SENA ตอบโจทย์ยุคพลังงานแพง ลุยบ้านโซลาร์รูฟท็อป – ตู้ชาร์จ EV ขับเคลื่อนการสร้างสังคมสีเขียว

วิถีปกติใหม่หรือ New Normal จากการทำงานที่บ้านทำให้แต่ละครัวเรือนมีภาระค่าไฟที่สูง และมีแนวโน้มที่จะมีการปรับขึ้นค่าไฟเพิ่มอีกในอนาคต การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจึงเป็นทางเลือกและตัวช่วยลดรายจ่ายส่วนนี้ได้ อีกทั้งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคพลังงานแพง

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการของเสนายังคงได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ในฐานะเป็นผู้พัฒนาโครงการหมู่บ้านใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) เต็มรูปแบบรายแรกของประเทศ เพราะตอบโจทย์การอยู่อาศัยทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดค่าครองชีพ 

โดยเฉพาะแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ เอฟที ที่จะเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2565 โดยจะมีการปรับขึ้นประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟขึ้นเป็น 4.40 บาท/หน่วยและมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตด้วย 

ปัจจุบันเสนาได้ติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปทุกโครงการ ทั้งประเภทบ้านที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียมบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง โดยมี บริษัท เสนา โซลาร์ เอเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจเพื่อติดตั้ง ให้คำปรึกษา และการบริการหลังการขายอย่างครบวงจร มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการออกแบบโดยวัสดุมีคุณภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

บ้าน 47 โครงการผลิตไฟฟ้า 2,000 กิโลวัตต์

มีบ้านที่ติดตั้งโซลาร์แล้วจำนวน 47 โครงการ แบ่งเป็นแนวสูง 22 โครงการ แนวราบ 25 โครงการ รวมกว่า 700 หลังคาเรือน คิดเป็นการผลิตไฟกว่า 2,000 กิโลวัตต์ โดยทำโมเดลเป็นกรณีศึกษาความคุ้มค่าของการติดตั้งโซลาร์ โดยบ้านที่มีการติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์ เป็นขนาดมาตรฐานการใช้งานทั่วไป โดยแบ่งกลุ่มผู้ใช้ออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.กลุ่มทำงานที่บ้าน (Work From Home)  มีอัตราเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้า จากโซลาร์ 3.5 ชั่วโมงต่อวัน หรือ  116.5 ชั่วโมงต่อเดือน  โดยคำนวณบนพื้นฐานของอายุการใช้งานแผงโซลาร์ 25 ปี  และมีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า 10  ปี ซึ่งได้คำนวณจากค่าไฟฟ้าปัจจุบัน ที่ 4.40 บาทต่อหน่วย โดยคาดการณ์อัตราเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้าปีละ 2%  สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 742,036 บาท  พร้อมทั้งยังขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือ เป็นเวลา 10 ปี ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าที่ 2.20 บาทต่อหน่วย สามารถสร้างผลตอบแทน 30,492 บาท ซึ่งจะทำให้เกิดความคุ้มค่าโดยรวม ทั้งการประหยัด และรายได้จากการขายไฟฟ้า ทั้งสิ้น 772,528 บาท 

2.กลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก คนทำงานนอกบ้าน  มีอัตราเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้า จากโซลาร์ 2.5 ชั่วโมงต่อวัน หรือ  97.5  ชั่วโมงต่อเดือน  โดยคำนวณบนพื้นฐานของอายุการใช้งานแผงโซลาร์ 25 ปี  และมีสัญญาการซ้อขายไฟฟ้า 10  ปี ซึ่งได้คำนวณจากค่าไฟฟ้าปัจจุบัน ที่ 4.40 บาทต่อหน่วย โดยคาดการณ์อัตราเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้าปีละ 2%  สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 621,018 บาท  พร้อมทั้งยังขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือ เป็นเวลา 10 ปี ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้า ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย สามารถสร้างผลตอบแทน 45,540 บาท จะทำให้เกิดความคุ้มค่าโดยรวม ทั้งการประหยัด และรายได้จากการขายไฟฟ้า ทั้งสิ้น 666,558 บาท  

