต่จะเพิ่มขนาดสันเขื่อนให้มีความกว้างมากยิ่งขึ้น และมีอ่างคลองวังมืดที่จะเกิดขึ้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน มีคลองบ้านนา คลองหนองแก้วที่กำลังอยู่ในแผน ซึ่งในพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่มีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำอยู่แล้วถึง 10 กว่าแห่ง
“ถ้าเขื่อนเกิดขึ้น เราจะเสียพื้นที่โดยรวมทั้งหมด 1,858 ไร่ แต่พื้นที่ที่เป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จริงๆ เราจะเสียไปประมาณ 1,000 ไร่ พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ประชาชนอยู่อาศัย เป็นพื้นที่ผ่อนผันต่างๆ” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรระบุ
วงเสวนาดังกล่าวเชิญ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือหมอหม่อง รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งเป็นนักสื่อสารด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมาร่วมบรรยาย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศของลำธารและผลกระทบการสร้างเขื่อนคลองมะเดื่อให้ประชาชนในพื้นที่ จ.นครนายก และปราจีนบุรี รับทราบด้วย
นพ.รังสฤษฎ์ กล่าวว่า ลำธารเปรียบเสมือนร่างกายของมนุษย์เรา มีอวัยวะส่วนต่างๆ ส่วนที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ลำธารน้ำไหลแตกต่างจากน้ำในเขื่อน หรือน้ำในโอ่ง ในบึง ในหนอง คือมันเป็นน้ำที่กำลังหายใจอยู่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ถึงแม้กรมชลประทานจะอ้างว่าเป็นพื้นที่ป่าจำนวนน้อยแต่นี่คือเป็นรอยต่อที่มีความสำคัญมากระหว่างโลกใต้น้ำกับโลกบนบก พืชชายน้ำมีความสำคัญตั้งแต่การรักษาไม่ให้ตลิ่งมีการทรุดตัว พังทลาย ป้องกันสารพิษที่ถูกชะล้างมาจากบนบก
นอกจากนี้ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ คือเริ่มต้นจากมีออกซิเจนเยอะ มีสารอินทรีย์เพียงพอ มีแพลงตอนตัวเล็กๆ สาหร่ายต่างๆ ในปริมาณที่เหมาะสม และมีแมลงเหล่านี้อาศัยอยู่ แล้วก็มีสัตว์อื่นๆ มีปลาตัวเล็ก ปลาตัวใหญ่ มีสัตว์ใหญ่อย่างนาก มีตะกอง กิ้งก่าน้ำ ซึ่งเป็นที่มาของลำตะคอง บริเวณลำน้ำซึ่งมีเจ้าตัวตะกองอยู่มากกมายนั้นเอง
“เขื่อนหนึ่งตัวที่สร้างไว้กั้นทางน้ำไหล ตะกอนจะค่อยๆ จมลงและพัดพาไปไม่ถึงอ่าวไทย ไม่ใช่แค่คนคลองมะเดื่อที่จะเดือดร้อน แต่คนที่อยู่ชายฝั่ง ซึ่งเป็นสมรภูมิรบกันระหว่างทะเลกับบก ซึ่งโดยปกติจะมีตะกอนจากต้นน้ำไหลมาทับถม ทดแทนส่วนที่คลื่นทะเลขุดออกได้อย่างสมดุล แต่เมื่อตะกอนไปไม่ถึงชายฝั่งแล้ว จึงเกิดการเสียดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ แหว่งหายไปเรื่อยๆ
“หลายคนอาจจะพูดว่าเขื่อนคลองมะเดื่อเสียพื้นที่ป่านิดเดียว ทำไมแค่นี้จะเสียสละไม่ได้ แค่ 1,800 ไร่ เขาใหญ่มีป่าเป็น 1,000,000 ไร่ ทำไมต้องโวยวาย จริงอยู่ที่มันเป็น 0.1% ของพื้นที่ป่าเขาใหญ่ แต่ป่ามันไม่ได้เท่ากันหรือเหมือนกันหมด นิเวศริมน้ำที่เป็นลำห้วยลำธารแบบนี้ มีสัตว์คนละแบบ พืชพันธุ์คนละอย่าง จะเอามาหารพื้นที่ 1,300,000 มันไม่ใช่ นี่คือพื้นที่ที่หายากที่สุด
“ผมเป็นหมอหัวใจ เปรียบเทียบกับหัวใจแล้วกัน หัวใจคิดเป็นน้ำหนักของร่างกายเราแค่ 0.4% ไม่เห็นสำคัญเลย ตัดออกแล้วกันได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่าพื้นที่ตรงนี้มันไม่เท่ากัน ไม่เท่าพื้นที่ภูเขา ไม่เท่าพื้นที่ทุ่งหญ้า แต่มันคือพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นบริเวณที่เรียกว่ามีความร่ำรวยและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด นี่คือสิ่งที่เราหวงแหนมาก” หมอหม่อง กล่าว
รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เรียกร้องใช้กรมชลประทานหาทางออกอื่นที่ไม่ใช่เขื่อนซึ่งเป็นเทคโนโลยีจัดการน้ำเมื่อ 100 ปีที่แล้ว โดยบอกว่า เราต้องรักษาป่าให้ได้ หากคุณต้องการน้ำ มันมีทางออกเป็นคำตอบอื่นอีกมากมาย แต่ต้องใช้กึ๋นในการคิด เพราะนิเวศบริการ หมายความว่าคุณค่าที่นำมาถึงมนุษย์เราอย่างมากมายหลายอย่าง ในแง่ของเศรษฐกิจ แต่มากกว่านั้นคือการได้สัมผัสกับลำธารเย็นๆ ได้ฟังเสียงลำธารหายใจที่ชะล้างความวุ่นวายใจเราได้ นี่คือศักดิ์สิทธิ์
“ความพิเศษของลำห้วยลำธาร มันคือคุณค่าที่ใหญ่ไปกว่าตัวเลข เป็นเรื่องของมุมมอง ถ้าเรามองว่ามนุษย์ใหญ่ที่สุดแล้วจัดการทรัพยากรแบบที่เราทำมาแล้วก็ก่อให้เกิดปัญหามากกมาย แต่ถ้าเรารู้แล้วว่าเราจะดำรงอยู่ในโลกนี้ต่อไป โดยที่ไม่เกิดปัญหาสร้างมลพิษ เกิดโลกร้อน สัตว์สูญพันธุ์ นี่คือมุมมองใหม่ที่รัฐบาลจะต้องหาทางทำ เรียกว่าทุกตารางนิ้วในป่าตอนนี้เหลือน้อยเสียจนเสียไปอีกหนึ่งตารางเมตร หนึ่งตารางนิ้วไม่ควรแล้ว มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาแลก”
สำหรับพื้นที่ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติตาพระยา อุทยานแห่งชาติปางสีดา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางธรรมชาติแห่งที่ 2 ในปี 2548