Beach for Life จี้กรมโยธาฯ รับผิดหลังคนลื่นตะไคร่กำแพงกันคลื่น

Beach for life ออกแถลงการณ์เรียกร้องกรมโยธาฯรับผิดชอบหลังเกิดเหตุนักท่องเที่ยวลื่นล้มศรีษะกระแทกบนกำแพงกันคลื่นที่ชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี ส่งผลให้กระดูกคอหัก จากการตรวจสอบพบมีตะไคร่น้ำเกาะอยู่ตลอดแนวบันไดกำแพงกันคลื่น และบริเวณดังกล่าวไม่มีป้ายเตือนนักท่องเที่ยว ทั้งไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมาเพจ Beach for life ได้รายงานอุบัติเหตุนักท่องเที่ยวชายอายุ 55 ปี ลื่นล้มบริเวณกำแพงกันคลื่น หาดชะอำใต้ จังหวัดเพชรบุรี

โดยภรรยาผู้ประสบอุบัติเหตุเล่าให้ฟังว่าเมื่อวันที่ 19 มี.ค 2566 สามีของตนได้ไปพักผ่อนที่ริมชายหาดชะอำ และได้เดินเล่นริมชายหาดบริเวณกำแพงกันคลื่นจนถึงช่วงใกล้ค่ำ ด้วยสภาพชายหาดชะอำที่กำแพงกันคลื่นมีตะไคร่น้ำปกคลุมหนาเเน่นตลอดแนว ประกอบกับบริเวณพื้นที่โครงการกำแพงกันคลื่นไม่มีไฟส่องสว่าง และ ไม่มีป้ายเตือนอันตรายจากเจ้าของโครงการ ทำให้สามีของตนลื่นล้มศรีษะกระแทกกับแพงกันคลื่น ทำให้กระดูกคอหัก ปัจจุบันได้รับการรักษา ณ โรงพยาบาลราชบุรี อาการปลอดภัยแล้ว

ภรรยาผู้ประสบอุบัติเหตุระบุเพิ่มเติมว่าสามีเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นนี้เกิดขึ้นทำให้อนาคตของครอบครัวนั้นไม่รู้จะเป็นอย่างไรต่อ อีกทั้งจนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อเยียวยาจากหน่วยงานเจ้าของโครงการที่ทำให้สภาพแวดล้อมชายหาดชะอำเปลี่ยนไปเป็นกำแพงกันคลื่นที่เต็มไปด้วยตะไคร่น้ำและอันตราย จึงอยากให้หน่วยงานเจ้าของโครงการนั้นแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสามีตนเองนั้นเกิดกับคนอื่นต่อไป

กรณีนี้ถือเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากโครงการของรัฐที่ไม่มีความรอบครอบทำให้ประชาชนต้องเผชิญกับความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หลังจากนี้หวังว่ากรมโยธาธิการฯ จะเยียวยากับความเสียหายที่เกิดขึ้นและมีมาตรการในการทำให้การใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เป็นกำแพงกันคลื่นมีความปลอดภัยมากขึ้น

ต่อมาในวันที่ 9 เม.ย. 2566 ทางเพจ Beach for life ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กรมโยธาธิการและผังเมือง รับผิดชอบและคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชน จากกรณีนักท่องเที่ยวลื่นล้มบนกำแพงกันคลื่นที่ชายหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยระบุว่า 

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าผู้บาดเจ็บประสบอุบัติเหตุจากการลื่นล้มบนกำแพงกันคลื่น ซึ่งมีตะไคร่น้ำเกาะอยู่ตลอดแนวบันไดของกำแพงกันคลื่น และบริเวณพื้นที่ดังกล่าวพบว่า ไม่มีป้ายเตือนนักท่องเที่ยว อีกทั้งไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดของประชาชน โดยโครงการกำแพงกันคลื่นในพื้นที่เกิดเหตุนั้น เป็นการดำเนินการป้องกันชายฝั่ง ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ในรูปแบบกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได จำนวน 3 ระยะ ตลอดแนวชายหาดชะอำใต้ จังหวัดเพชรบุรี

การดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในลักษณะขั้นบันไดของกรมโยธาฯ มักเกิดตะไคร่น้ำเกาะตามแนวกำแพงกันคลื่น เนื่องจากน้ำทะเลท่วมถึงขั้นบันไดของกำแพงกันคลื่น ก่อให้เกิดความอันตรายต่อการใช้ประโยชน์ชายหาด โดยเฉพาะสวัสดิภาพเเละความปลอดภัยของประชาชนในการเข้าถึงพื้นที่ชายหาดได้อย่างปลอดภัย ซึ่งถือเป็นการละเลยต่อการคุ้มครองสวัสดิภาพ ความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงขัดต่อหลักการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน” ตามที่กรมโยธาธิการฯกล่าวอ้างถือปฏิบัติมา Beach for life เล็งเห็นว่า กรมโยธาธิการต้องทบทวนแนวทางในการป้องกันชายฝั่ง และเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของกรมโยธาธิการที่ต้องดำเนินการ เพื่อไม้ให้เป็นที่ครหาว่ากรมโยธาฯเป็นกรมที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมและสารทุกข์สุขของประชาชน

กลุ่ม Beach for life ขอเรียกร้องไปยังกรมโยธาธิการฯ ดังนี้

1. กรมโยธาธิการฯต้องออกมายอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เเละเเสดงรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อันเป็นผลสืบเนื่องจากโครงการของกรม รวมถึงผลกระทบในมิติอื่นๆที่เกิดขึ้นจากการที่กรมโยธาฯไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดให้กลายสภาพเป็นกำแพงกันคลื่น

2. กรมโยธาธิการฯต้องเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับอุบัติเหตุจากการดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการอย่างเป็นธรรม และครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นทุกมิติโดยไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ

3. กรมโยธาธิการฯ ต้องมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายซ้ำรอยกรณีดังกล่าวนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ชายหาด

4. กรมโยธาธิการฯ ต้องปรับรูปแบบโครงการหรือแสวงหามาตรการเพื่อลดผลกระทบด้านอื่นๆที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการของกรมโยธาธิการฯ

5. กรมโยธาธิการฯ ต้องไม่ผลักภาระความรับผิดชอบโดยการส่งมอบโครงการให้กับท้องถิ่นรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากบางท้องถิ่นนั้น มิอาจมีศักยภาพ งบประมาณ บุคลากร หรือ ความรู้ในการบริหารจัดการโครงสร้างที่กรมโยธาธิการก่อสร้างไว้ได้แต่เพียงฝ่ายเดียว

Beach for life หวังว่ากรมโยธาธิการฯจะนำเอาเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ชายหาดในครั้งนี้เป็นบทเรียนตอกย้ำความล้มเหลวในการดูแลโครงสร้างป้องกันชายฝั่งของกรม และตระหนักถึงผลกระทบของกำแพงกันคลื่นในมิติต่างๆที่เกิดขึ้นต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะนำไปสู่การแสวงหาแนวทางในการป้องกันชายฝั่งที่จะสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และคงรักษาสภาพแวดล้อมชายหาดไว้ มากกว่าการป้องกันด้วยแนวคิดวิศวกรรมที่มุ่งเน้นความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างชายฝั่ง โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิต สวัสดิ์ภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อมดังเดิม

ขอบคุณข้อมูลและภาพ เพจ Beach For Life

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด