ผมได้ยินถึงความงามของแม่น้ำโขงครั้งแรกเมื่อนานมาแล้วก่อนที่จะย้ายมาอยู่เอเชีย ชาวอเมริกันและชาวไทยต่างให้ความเคารพแม่น้ำในประเทศของเราเหมือนกัน ผมเติบโตขึ้นใกล้กับแม่น้ำมิสซิสซิปปี ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในขนบประเพณีของอเมริกา และเป็นเส้นชีวิตทางเศรษฐกิจตลอดประวัติศาสตร์ของเรา ในภาษาของชนพื้นเมืองอเมริกันที่ตั้งชื่อแม่น้ำสายนี้ “มิสซิสซิปปี” หมายถึง “บิดาแห่งสายน้ำ” ส่วนคำว่า “แม่น้ำ” ในภาษาไทย หมายถึง “มารดาแห่งสายน้ำ” อันสะท้อนถึงสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราทั้งสอง
แม่น้ำโขงไม่ใช่สมบัติของประเทศใดประเทศหนึ่ง แม่น้ำโขงไหลผ่านจีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ทั้งยังนำมาซึ่งธาตุอาหารและแหล่งดำรงชีวิต ตะกอนในแม่น้ำโขงหล่อเลี้ยงปลาในท้องน้ำ และสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินริมฝั่งแม่น้ำ ฝูงปลาและผืนดินนั้นเองก็หล่อเลี้ยงผู้คนจำนวน 70 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในแถบลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
เมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่างประสบภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบทศวรรษ และแม้ว่าภัยแล้งดังกล่าวอาจเกิดจากหลายปัจจัย แต่การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้แสดงให้เห็นว่า แม่น้ำโขงเผชิญกับการสร้างเขื่อนจำนวนมากที่ตอนบน ซึ่งขัดขวางการไหลของกระแสน้ำมายังลุ่มน้ำโขงตอนล่าง นอกจากนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังถึงจุดต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ มาตรวัดน้ำในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้บันทึกระดับน้ำต่ำสุดเท่าที่เคยมีมาเอาไว้เมื่อปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตามข้อมูลจากดาวเทียมบ่งชี้ว่าปริมาณน้ำบริเวณต้นน้ำในจีนมีอยู่เหลือเฟือ ทำให้เกิดข้อกังขาสำคัญๆ รวมทั้งคำถามที่ว่าเหตุใดจึงไม่มีน้ำในปริมาณที่มากกว่านี้ไหลมาจากจีนขณะที่ประเทศในลุ่มน้ำโขงประสบกับความขาดแคลนอย่างมาก
องค์กรภาคประชาสังคมของไทยแสดงความกังวลเกี่ยวกับความพยายามของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการสร้างเขื่อนและระเบิดแก่งแม่น้ำโขงระหว่างไทยและลาว แต่กลับถูกสั่งสอนด้วยสัญญาว่าจะมี “ทางออกที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์” ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม รัฐบาลไทยทราบข้อกังวลเหล่านี้ จึงสั่งให้หยุดแผนการระเบิดแก่งและขุดลอกแม่น้ำโขงบางส่วนที่ฝั่งชายแดนไทย รวมทั้งแจ้งข้อกังวลดังกล่าวต่อจีนโดยตรง และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการบริหารจัดการเขื่อนตามแนวแม่น้ำโขงอย่างละเอียดยิ่งขึ้น เราขอสนับสนุนความพยายามดังกล่าวของประชาชนและรัฐบาลไทย
มิใช่เพียงสายน้ำ
อย่างไรก็ดี ทรัพยากรน้ำที่ขาดแคลนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ริมแม่น้ำโขงของไทย กลุ่มอาชญากรต่างๆ รวมไปถึงบางกลุ่มที่ปฏิบัติการในเขตเศรษฐกิจพิเศษและบ่อนการพนันของประเทศเพื่อนบ้าน ใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางสำคัญในการลักลอบค้ายาเสพติด สัตว์ป่า หรือแม้กระทั่งมนุษย์
สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ยืนยันว่า องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติได้ย้ายเข้าไปยังสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเพิ่มการผลิตและขนส่งยาเสพติดผิดกฎหมายจากพื้นที่อีกฟากฝั่งแม่น้ำโขงในรัฐชาน ประเทศเมียนมา รวมทั้งฟอกเงินที่ได้จากผลกำไรดังกล่าวผ่านธุรกิจบ่อนการพนันในภูมิภาค
