หญ้าทะเลช่วยดูดซับ-กักเก็บคาร์บอน ความหวังกู้โลกร้อน

บางคนบอกว่ามันคืออาวุธใหม่ที่จะใช้ต่อสู้กับภาวะโลกร้อน บางคนบอกว่ามันคือสิ่งที่ช่วยเยียวยาระบบนิเวศ บางคนรู้จักมันในฐานะอาหารของพะยูนเท่านั้น

เรากำลังพูดถึงหญ้าทะเล (Seagrass) พืชที่น้อยคนจะสนใจ และในเมืองไทย เมื่อใดก็ตามที่เอ่ยถึงหญ้าทะเล หมายความว่าในเวลานั้นเรากำลังจะพูดถึงพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ที่กินหญ้าทะเลเป็นอาหาร

ในอดีตที่ประเทศโปรตุเกส มีการเก็บเกี่ยวหญ้าทะเลมาใช้เป็นปุ๋ยเพิ่มคุณภาพให้กับดินปนทราย และในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในฝรั่งเศสที่เกาะแชนเนล มีการนำหญ้าทะเลมาตากแห้งมายัดเป็นฟูกใส่เบาะของเตียงนอน เป็นที่นิยมใช้กันมากในกองทัพฝรั่งเศสช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 

นอกจากนี้แล้วคุณประโยชน์ของหญ้าทะเลในทางวัตถุมีไม่มากนัก

แต่วันนี้ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป พืชชนิดนี้กำลังเป็นความหวังใหม่หลายอย่างของชาวโลก

เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลกนี้ หญ้าทะเลก็มีความสำคัญต่อระบบนิวเศ ไม่ใช่แค่เป็นอาหารสัตว์หรือของใช้ของมนุษย์ แต่มีส่วนในการเป็นวิศวกรระบบนิเวศ  ซึ่งหมายความว่ามันเป็นพืชเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศรอบๆ ตัวพวกมัน ทั้งในรูปแบบทางฟิสิกส์และทางเคมี

เช่น หญ้าทะเลหลายสายพันธุ์สร้างเครือข่ายรากและเหง้าที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ ทำให้ตะกอนเสถียรและลดการกัดเซาะชายฝั่ง หญ้าทะเลที่มีใบยาวทำให้การเคลื่อนที่ของน้ำช้าลง ซึ่งจะช่วยลดพลังงานคลื่นและช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและคลื่นพายุ นอกจากนี้ มันยังช่วยเติมออกซิเจนในตะกอน ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในตะกอน

แต่หญ้าทะเลยังมีอะไรมากกว่านั้น

เมื่อปี 2560 นักวิจัย พบว่า ทุ่งหญ้าทะเลอาจสามารถกำจัดเชื้อโรคต่างๆ ออกจากน้ำทะเลได้ โดยทำการวิจัยที่เกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งในอินโดนีเซียตอนกลาง ที่ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย แต่เมื่อมีผืนหญ้าทะเลแล้ว ปรากฏว่าระดับของแบคทีเรียในทะเลที่ทำให้เกิดโรค เช่น Enterococcus ลดลง 50% โดยแบคทีเรียดังกล่าวมีผลกระทบต่อทั้งมนุษย์ และสัตว์ทะเล (1)

ไม่ใช่แค่ช่วยเยียวยาระบบนิเวศทางทะเลเท่านั้น หญ้าทะเลกำลังกลายเป็นกำลังสำคัญของการต่อสู้กับโลกร้อน

จากการวิจัยพบว่า หญ้าทะเลมีความสามารถในการดูดซับและเก็บคาร์บอนไว้ในก้นทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่่มีออกซิเจนน้อยมาก โดยเมื่อหญ้าทะเลตาย จะทับถมกลายเป็นตะกอนใต้ผืนทะเล ตะกอนที่ปราศจากออกซิเจนนี้จะดักจับคาร์บอนไว้นานเท่านาน อาจนานหลายร้อยปีเลยทีเดียว (2)