3.กลุ่มคนทำงานนอกบ้าน มีอัตราเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์ 1 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 63 ชั่วโมงต่อเดือน  โดยคำนวณบนพื้นฐานของอายุการใช้งานแผงโซลาร์ 25 ปี และมีสัญญาการซ้อขายไฟฟ้า 10  ปี ซึ่งได้คำนวณจากค่าไฟฟ้าปัจจุบันที่ 4.40 บาทต่อหน่วย โดยคาดการณ์อัตราเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้าปีละ 2% สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 401,273 บาท พร้อมทั้งยังขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือเป็นเวลา 10 ปี ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้า ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย สามารถสร้างผลตอบแทน 72,864 บาท จะทำให้เกิดความคุ้มค่าโดยรวม ทั้งการประหยัด และรายได้จากการขายไฟฟ้าทั้งสิ้น 474,137 บาท  

ขายไฟเหลือใช้คืนการไฟฟ้าฯ

ล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดโครงการโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนรอบใหม่ปี 2565 ประเภทบ้านที่อยู่อาศัยที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ โดยจะรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 5 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 5 เมกะวัตต์ อัตรารับซื้อราคา 2.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งลูกบ้านเสนาจะได้ประโยชน์จากการขายไฟฟ้าจากที่เหลือใช้ได้อีกด้วย โดยเสนาเตรียมยื่นขอสิทธิ์ให้ลูกบ้านที่พร้อมเสนอขายไฟส่วนเกินภายใต้โครงการดังกล่าว

“โซลาร์ภาคประชาชนรอบแรกนั้นกำหนดรับซื้อไฟส่วนเกินที่ 1.68 บาทต่อหน่วยซึ่งเสนาได้ยื่นขอสิทธิ์ให้ลูกบ้านเพื่อขายไฟฟ้าให้ 6 โครงการ จำนวนกว่า 216 ราย คิดเป็น 430 กิโลวัตต์ และปี 2565 ได้เปิดโซลาร์ภาคประชาชนรอบใหม่รับซื้ออีกไม่เกิน 10 เมกะวัตต์และเพิ่มอัตรารับซื้อไฟส่วนเกินเป็น 2.20 บาทต่อหน่วยซึ่งจะส่งผลดี ดังนั้นเสนาเตรียมยื่นขอสิทธิ์ให้ลูกบ้านในรอบใหม่อีกเช่นเดิม” ดร.เกษรากล่าว

ดร.เกษรา ระบุว่า เสนามุ่งพัฒนาสร้างสังคมสีเขียวขึ้นในหมู่บ้านและโครงการต่าง ๆ ทั้งการนำนวัตกรรมเทคโนโลยี การผลิตไฟฟ้าไปใช้ในส่วนกลาง โดยการศึกษาการพัฒนาโซลาร์ลอยน้ำในแหล่งน้ำของโครงการ การติดตั้งโซลาร์บนหลังคาจอดรถในพื้นที่ส่วนกลาง และการให้บริการชาร์จไฟฟ้ากับรถยนต์ไฟฟ้าภายในหมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นทิศทางของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในเขตเมืองมากขึ้น โดยโครงการต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นได้นำหลักการ ESG หรือ Environment, Social, Governance  เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริการที่ควบคู่กับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาธุรกิจให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน 

กรรมการผู้จัดการ SENA อธิบายเพิ่มเติมว่า E คือ สิ่งแวดล้อม มีความสำคัญ สามารถจับต้องได้ง่ายที่สุดใน ESG เช่น การผลิตพลังงานสะอาด S คือ สังคม ซึ่งได้รับความสนใจมากขึ้นเช่นกัน ยกตัวอย่างกรณีที่สังคมให้ความสำคัญเรื่องความหลากหลายทางเพศในงาน Pride month มากขึ้น มีการยอมรับและการถูกนำเสนอมีมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะทุกคนย่อมมีสิทธิ์ นี่จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า social awareness หรือความตระหนักด้านสังคมที่มองเห็นถึงคุณค่าต่าง ๆ นั้นมีมากขึ้น 

