สายเขียวของแทร่ Say No ซองเครื่องปรุง ช่วยลดขยะฟู้ดเดลิเวอรี

ทุกคนสามารถลดขยะจาก “ซองเครื่องปรุง” ได้ โดยการปฏิเสธกับร้านค้า แต่ใครรับมาแล้ว แต่ไม่ได้ใช้ สามารถส่งไปผลิตเป็นพลังงานได้

“ขยะ” ที่เราทุกคนมีส่วนสร้างขึ้นจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ขยะส่วนหนึ่งก็คือ ซองเครื่องปรุง และถุงน้ำจิ้มอาหารปิ้งย่าง เครื่องปรุงเหล่านี้พนักงานมักจะใส่ให้มาโดยอัตโนมัติ และคนที่เขาบริโภคก็เต็มใจรับมาปรุงรสชาติอาหาร ทั้งซองน้ำปลา ซองพริกป่น ซองน้ำตาลทราย ซองซอสประเภทต่างๆ ซองน้ำจิ้มลูกชิ้น ซองน้ำจิ้มไก่ย่าง หมูย่าง ฯลฯ ซึ่งจะมาจากร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ หรือซุปเปอร์มาเก็ต ส่วนประเภทถุงน้ำจิ้มที่มาจากตลาดสด ตลาดนัด หรือร้านค้ารถเข็น ก็มีจำนวนมากเช่นเดียวกัน แต่บางครั้งเรารับเครื่องปรุงเหล่านี้มาโดยที่ไม่ได้ใช้

ซองเครื่องปรุงจึงกลายเป็นขยะจำนวนมาก (จะทิ้งก็เสียดาย) ซึ่งมีที่มาจากหลายสาเหตุด้วยกัน อันดับแรกซึ่งน่าจะสำคัญมากที่สุดก็คือ คนไทยติดน้ำจิ้ม (ไม่มีข้อมูลยืนยันว่าไทยเป็นเบอร์หนึ่งของโลกหรือไม่) โดยที่อาหารบางประเภทไม่ควรกินกับเครื่องปรุงก็ยังกลายเป็นของคู่กันไปได้ อย่างเช่น ผลไม้ที่จำหน่ายเป็นแพกมักจะมีซองพริกเกลือติดมาด้วย นอกจากนั้นเมื่อซื้ออาหารจากร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ หรือซูเปอร์มาเก็ต พนักงานมักจะหยิบเครื่องปรุงให้มาด้วย ซึ่งคนที่ไม่ต้องการส่วนใหญ่มักจะไม่ปฏิเสธ หรือไม่ก็รับมาก่อน ถ้าไม่ใช้ค่อยทิ้ง บางคนก็รับมาแต่ใช้นิดเดียว ที่เหลือก็ทิ้งถังขยะ

ที่กล่าวมาทั้งหมดกำลังจะบอกว่า “ซองเครื่องปรุง” กำลังเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสร้างมลพิษต่อโลก ฉะนั้นต้องช่วยกันลด คนที่ต้องการบริโภคเครื่องปรุงก็บริโภคต่อไป ไม่ได้มีความผิด แค่รับมาในปริมาณที่พอเหมาะ หรือไม่ก็ขอเติมจากร้านมาเลย แต่คนที่ไม่ใช้เครื่องปรุงก็อย่ารับมา หรือบอกปฏิเสธกับพนักงานหรือแม่ค้าไปเลย

ข้อดีของการปฏิเสธรับซองเครื่องปรุงก็คือ ลดต้นต้นทุนของร้านค้า เพราะไม่ต้องซื้อสต็อกในจำนวนมาก ซึ่งหากสั่งอาหารเดลิเวอรี่ก็สามารถพิมพ์ข้อความแจ้งผ่านแชทว่า ขอไม่รับซองเครื่องปรุงได้ เท่ากับเป็นการลดขยะพลาสติกไปในตัว 

กรณีที่เรารับเครื่องปรุงมาแล้ว (และเก็บไว้เต็มห้องครัว) แต่ไม่ได้ใช้ สามารถส่งไปผลิตพลังงานได้ที่ N15 Technology (ส่งคุณสมบูรณ์ กิตติอนงค์ บริษัท เอ็น 15 เทคโนโลยี จำกัด 700/754 หมู่ 1 ต.พานทอง อ.พานทอง จ.ชลบุรี 20160 โทร. 086-334-2612) โดย N15 เขาบอกว่า ซองเครื่องปรุงที่หมดอายุหรือเก็บไว้นานแล้วสามารถส่งมาได้เลย เช่น ซองมะเขือเทศ, ซอสพริก, ซองเครื่องปรุงจากบะหมี่สำเร็จรูป, น้ำสลัด, น้ำตาล, พริกป่น, พริกไทย เป็นต้น ส่วนซองที่ต้อง “เทเครื่องปรุงออกก่อน” เช่น ซองน้ำปลา, พริกดองน้ำส้ม, ซีอิ๊ว, จิ๊กโฉ่ว, เกลือ เป็นต้น

เมื่อเร็วๆ นี้ LINE MAN Wongnai เขาได้เปิดตัวฟีเจอร์รักษ์โลก “ไม่รับเครื่องปรุง” บนแอป LINE MAN จากที่ก่อนหน้านั้นเปิดใช้ฟีเจอร์ “ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก” ปรากฎว่าภายใน 2 เดือน สามารถลดขยะจากซองเครื่องปรุงไปได้กว่า 20 ล้านซอง คาดว่าจะช่วยลดขยะพลาสติกที่เกิดจากฟู้ดเดลิเวอรี ทั้งช้อนส้อมพลาสติก ซองเครื่องปรุง และขยะอาหารกว่า 350 ตันต่อเดือน ตั้งเป้าลดขยะพลาสติกและขยะอาหารจากฟู้ดเดลิเวอรี 4,200 ตันต่อปี

ภายในสิ้นปี 2567 LINE MAN Wongnai ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนร้านอาหารรักษ์โลกที่เพิ่มตัวเลือก “ไม่รับเครื่องปรุง” หรือใช้ภาชนะรักษ์โลกให้ได้ 100,000 ร้านทั่วประเทศ ซึ่ง LINE MAN Wongnai มีโครงการภาชนะรักษ์โลกร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ Doozy Online, Dezpax, gracz และ aro ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ Green Packaging เพื่อสนับสนุนร้านค้าให้เปลี่ยนจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกมาเป็นบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ โดยมีร้านอาหารเข้าร่วมแล้วกว่า 1,300 ร้าน – ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai เขาว่ามาอย่างนั้น

 

 

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย

เร่งกองทุน Loss and damage ช่วยประเทศเปราะบางสู้วิกฤตโลกเดือด