เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา สื่อมวลชนทั่วโลกรายงานข่าวนักวิทยาศาสตร์กว่า 11,000 คน ร่วมกันลงชื่อในแถลงการณ์เตือนให้ตระหนักถึงภาวะฉุกเฉินของปัญหาโลกร้อน โดยบรรดาสื่อชื่อดังระดับโลกต่างรายงานข่าวด้วยน้ำเสียงที่ตื่นตระหนกและดูน่ากลัว เช่น สำนักข่าว The Guardian ของอังกฤษพาดหัวข่าวว่า “วิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศ: นักวิทยาศาสตร์ 11,000 คน เตือนให้เตรียมตัวกับความทุกข์ยากที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” และสำนักข่าว Washington Post ของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า “นักวิทยาศาสตร์กว่า 11,000 คนจากทั่วโลก ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ”
สื่อส่วนใหญ่จะรายงานข่าวโดยย้ำคำว่า “ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ” (climate emergency) และ “ความทุกข์ยากที่ไม่เคยประสบกันมาก่อน” (untold suffering) เพราะข้อมูลของข่าวนี้มาจากแถลงการณ์ของบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่เผยแพร่ในวารสาร BioScience เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 พร้อมด้วยรายชื่อนักวิทยาศาสตร์ 11,258 คนจาก 153 ประเทศ ในชื่อกลุ่มพันธมิตรนักวิทยาศาสตร์โลก (Alliance of World Scientists)
นักวิทยาศาสตร์พยายามใช้ถ้อยคำที่ง่ายที่สุด และแสดงกราฟข้อมูลที่อ่านง่ายที่สุด เพื่อที่สาธารณชนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งนี่คือแนวโน้มของรายงานเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนที่นับวันจะยิ่งอ่านง่ายมากขึ้นและเข้าถึงง่ายขึ้น เพื่อทำให้ชาวโลกตระหนักถึงภัยคุกคามนี้
ในสาระสำคัญแรก ๆ ของแถลงการณ์ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์พยายามเตือนมาหลายครั้งแล้ว แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้ลดลงเลย ตัวอย่างคำเตือน เช่น
- เมื่อ 40 ปีก่อนนักวิทยาศาสตร์จาก 50 ประเทศมารวมตัวกันในการประชุมสภาพภูมิอากาศโลกครั้งที่ 1 (ที่เจนีวา พ.ศ. 2522) และเห็นพ้องต้องกันว่าแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในภาวะน่าตกใจ ตั้งแต่นั้นมามีการส่งสัญญาณคล้าย ๆ กันผ่านการประชุมสุดยอดริโอ พ.ศ. 2535 พิธีสารเกียวโต พ.ศ. 2540 และข้อตกลงปารีส พ.ศ. 2558 รวมถึงในการประชุมระดับโลกอื่น ๆ อีกหลายครั้ง
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลเสียหายมากขึ้นต่อสภาพภูมิอากาศของโลก เราจำเป็นจะต้องพยายามมากขึ้นอย่างมหาศาลในการอนุรักษ์ชีวมณฑล เพื่อหลีกเลี่ยงความทุกข์ยากที่ไม่เคยประสบกันมาก่อนอันเนื่องมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
- วิกฤตสภาพภูมิอากาศเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับวิถีชีวิตที่ฟุ่มเฟือยและการบริโภคที่มากเกินเหตุ เมื่อวัดจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด และมักจะมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวมากที่สุดด้วย
- การพูดถึงปัญหาภาวะโลกร้อนเรามักจะพูดถึงอุณหภูมิเป็นหลัก แต่นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า มีกิจกรรมของมนุษย์มากมายมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณา รวมถึงปัจจัยอันตรายที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนด้วย ดังนั้น “ผู้กำหนดนโยบายและประชาชนในขณะนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณาปัจจัยบ่งชี้ด้านกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และสังคมของเรา”
- ปัจจัยที่เกิดจากมนุษย์ที่ต้องทบทวนกันจริง ๆ จัง ๆ คือ การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนประชากรและจำนวนการผลิตเนื้อสัตว์ต่อหัว, การสูญเสียต้นไม้ทั่วโลก, อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลก (จีดีพีโลก), ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล, จำนวนผู้โดยสารทางอากาศ และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543
ปัจจัยเหล่านี้นักวิทยาศาสตร์เรียกว่าเป็น “สัญญาณที่น่าตระหนก” (troubling signs) และจากข้อมูลนี้ทำให้เราตระหนักว่ายิ่งโลกของเรามั่งคั่งมากขึ้นเท่าไร มีการบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้นเท่าไร และการคมนาคมสะดวกมากขึ้นเท่าไร ปัญหาโลกร้อนก็จะยิ่งแย่ลงมากขึ้นเท่านั้น
- แม้จะมีการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศโลกมานานถึง 40 ปีแล้ว แต่เราล้มเหลวในการแก้ไขสถานการณ์นี้ วิกฤตการณ์ได้เกิดขึ้นแล้วและเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ เป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศและชะตากรรมของมนุษยชาติ ที่น่าห่วงคือจุดเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ และธรรมชาติอาจจะสะท้อนกลับ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดหายนะที่เรียกว่า “ภาวะโลกที่กลายเป็นเรือนเพาะชำ” (Hothouse Earth) ซึ่งโลกจะร้อนขึ้นไปเรื่อย ๆ