เช่น การรับสมัครเข้าทำงานที่แบ่งเพศชายหญิง ซึ่งจริง ๆ แล้ว ผู้หญิงหรือผู้ชายนั้นมีความสามารถเท่า ๆ กัน อาจจะแตกต่างกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงนั้นด้อยกว่าผู้ชาย เพราะจากข้อมูลงานวิจัย คือ ผู้หญิงได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายประมาณ 5,000 บาทโดยเริ่มต้น ทั้งที่ผู้หญิงโดยเฉลี่ยจบการศึกษาที่สูงกว่า ดังนั้น นี่จึงเป็นตัวอย่างการให้ความสำคัญของความเท่าเทียม และสามารถแข่งขันกันได้ในจุดเริ่มต้นที่เท่ากัน 

G คือ Governance ในปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญส่วนนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่าง การบริหารงานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง open data ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มีการนำร่างงบประมาณของ กทม.ทั้งหมดเผยแพร่บนเว็บไซต์และให้ประชาชนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการนำงบประมาณมาใช้ รวมถึงระบบที่จะสามารถประเมินผู้ว่าฯ และผู้อำนวยการสำนักงานเขตได้ ซึ่งอยู่ในนโยบาย 214 ข้อของผู้ว่าฯ กทม. ด้วย

ดังนั้น จึงเห็นว่า Governance ที่ดี คือ ลดระบบเส้นสาย ลดการให้ความสำคัญในเชิงศักดินา ซึ่งวิธีการคือต้องสร้างความโปร่งใสให้ประชาชนนั้นมีส่วนร่วม วิธีการนี้สอดคล้องกับยุคสมัยที่อำนวยความสะดวกต่อการเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ผ่านเทคโนโลยีที่มีต้นทุนในราคาที่ถูกขึ้นกว่าสมัยก่อน ประชาชนก็เข้าถึงข้อมูลผ่านอุปกรณ์ของตนเอง เช่น สมาร์ทโฟน เป็นต้น 

คำถาม คือ การบริหารบริษัทให้ครอบคลุมใน ESG เยอะ ๆ จะทำให้กำไรน้อยลงหรือไม่? ดร.เกษราบอกว่า ส่วนตัวเห็นว่าในทางกลับกันการทำ ESG คือ การบริหารความเสี่ยงของบริษัทอย่างหนึ่งและเป็นการ maximize long-term sustainable profit (การทำกำไรสูงสุดอย่างยั่งยืนในระยะยาว) มากกว่า ไม่ใช่เพียงแค่การทำกำไรสูงสุดเพียงเท่านั้น ซึ่งบริษัทจะมองถึงการทำกำไรในระยะยาวและยั่งยืน และต่อให้เกิดวิกฤตกี่ครั้งบริษัทก็จะต้องผ่านไปให้ได้ และหนึ่งในวิธีที่จะให้การบริหารธุรกิจเป็นแบบนี้ได้คือ หลักของ ESG เพราะหากเราทำธุรกิจชนิดที่ค้ากำไรเกินควร เราอาจจะไม่ได้รับการยอมรับของสังคม ชื่อเสียงบริษัทก็จะหายได้ และยิ่งในโลกปัจจุบัน ชื่อเสียงบริษัทหายได้ภายใน 1-2 วัน 

ย้อนกลับมาถึงหลักของ ESG ในบริษัท สิ่งที่ทำมาอย่างชัดเจน คือ Environment นั่นคือ การทำบ้านโซลาร์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ผลิตมาจากแสงอาทิตย์ นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคนั้นประหยัดได้แล้ว ผู้บริโภคทุกคนยังสามารถช่วยลดโลกร้อนได้ ทำให้ความตระหนักในเรื่องดังกล่าวเข้าไปยังระดับครัวเรือน ซึ่งบริษัทไม่ได้มีมุมมองแค่ด้านธุรกิจ แต่มองไปถึงความตระหนักต่อคนในสังคมตั้งแต่อายุน้อย ก็คือเด็กที่เกิดมาในครอบครัวนั้นอยู่อาศัยในบ้านที่ใช้ไฟจากโซลาร์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด  

