“ถ้าชาวประมงทำประมงถูกกฎหมาย ทะเลก็จะอุดมสมบูรณ์ได้ ไม่ว่าประมงพาณิชย์หรือประมงพื้นบ้านใช้ทะเลหากินเหมือนกัน ชาวประมงสามารถเลือกขนาดของปลาได้ ยิ่งมีเครื่องมือระบบโซน่า จะรู้ว่าเป็นปลาชนิดอะไรมีกี่หมื่นกิโล ขนาดเล็กขนาดใหญ่รู้หมด เพียงแต่ออกเรือไปแล้วจะรอได้ไหม ซึ่งถ้ามีมาตรา 57 บังคับใช้ก็จะทำให้ทะเลกลับมาอุดมสมบูรณ์” ส่วนหนึ่งจากการเสวนาหัวข้อ “ปัญหาปลาเด็ก เรื่องไม่เล็กของทะเลไทย”
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ภายหลังมีมาตรการ IUU ไทยก็มี พ.ร.บ.การประมง ปี 2558 และแก้ไขปี 2560 โดยเฉพาะในมาตรา 57 ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีไปกำหนดรายละเอียดชนิดและขนาดของปลาที่ห้ามจับ ปรากฎว่าตั้งแต่ปี 2558 จนปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดนี้ออกมา ซึ่งกลุ่มสมาคมประมงพื้นบ้านและสมาคมรักษ์ทะเลไทยได้ยื่นหนังสือให้พิจารณาเรื่องนี้มาหลายครั้งก็ยังไม่ประกาศออกมา โดยให้เหตุผลว่าจะต้องทำวิจัยให้ชัดเจน หรืออ้างว่าถ้าจับปลาตัวเล็กติดมาจะทำให้ชาวประมงมีความผิดได้ ซึ่งในระหว่างรอกฎหมายจึงจำเป็นต้องสื่อสารกับผู้บริโภคและสื่อสารกับตลาดเพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้
จากการรร่วมมือกับนักวิชาการเพื่อหาปลายทางหรือตลาดปลาตัวเล็กว่าอยู่ที่ไหน กลางปี 2563 พบว่าตลาดใหญ่สุดคือ โมเดิร์นเทรด โดยสัตว์น้ำวัยอ่อนหมายถึงสัตว์ก่อนถึงวัยสืบพันธุ์หรือเป็นสัตว์น้ำไม่ได้ขนาด แต่เมื่อถูกจับมาแล้วจะมีการเปลี่ยนชื่อเรียก เช่น ปลาทูตัวเล็กก็จะเปลี่ยนชื่อเป็นปลาทูแก้วบ้าง หรือปลาข้าวสารจริงๆ ก็คือปลากะตัก หรือปูม้าก็มาเปลี่ยนเป็นปูกะตอย ทั้งที่เป็นตัวอ่อนหรือทารกของปูม้า
จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัญหาการจับปลาตัวเล็กอยู่ที่เครื่องมือ เช่น การใช้อวนล้อม ซึ่งชาวประมงมีทั้งที่ทำแบบอนุรักษ์และกลุ่มที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายหรือคนที่รับผิดชอบและไม่รับผิดชอบ
“เรือประมงพื้นบ้านออกเรือแค่วันละครั้งและจับแบบแยกประเภท ถ้าจับปูก็จะเอาอวนปูไปปล่อยทะเลไว้สองวันและก็ไปสาว ถ้าจับกุ้งต้องดูน้ำขึ้นน้ำลงและให้กระแสน้ำไหลจึงจะไปปล่อยอวน ไม่ได้ปล่อยได้ทุกวัน กุ้งไม่ได้จับได้ทุกวันต้องดูกระแสน้ำต้องดูคลื่นลม การจับกุ้งต้องจับหน้ามรสุมที่มีลมแรงคลื่นแรง การจับปลาทูต้องออกเรือตั้งแต่ตี 2 และปล่อยอวนเวลาตี 5 และ 6 โมงเช้าก็สาวอวนเสร็จ ประมงพื้นบ้านออกไปไกลสุดไม่เกิน 12-15 ไมล์ทะเล
“ในขณะที่ประมงพาณิชย์มีเครื่องมือพร้อม มีห้องน้ำแข็ง ถ้าเป็นอวนล้อมจับคืนหนึ่ง 3-5 ครั้ง ถ้าหาปลาทูน่าไม่ได้ก็จะมีเรือปั่นไฟอีก 3 ลำไปทิ้งไว้ตามจุดต่างๆ ถ้าหาปลาทูน่าไม่เจอก็จะวิทยุไปหาเรือปั่นไฟว่าลำไหนมีปลาเยอะและจะวิ่งไปหว่านล้อม ถ้าเป็นอวนลากก็จะลากทั้งวันทั้งคืน 4 ชั่วโมงกู้หนึ่งครั้ง มีเวลาพักแค่เรือขนสินค้าเข้าฝั่ง ฉะนั้นปริมาณการจับของประมงพื้นบ้านที่มี 5 หมื่นกว่าลำ แต่เลือกจับแต่ปลาโตเต็มวัยตามขนาดโดยใช้อวนตั้งแต่ 2.5 เซนติเมตรขึ้นไปจนถึง 4 นิ้ว 5 นิ้วและ 7 นิ้วที่เป็นอวนปลากุเลา