- เพื่อปกป้องอนาคตที่ยั่งยืน เราต้องเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตของเรา เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของประชากร เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่สุดในการเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากร (1)
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์เตือนให้โลกของเราตระหนักถึงภาวะฉุกเฉิน คำเตือนในทำนองนี้ออกมาเป็นระยะ แต่ได้รับความสนใจน้อย คำเตือนครั้งแรกเริ่มต้นจากเฮนรี ดับเบิลยู. เคนดัลล์ (Henry W. Kendall) อดีตประธานสหภาพนักวิทยาศาสตร์ ผู้มีความกังวลซึ่งได้ออกแถลงการณ์ชื่อ “คำเตือนของนักวิทยาศาสตร์ต่อมนุษยชาติ” (World Scientists’ Warning to Humanity) เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2535 โดยมีนักวิทยาศาสตร์ร่วมลงนาม 1,700 คน
โดยเตือนว่า “มนุษยชาติและธรรมชาติของโลกกำลังเผชิญหน้าเข้าหากันสู่หายนะ กิจกรรมที่มนุษย์ทำลงไปสร้างความเสียหายรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่สำคัญ และหลายครั้งไม่อาจแก้ไขคืนได้ หากไม่ตรวจสอบการกระทำของเราหลาย ๆ อย่างในตอนนี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในอนาคต”
คำเตือนนี้มีคำแนะนำว่า
- เราจะต้องควบคุมการกระทำที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อฟื้นคืนและปกป้องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของระบบโลกที่เราพึ่งอาศัยอยู่
- เราต้องบริหารจัดการทรัพยากรที่สำคัญต่อมนุษยชาติอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้
- เราจะต้องทำให้จำนวนประชากรมีเสถียรภาพ ซึ่งเรื่องนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อทุกประเทศตระหนักถึงการปรับปรุงเงื่อนไขด้านสังคมและเศรษฐกิจ มีการวางแผนครอบครัวที่มีประสิทธิภาพและมีความสมัครใจ
- เราจะต้องมีหลักประกันความเท่าเทียมกันทางเพศ และรับประกันว่าผู้หญิงจะมีอำนาจการตัดสินใจเรื่องการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง
จะเห็นได้ว่าคำเตือนแรกยังเน้นที่การควบคุมจำนวนประชากรของโลกไม่ให้มีมากเกินไปจนกระทบต่อการใช้ทรัพยากร (2)
ต่อมาเเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 นักวิทยาศาสตร์ 15,364 คน ได้ร่วมลงนามในคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์ต่อมนุษยชาติ (World Scientists’ Warning to Humanity) ซึ่งเป็นคำเตือนครั้งที่ 2 มาพร้อมกับกราฟดัชนีชี้วัดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยในคำเตือนครั้งที่ 3 ที่ออกมาในปี พ.ศ. 2562 ก็มีกราฟดัชนีเช่นกัน นอกจากนี้ ยังได้เสนอคำแนะนำในการสร้างความยั่งยืนมากขึ้นจากฉบับแรก 5 ข้อ เป็น 13 ข้อ โดยสาระที่สำคัญเช่น
- การฟื้นฟูป่าและสร้างชุมชนพืชพื้นเมือง ด้วยการปลูกพืชพื้นเมือง เพื่อฟื้นฟูกระบวนการและพลวัตของระบบนิเวศ
- การใช้นโยบายในการปกป้องพืชและสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ จากการรุกล้ำและการค้าผิดกฎหมาย
- ลดของเสียจากอาหารและส่งเสริมให้เปลี่ยนไปใช้อาหารจากพืชมากขึ้น พิจารณาราคาสินค้าและระบบภาษีจากการแปรรูปการบริโภคในทุกวันนี้ว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง
- ลดอัตราการเกิดของประชากรโดยให้การศึกษาและบริการวางแผนครอบครัวโดยสมัครใจ และควบคุมประชากรมนุษย์ให้มีจำนวนที่เหมาะสมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
- เสริมสร้างความก้าวหน้าในเทคโนโลยีสีเขียวและพลังงานทดแทน ลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งการปรับเปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจเพื่อลดการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม (3)
จะเห็นได้ว่าข้อเสนอแนะในคำเตือนครั้งที่ 2 ได้เอ่ยถึงผลกระทบจากการพัฒนามากขึ้น โดยคำเตือนครั้งที่ 1 เน้นที่การควบคุมประชากร ต่อมาฉบับที่ 2 เน้นการควบคุมการบริโภค และครั้งที่ 3 เป็นการรวบยอดคำเตือนครั้งที่ 1 และ 2 ที่ยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
พร้อมกับย้ำว่า ในเวลานี้เราเผชิญกับ “ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งหากไม่รีบแก้ไขจะประสบกับ “ความทุกข์ยากที่ไม่เคยประสบกันมาก่อน”
อ้างอิง
- Ripple, William J.. (05 November 2019). World Scientists’ Warning of a Climate Emergency. BioScience, retrieved 2019-11-11
- Kendall, Henry W. (18 November 1992), World Scientists Warning To Humanity (PDF), ucsusa.org, retrieved 2011-08-26
- Suzuki , David. (5 January 2018). 15,000 Scientists Issue Urgent Warning: Humanity Is Failing to Safeguard the Planet. AlterNe, retrieved 2019-11-11