ติดตั้งตู้ชาร์จ EV Ready ส่งเสริมใช้รถ EV 

นอกจากนั้น บริษัทได้มองถึงอนาคต คือ การทำตู้ชาร์จ EV Ready ไว้ให้ในบ้านเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้รถ EV ในอนาคต ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้มากขึ้น ซึ่งจะทำโครงการตั้งแต่ระดับกลางถึงบน จะเน้นบ้านเดี่ยว แต่ในโครงการที่เกิดขึ้นในระยะแรกจะไม่มีการติดตั้ง EV Ready ให้ จึงมีแค่โครงการในระยะหลัง ขณะนี้ประมาณ 7-8 โครงการ 

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

แผนปีหน้าบริษัทได้เริ่มประสานความร่วมมือกับทางการไฟฟ้านครหลวงในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ซึ่งกำหนดการซื้อขายที่อัตรา 2.20 บาทต่อหน่วย ดังนั้น หากผู้บริโภคต้องการซื้อบ้านภายใต้โครงการของบริษัทจะสามารถขายไฟที่เหลือจากโซลาร์คืนการไฟฟ้าฯ ได้หน่วยละ 2.20 บาท โดยจะสามารถหักลบกับค่าไฟฟ้าของประชาชนในแต่ละรอบบิลได้แต่ยังพบข้อจำกัดในเรื่องกฎเกณฑ์ของการไฟฟ้าฯ ที่กำหนดให้ไม่สามารถขายคืนได้เกิน 15% ของหนึ่งหน่วยหม้อแปลง ทำให้ไม่สามารถเริ่มนโยบายนี้ได้กับบ้านทุกหลัง 

“อีกประการ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากภาครัฐจะต้องเกิดความมั่นคง ซึ่งจากพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของประชาชนจะทำให้เกิดการใช้สูงสุดเป็นช่วง ๆ หรือเกิดพีค เช่น ตอนกลางคืนที่คนมักเปิดเครื่องปรับอากาศพร้อม ๆ กัน ดังนั้นการผลิตพลังงานไฟฟ้าภาครัฐจะต้องผลิตให้ครอบคลุมช่วงพีคตลอดเวลา ขณะเดียวกันช่วงเวลาที่ใช้ไฟฟ้าน้อย เช่น กลางวันที่คนออกไปทำงาน แต่ละบ้านจึงใช้ไฟน้อยจึงไม่เท่ากับจุดพีค ช่วงเวลานี้จะทำให้ไฟฟ้าที่ผลิตมาได้จะถูกนำไปใช้ได้น้อยกว่าการผลิต

“ดังนั้น การแก้ไขจึงต้องมีการตัดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือตัดพีค โดยนำพลังงานที่ผลิตเหลือเก็บในแต่ละช่วงเวลามาร่วมใช้แทน แต่ในปัจจุบันการเก็บพลังงานจากโซลาร์พบว่ามีข้อจำกัด เนื่องจากราคาแบตเตอรี่ที่ใช้เก็บพลังงานแพงเกินกว่าจะกำหนดให้แต่ละบ้านนั้นซื้อเองได้ และไม่คุ้มต่อราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่กำหนดโดยการไฟฟ้าฯ ทำให้แต่ละโครงการที่จะเกิดขึ้นจะต้องมีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่เพียงตัวเดียวในส่วนกลาง เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่เหลือในบ้านแต่ละหลัง 

“และเมื่อเกิดการใช้ไฟฟ้าในโครงการนั้น ๆ สูงสุดในช่วงเวลาหนึ่ง การไฟฟ้าฯ จะนำไฟฟ้าที่เก็บไว้ของแต่ละโครงการไปใช้ตัดพีคของการใช้ไฟฟ้าฯ ในโครงการ ณ ช่วงเวลานั้น ทำให้ในโครงการไม่จำเป็นต้องใช้ไฟตามปริมาณที่เกิดพีคในแต่ละวันได้ โดยคิดเฉลี่ยจากการใช้ไฟฟ้าของแต่ละบ้าน หากบ้านหลังใดใช้ไฟฟ้าน้อยและเหลือเก็บมายังแบตเตอรี่ส่วนกลางมาก จะทำให้ได้ประโยชน์จากการมีเหลือของไฟฟ้าของบ้านตนเองที่มากได้ โดยการเฉลี่ยนี้จะทำผ่านในระบบ smart grid และ smart contract เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ และจะช่วยลดค่าไฟแต่ละบ้านลงได้ส่วนหนึ่งด้วย

“การที่การไฟฟ้าฯ ได้กำหนดนโยบายการขายไฟคืนนั้น เกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ จนปัจจุบันได้กำหนดอัตราการซื้อขายที่ 2.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งข้อจำกัดของบริษัทคือ ภายใต้โครงการที่มีการใช้โซลาร์ทั้งหมด ไม่สามารถให้ทุกโครงการกำหนดการซื้อขายไฟฟ้าได้ เช่น นโยบายโซลาร์ภาคประชาชน บริษัททำได้ดีที่สุดเพียงแค่การติดโซลาร์ให้ก่อน หากอนาคตมีนโยบายที่อำนวยสะดวกต่อประชาชนมากขึ้น ทางบริษัทจะเร่งดำเนินการใด ๆ ต่อนโยบายนั้นโดยยึดถือให้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค 

“การที่ภาครัฐกำหนดอัตราการซื้อขายไฟฟ้าไว้ที่ 2.20 บาท อาจจะไม่คุ้มค่าต่อราคาการติดโซลาร์ในปัจจุบัน เพราะแผงโซลาร์มีราคาสูงขึ้นตามกลไกตลาด เนื่องจากปัญหาการขนส่ง รวมถึงรัฐบาลจีนได้ชะลอการผลิตแผงโซลาร์ เนื่องจากผู้ผลิตแผงโซลาร์ได้ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น สวนทางกับนโยบาย carbon neutral ของจีน ตลอดจนปัญหาค่าเงินบาทอ่อน ทำให้ซื้อแผงโซลาร์จากต่างประเทศนั้นต้องซื้อในราคาที่แพงขึ้น ซึ่งแผงโซลาร์ที่ใช้ในโครงการมักจะซื้อจากต่างประเทศ ด้วยเหตุผลของเกรดของผลิตภัณฑ์” 

แนะรัฐออกนโยบายที่ประชาชนเข้าใจง่าย

ดร.เกษรา เสนอแนะว่า การออกนโยบายจากภาครัฐ นอกจากความคุ้มค่าต่อผู้บริโภคแล้ว จะต้องทำให้เกิดการเข้าใจง่ายด้วย การไม่ใช้โซลาร์ประชาชนก็อยู่ได้ เพราะใช้ไฟจากรัฐแทน และกรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่เมืองที่ปัญหาด้านความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้าหรือเกิดภัยพิบัติบ่อย ๆ ในความเห็นส่วนตัว มองว่าหากออกนโยบายที่เข้าใจง่าย เช่น หากเหลือไฟฟ้าจากการผลิตโซลาร์ได้เท่าไหร่ จะได้เงินคืนเท่ากับราคาค่าไฟที่จ่ายออกไป เช่น หากซื้อไฟจากรัฐจะต้องจ่าย 4 บาทต่อหน่วย ซึ่งเมื่อเหลือไฟฟ้าจากการผลิตของโซลาร์และทำการขายไปยังภาครัฐจะต้องเท่ากับ 4 บาทต่อหน่วยด้วยเช่นกัน เพื่อให้สื่อสารและประชาชนเข้าใจง่าย หากมองถึงประชาชนที่มีบ้านหลัง ๆ ที่ต้องการจะติดตั้งโซลาร์ใช้เอง ตัวแปรในการคิดที่จะติดตั้งนั้นจะเยอะ เช่น ราคา ความคุ้มค่า จึงเป็นการสร้างความยากแก่ประชาชนที่อยากจะติดตั้งเอง 