ประมาณการณ์คร่าวๆ ว่า หญ้าทะเล 1 เฮกตาร์ มีศักยภาพเท่ากับป่าบนผืนดิน 1 เฮกตาร์ และตะกอนใต้ทะเลที่หญ้าทะเลเติบโตนั้นเรียกว่าระบบนิเวศ Blue carbon อาจจะสามารรถดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าผืนป่าบนดินถึง 40 เท่าเลยทีเดียว (2)

Blue carbon เป็นคาร์บอนที่ถูกจับไว้โดยระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลน, บึงเกลือ, หญ้าทะเลและสาหร่ายขนาดใหญ่ โดยในอดีตระบบนิเวศของมหาสมุทรและผืนป่านั้นเป็นแหล่งทิ้งตัวคาร์บอนที่สำคัญตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่จากการวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ทำให้เห็นศักยภาพของระบบนิเวศของพืชชายฝั่งทะเล ในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสูง (3)

แม้ว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชในมหาสมุทรจะมีพื้นที่น้อยกว่า 0.5% ของพื้นที่ก้นทะเลทั้งหมด แต่พื้นที่เพียงเท่านี้สามารถกักคาร์บอนทั้งหมดในตะกอนทะเลถึง 50% และอาจมีมากถึง 70% ของพื้นที่ก้นทะเลทั้งหมด (3)

หมายความว่ายิ่งเราสร้างระบบนิเวศน์ Blue carbon ให้มากขึ้นเท่าไร เรายิ่งมีศักยภาพในการต่อกรกับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น จึงมีโครงการปลูกหญ้าทะเลขึ้นมาเพื่อใช้เป็นอาวุธต่อสู้กับภาวะโลกร้อน หนึ่งในโปรเจกต์ที่น่าสนใจคือ NOVAGRASS ซึ่งไม่เน้นที่การปลูกหญ้าทะเล (ชนิด eelgrass) แต่ยังศึกษาวิจัยการทำเมล็ดพันธุ์และการเก็บเกี่ยวด้วย

ในเว็บไซต์ของโครงการระบุว่า วิธีการของ NOVAGRASS  ก็คือการพัฒนาวิธีการเก็บเกี่ยวและเก็บเมล็ดหญ้าทะเล ร่วมมือกับพันธมิตรอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาโลจิสติกส์อุปกรณ์และเทคนิคสำหรับการฟื้นฟูท้องทุ่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่  มีการติดตามศึกษาความอ่อนไหวของหญ้าทะเลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการนี้เน้นการปลูกหญ้าทะเลในชายฝั่งของยูโรปเป็นหลัก (4)

ทุ่งหญ้าทะเลนิด eelgrass ตัวกรอง สารอาหารและอนุภาคเล็กๆ ตามธรรมชาติ จึงช่วยทำให้น้ำสูงมีระดับความใสขึ้นมามาก และยังมีส่วนเกื้อหนุนให้บริการระบบนิเวศที่มีค่าอื่นๆ รวมถึงการกักเก็บคาร์บอนอันเป็นความหวังสำคัญในการต่อสู้กับภัยโลกร้อน (4)

แม้จะมีความพยายามที่จะฟื้นท้องทุ่งหญ้าทะเล แต่ระดับการทำลายล้างพื้นที่ชายฝั่งนั้นน่าวิตกมาก นอกจากจะทำลลายระบบนิเวศที่ช่วยกักคาร์บอนแล้ว ยังจะเป็นการปลดปล่อยคาร์บอนที่ถูกกักเอาไว้หลายร้อยปีออกมาด้วย ทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงเข้าไปอีก (5)

ดังนั้น หากไม่มีใจที่จะปลูกหญ้าทะเลเพิ่ม ก็จงอย่าทำลายถิ่นอาศัยของมัน เพราะเท่ากับเรากำลังฆ่าตัวเองด้วยเช่นกัน

อ้างอิง

  1. Byington, Cara. “New Science Shows Seagrass Meadows Suppress Pathogens”. Nature.org. NatureNet Fellows for Cool Green Science. Retrieved 17 February 2017.
  2. “An unexpected weapon in the fight against climate change? Seagrass”. World Economic Forum. (08 Nov 2018).  Retrieved 24 June 2019.

Related posts

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน

อุณหภูมิทะลุ 3.1°C แผนลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 เป็นเรื่องเพ้อฝัน