“ถ้าชาวประมงทำประมงถูกกฎหมาย ทะเลก็จะอุดมสมบูรณ์ได้ ไม่ว่าประมงพาณิชย์หรือประมงพื้นบ้านใช้ทะเลหากินเหมือนกัน ชาวประมงสามารถเลือกขนาดของปลาได้ ยิ่งมีเครื่องมือระบบโซน่า จะรู้ว่าเป็นปลาชนิดอะไรมีกี่หมื่นกิโล ขนาดเล็กขนาดใหญ่รู้หมด เพียงแต่ออกเรือไปแล้วจะรอได้ไหม ซึ่งถ้ามีมาตรา 57 บังคับใช้ก็จะทำให้ทะเลกลับมาอุดมสมบูรณ์
“แต่ประมงพาณิชย์จะใช้อวนล้อมซึ่งใช้ตาอวนล้อมดำ 2.5 เซนติเมตร อ้วนปลากระตัก 0.6 เซนติเมตร อวนลาก 4 เซนติเมตร ซึ่งวิธีการต่างกัน เพราะอวนล้อมปลาอะไรที่มาอยู่ในบริเวณแสงไฟปลาทุกชนิดจะถูกตักขึ้นเรือทั้งหมด และมาแช่น้ำแข็ง แล้วไปคัดแยกบนฝั่งว่าจะเลือกปลาชนิดไหน หรืออวนลากก็เช่นกันจะแยกบนเรือเลย อันไหนเป็นปลาเป็ดปลาไก่ก็จะแยกไว้ ปลาที่ได้ราคาจะใส่ถังดองไว้ ซึ่งจะเห็นปริมาณการจับว่าใครทำลายมากกว่ากัน”
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ Greenpeace ประเทศไทย กล่าวว่า จีนเป็นมหาอำนาจประมงทะเลเพราะมีกองเรือประมงที่ไปไกลถึงไหนแทบจะล่มสลายที่นั่น จีนจับปลาประมาณ 15% ของประมงโลก กรีนพีซฮ่องกงได้ตั้งทีมวิจัยเกี่ยวกับลูกปลาวัยอ่อนโดยเก็บตัวอย่างปลาตามท่าเรือ 8 แห่ง จากกวางตุ้งถึงเซี่ยงไฮ้ระยะเวลา 5 เดือน พบว่าประมงในเขตน่านน้ำของจีนกว้างใหญ่มหาศาลมาก
จากการวิจัยได้ข้อสรุป 3 ด้าน คือ การจับปลาเป็ดส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลของจีนและประมาณครึ่งหนึ่งที่จับได้โดยเรือประมงอวนลากในจีนเป็นปลาเป็ด ซึ่งมากกว่าปลาทั้งหมดที่จับได้ในประเทศไทยหรือที่จับได้ 2-3 ล้านตัน หรือเท่ากับปลาที่จับได้ในญี่ปุ่นทั้งปี ที่มากกว่านั้นส่วนใหญ่หลายล้านตันนำไปเป็นอาหารเพาะเลี้ยงชายฝั่ง และจำนวนที่จับได้ 90% เป็นปลาวัยอ่อน นี่คือข้อมูลปี 2559 ซึ่งใหญ่กว่าบ้านเราสิบเท่า
ขณะนี้จีนมีการพูดถึงการลดการจับปลาลงจาก 12 ล้านตันให้เหลือไม่เกิน 10 ล้านตันต่อปี และลดกองเรือประมงลงไม่มากเกินไป เพื่อทำให้ทะเลฟื้นระดับหนึ่ง มีตัวอย่างในตุรกีก็ทำเรื่องนี้โดยสามารถระดมให้คนมาลงชื่อเพื่อให้รัฐออกกฎหมายห้ามจับปลาวัยอ่อน 8 ชนิด มีคนลงชื่อ 5-6 แสนคนเพื่อกดดันในการออกกฎหมาย