ถามว่า เพื่อให้การใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์นั้นสะดวกกว่านี้ เสนาดีเวลลอปเม้นท์จะช่วยผลักดันอย่างไรบ้าง “ข้อจำกัดที่มีอยู่ในขณะนี้คือกฎระเบียบข้อบังคับ อย่างเช่น การกำหนดให้ไม่สามารถขายคืนได้เกิน 15% ของหนึ่งหน่วยหม้อแปลง คิดง่าย ๆ ว่า ในบ้าน 100 หลัง สามารถขายไฟคืนได้เพียง 15 หลัง ไม่สามารถทำได้ทุกหลัง ซึ่งทางบริษัทได้ร่วมกันผลักดันแก้ปัญหาในข้อจำกัดนี้มาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งบ้านในกรุงเทพฯ คือ บ้านจัดสรร คิดเป็นจำนวน 75% ดังนั้นจึงต้องสนับสนุนให้คนที่อยู่บ้านจัดสรรติดตั้งโซลาร์ก่อน เพราะนี่คือส่วนใหญ่ ส่วนบ้านเดี่ยวที่ไม่ใช่บ้านจัดสรรสามารถติดแบบอิสระได้เช่นกัน

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

“ข้อดีการติดโซลาร์นอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าแล้ว ยังสร้างความคงที่ด้วย กล่าวคือ ปัจจุบันการ work from home กลายเป็นเรื่องธรรมดาแล้วและทำเป็นระยะเวลานาน สิ่งที่ตามมาคือ ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในระดับครัวเรือน รวมถึงปัจจุบันมีความผันผวนของราคาน้ำมันที่ส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งโซลาร์จะทำให้เกิดความคงที่ในการใช้ไฟฟ้าต่อหน่วยที่ส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้าโดยตรง ดังนั้น หากถามว่า คุ้มหรือไม่ที่จะติดโซลาร์ จึงมีหลายปัจจัยที่จะเป็นองค์ประกอบในการคิดและตัดสินใจ เช่น ราคาค่าไฟต่อหน่วยที่ผันผวน แต่อย่างน้อยโซลาร์จะทำให้ตัวแปรเหล่านั้นไม่กระทบต่อชีวิตมากนัก

“สิ่งหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาต่อได้ คือ การกักเก็บพลังงานของแต่ละบ้านผ่านแบตเตอรี่ หากเป็นกรณีที่มีราคาคุ้มค่าที่จะติดตั้งในแต่ละบ้าน ซึ่งจะช่วยให้พลังงานที่เหลือใช้ไปตัดพีคได้ และจะช่วยลดการติดโซลาร์ลงได้ เพราะไม่จำเป็นต้องติดให้เท่ากับจำนวนไฟฟ้าที่ใช้ในช่วงสูงสุดหรือจุดพีค การซื้อแผงโซลาร์ในไทย ส่วนมากจะนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับกลไกการตลาดโลกด้วยที่จะเป็นตัวกำหนดราคา ขณะที่ธุรกิจการทำโซลาร์ปัจจุบันจะเป็นระหว่างเอกชนกับเอกชน เช่น การติดตั้งโซลาร์บนหลังคาของห้างสรรพสินค้าผ่านการเช่าพื้นที่บนหลังคาของห้าง และเมื่อผลิตไฟได้จะขายไฟฟ้าในส่วนนี้ให้แก่ห้างซึ่งเป็นราคาที่น้อยกว่าจากราคาค่าไฟปกติ 

“ดังนั้น ธุรกิจโซลาร์นั้นขึ้นอยู่กับขนาดของการติดตั้งแผงโซลาร์ เพราะจำเป็นต้องซื้อจำนวนมากเพื่อราคาที่ถูกลงกว่าซื้อได้ในจำนวนที่น้อย และเมื่อซื้อมาในจำนวนมากจะต้องขายออกไปจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งทางบริษัทก็ดำเนินธุรกิจโซลาร์เช่นนี้ด้วย จึงต้องขายบ้านในจำนวนมาก แต่อีกทางหนึ่งการติดตั้งโซลาร์กับห้างสรรพสินค้าที่ใช้ไฟในแต่ละวันจำนวนมากก็เป็นอีกรูปแบบธุรกิจโซลาร์ในตอนนี้ด้วย 