UNODC ประเมินว่าการก่ออาชญากรรมข้ามชาติในลุ่มน้ำโขงมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยเชื่อว่ากว่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐมาจากการค้ามนุษย์ จีนอ้างว่าเหตุผลหนึ่งของการลาดตระเวนลุ่มน้ำโขงนอกอาณาเขตของตนในลาวและเมียนมานั้น คือการปราบปรามขบวนการอาชญากรรม แม้ว่าจีนยังไม่สามารถยับยั้งการลักลอบสารเคมีตั้งต้นจากจีนไปยังเมียนมาได้ อันกระตุ้นให้เกิดการระบาดของเมทแอมเฟตามีนในเอเชีย ตลอดจนความรุนแรงและอาชญากรรมมากมายในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อาชญากรรมข้ามชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในพื้นที่นี้ทำให้ชุมชนท้องถิ่นกลัวว่าจะสูญเสียความมั่นคงนอกเหนือไปจากวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตน
เพื่อน หุ้นส่วน และพันธมิตร
สหรัฐอเมริกากำลังช่วยไทยปกป้องพื้นที่ชายแดนและดำเนินการเพื่ออนาคตที่ปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นสำหรับชาวไทย ตั้งแต่ปี 2506 สำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐฯ (DEA) ได้สนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลไทยเพื่อหยุดการลักลอบนำเข้าสารควบคุมในไทย สหรัฐ และตลาดโลก เมื่อต้นเดือนนี้ DEA ให้ความช่วยเหลือในปฏิบัติการต่อต้าน 5 เครือข่ายยาเสพติดที่มีมูลค่าการฟอกเงินกว่า 3,000 ล้านบาท
และในปี 2562 รัฐบาลสหรัฐ สนับสนุนหน่วยงานการบังคับใช้กฎหมายของไทยในการยึดเมทแอมเฟตามีนกว่า 9 ตัน และยาบ้ากว่า 43 ล้านเม็ด ในขณะที่สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ร่วมต่อต้านการค้ามนุษย์และสัตว์ป่า ทั้งยังเสริมสร้างความมั่นคงให้กับชายแดนไทย เมื่อปีที่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ ได้ประกาศมอบเงินสนับสนุนเพิ่มเติม 420 ล้านบาทเพื่อต่อต้านอาชญากรรมและการค้ามนุษย์ข้ามชาติในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง
รัฐมนตรีปอมเปโอยังประกาศมอบทุนสนับสนุนประมาณ 60 ล้านบาทให้แก่โครงการข้อริเริ่มในการจัดการข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขง เพื่อสนับสนุนให้นักวิจัยในพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำโขงแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการไหลของน้ำ เรายังมีโครงการ SERVIR-Mekong ซึ่งเป็นความริเริ่มระหว่าง USAID และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA)
โดยโครงการดังกล่าวจะใช้ข้อมูลดาวเทียมที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ในการส่งเสริมให้รัฐบาลของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างลดความเปราะบางต่อสถานการณ์ภัยแล้ง อุทกภัย และการแย่งชิงทรัพยากรน้ำซึ่งรุนแรงขึ้นเพราะเขื่อนต้นน้ำ เมื่อเดือนที่แล้ว คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เปิดตัวระบบคลังข้อมูลเพื่อการเตือนภัยแล้งล่วงหน้า (Drought Early Warning portal) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ MRC และโครงการ SERVIR-Mekong ร่วมกันพัฒนาขึ้น เพื่อให้ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างนำไปใช้เป็นระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้าสำหรับการพยากรณ์และติดตามภัยแล้งในภูมิภาค
โครงการต่างๆ ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มอีกมากมายที่เรากำลังดำเนินการร่วมกับรัฐบาลไทยและประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และปกป้องทรัพยากรน้ำ โดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมการหารืออย่างโปร่งใส ตลอดจนหาวิธีแบ่งปันทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรม
แด่มิตรภาพอีก 200 ปี
สหรัฐอเมริกาเป็นมิตรที่ซื่อตรงกับไทยมาตลอด 200 ปีที่ผ่านมา และเราจะยังคงดำรงความสัมพันธ์นี้ต่อไปในอีก 200 ปี เนื่องในโอกาสที่แม่น้ำมิสซิสซิปปีปราศจากพิษภัยของสงครามโดยสิ้นเชิงในปี 2406 ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น กล่าวไว้ว่า “บิดาแห่งสายน้ำได้กลับคืนสู่ท้องทะเลโดยสงบอีกครั้งหนึ่ง” เราหวังว่ามารดาแห่งสายน้ำของไทยจะได้กลับคืนสู่ท้องทะเลโดยสงบอีกครั้งหนึ่งเช่นเดียวกัน โดยไม่ถูกกีดขวางด้วยสถานการณ์ปัญหาที่ต้นน้ำโขง
หมายเหตุ – บทความฉบับนี้เขียนโดย ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และเผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563
https://th.usembassy.gov/th/saving-the-mekong-the-economic-lifeblood-of-an-entire-region-th/