ดวงใจ พวงแก้ว Producer Outreach Manager – SE Asia องค์กร ASC กล่าวว่า นอกจากปลาเป็นห่วงโซอาหารแล้ว ยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ หากบริโภคมากเกินไปหรือจับก่อนการขยายพันธุ์จะทำให้ความลากหลายอื่นๆ เช่น การดูดซับคาร์บอน หรือกระทบการสร้างสมดุลระบบนิเวศ เช่น การกินปูม้า ในรอบการวางไข่ต่อครั้งจะวางไข่ได้ 1.2 แสนฟองถึง 2.5 ล้านฟอง ถ้าจับมากินก่อนก็เท่ากับตัดโอกาสการแพร่ขยายพันธุ์ และยังสูญเสียทางเศรษฐกิจด้วย อีกทั้งกระทบเป็นลูกโซ่ก็คือเมื่อประชากรโลกเพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารทะเลต่อหัวต่อคนทั่วโลกก็จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะฝั่งเอเชีย รวมทั้งเทรนด์ของโลก
ฉะนั้นการที่ทรัพยากรลดลงเรื่อยๆ จะมีผลต่อเวลาในการออกหาปลาไม่ว่าประมงพื้นบ้านหรือประมงพาณิชย์ที่ต้องวิ่งออกไปไกลมากขึ้น ต้องใช้น้ำมันมากขึ้น รวมถึงต้องใช้ทรัพยากรอื่นจากการใช้ระยะเวลาในการออกหาปลายาวนานมากขึ้น
ดวงใจ ระบุว่า ในต่างประเทศนำหลักวิทยาศาสตร์มาใช้ในการผลิตที่มีความยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือไม่ใช้ปลาวัยวัยอ่อนมาทำปลาบ่น โดย ASC ได้ทำเรื่องการผลิตปลาป่นที่มาทำอาหารสัตว์โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่เอาปลาจากแหล่งที่ไม่โตเต็มที่ โดยมีระบบตรวจสอบแหล่งที่มา ส่วนการนำปลาวัยอ่อนมาเป็นอาหารมนุษย์ต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าใจ เช่น ปลาขนาดไหนที่โตเต็มไวหรือขนาดไหนที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น ทูน่ามีหลายสายพันธุ์ ขนาดโตเต็มวัยแตกต่างกัน ต้องทำให้ผู้บริโภคทราบว่าแต่ละสายพันธุ์โตเต็มวัยขนาดไหนที่บริโภคได้ เป็นการให้ความรู้ผู้บริโภค ส่วนผู้ผลิตก็ต้องทำอย่างที่ประมงพื้นบ้านทำอยู่
สำหรับการศึกษาวิจัยหัวข้อ “การสำรวจรูปแบบการจัดจำหน่ายสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่โตไม่ได้ขนาดในประเทศไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน ( CSO Coalition for Ethical and Sustainable Seafood in Thailand) มีการสำรวจร้านค้าใน 15 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ชลบุรี ระยอง นครศรีธรรมราช สงขลา ตราด เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชุมพร สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวม 389 ห้าง/ร้าน ซึ่งประกอบด้วย
ห้างโมเดิร์นเทรด 149 สาขา พบสัตว์น้ำวัยอ่อนโตไม่ได้ขนาด จำนวน 101 สาขา คิดเป็น 68% ของห้างโมเดิร์นเทรดที่สำรวจทั้งหมด ร้านค้าในตลาดสด 163 ร้านค้า พบสัตว์น้ำวัยอ่อนโตไม่ได้ขนาด จำนวน 87 ร้านค้า คิดเป็น 53% ของร้านค้าในตลาดสดที่สำรวจทั้งหมด
ร้านค้าในตลาดของฝาก 77 ร้านค้า พบสัตว์น้ำวัยอ่อนโตไม่ได้ขนาด จำนวน 46 ร้านค้า คิดเป็น 60% ของร้านค้าในตลาดของฝากที่สำรวจทั้งหมด
ทั้งนี้ พบว่า จังหวัดที่มีการขายอาหารที่มาจากสัตว์น้ำโตไม่ได้ขนาดมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ชลบุรี มากที่สุด 79% 2) นครราชสีมา 78% 3) กรุงเทพมหานคร 75% ในขณะที่ระยอง เป็นจังหวัดที่มีการพบเจอสัตว์น้ำวัยอ่อนน้อยที่สุดคือ 11%