“แต่ในประเทศไทยไม่มีตลาดผลิตแผงโซลาร์ระดับใหญ่สำหรับการผลิต มีเพียงตลาดระดับเล็กเท่านั้น เช่นเดียวกับการผลิต inverter (ตัวแปลง) ที่มีตลาดใหญ่อยู่ต่างประเทศ ดังนั้นการซื้อขายอุปกรณ์ในธุรกิจโซลาร์จึงเกิดขึ้นที่ต่างประเทศ ห่วงโซ่อุปทานในระบบก็เกิดขึ้นที่ต่างประเทศเช่นกัน จึงเกิดการตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่กระตุ้นให้เกิดในประเทศไทย แต่ก็มีบางบริษัทซึ่งเป็นบริษัทจีน มาผลิตอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งพอจะช่วยเรื่องการจ้างงานขึ้นภายในประเทศได้”

สำหรับราคาแบตเตอรี่ในอนาคต ดร.เกษรามองว่า จะถูกลง คล้ายกับการผลิตแผงโซลาร์ที่ราคาถูกลง สามารถใช้ในบ้านลักษณะที่หลากหลายได้มากขึ้น เช่นเดียวกับ inverter ที่ราคาก็ถูกลงเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มคนใช้ที่มากขึ้นด้วย ดังนั้น ในเมื่อธุรกิจโซลาร์ที่เป็นชนิดขายปลีก (solar retrial) ยังเป็นจุดเริ่มต้น กลไกการตลาดยังไม่สามารถเดินด้วยตนเองได้ รัฐจึงมีหน้าที่เข้ามาแทรกแซง เช่น การสนับสนุนผ่านอัตราการซื้อขายไฟฟ้าจากโซลาร์ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย เพื่อให้กลไกตลาดเริ่มเดินเป็นระบบได้มากขึ้น มีความต้องการและการผลิตที่สอดคล้องกัน แต่การเข้ามาแทรกแซงของรัฐต้องเข้ามาอย่างเหมาะสม 

ผู้บริหารเสนามองว่า ปัจจุบันมีหลายหมู่บ้านจัดสรรที่หันมาติดตั้งโซลาร์ในระดับครัวเรือนมากขึ้น แต่ความยากสำหรับผู้ทำธุรกิจอสังหาฯ คือ การติดโซลาร์ชนิดขายปลีก เพราะด้วยระบบระเบียบต่าง ๆ เช่น การทำเรื่องขอติดตั้ง การใช้ชื่อในมิเตอร์ไฟฟ้าตลอดถึงการเปลี่ยนแปลงชื่อ ขั้นตอนเหล่านี้ล้วนทำให้เสียเวลา ซึ่งเรื่องการติดตั้งภายในบ้านเป็นที่ยุ่งยากมากขึ้น 

นอกจากนั้น คนส่วนใหญ่ชอบซื้อบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว เห็นพื้นที่ใช้สอยชัดเจน และต้องการเห็นการติดตั้งโซลาร์ที่สำเร็จแล้วด้วยเพื่อประกอบการตัดสินใจ ดังนั้นในขั้นตอนการตรวจรับบ้านจึงต้องมีการเปิดสัญญาณใช้ไฟ เวลานัดเพื่อขอเปิดสัญญาณก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากด้วย เพราะไม่สามารถกำหนดเวลาที่แน่ชัดได้ขึ้นอยู่กับลูกค้าแต่ละราย รวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริการที่ไม่สามารถกำหนดตายตัวได้โดยตรง ในขณะที่บริการหลังการขายของธุรกิจโซลาร์ในระดับค้าปลีกจะต้องมีต้นทุนในส่วนนี้เช่นกัน เช่น การสำรวจแผงโซลาร์บนหลังคากรณีมีความผิดปกติ ซึ่งอาจจะไม่คุ้มค่าต่อกำไรในระดับค้าปลีกได้ 

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย