เหตุการณ์น้ำท่วมเมืองเชียงรายถือเป็นวิกฤตการบริหารจัดการน้ำระดับชาติ เพราะรู้สถานการณ์ล่วงหน้า แต่ไม่มีแผนรองรับ งบประมาณมากแต่รับมือไม่ได้
สถานการณ์น้ำท่วมในเขตเทศบาลนครเชียงราย จนถึงวันที่ 12 ก.ย. ปริมาณน้ำสูงขึ้นกว่าช่วงดึกที่ผ่านมา เนื่องจากมีมวลน้ำก้อนใหญ่ที่ไหลมาจาก จ.เชียงใหม่ ได้ผ่านพื้นที่เทศบาลนครเชียงราย ส่งผลให้ระดับเพิ่มขึ้น และมีความแรงมากขึ้น ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ อ.เมืองเชียงราย ได้รับผลกระทบ 5 ตำบล 17 หมู่บ้าน 8 ชุมชน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการได้วิเคราะห์ปัจจัยอุทกภัยในครั้งนี้ให้เข้าใจและเห็นภาพมากขึ้นว่าทำไมเราถึงไม่สามารถรับมือสถานการณ์ได้
1. สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา หลังจากระดับน้ำแม่สายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณฝน 24 ชั่วโมงย้อนหลังสูงสุดในประเทศที่ 235.8 มิลลิเมตร (ข้อมูล ณ 11 ก.ย. เวลา 13.00 น.) ซึ่งอุทกภัยครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากไทยได้รับอิทธิพลจากพายุยางิครอบคลุมพื้นที่ทางตอนบนของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 8-10 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยพายุลดระดับจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นเป็นพายุดีเปรสชัน ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกหนักมาก และทำให้ อ.แม่สาย และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เกิดเหตุน้ำท่วม
2. ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำจากสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม (Stockholm Environment Institute – SEI) หนึ่งในผู้ศึกษาเหตุการณ์น้ำท่วมบริเวณพื้นที่แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก มาตั้งแต่ปี 2562 ให้สัมภาษณ์ BBC ถึงปัจจัยน้ำท่วมแม่สายในครั้งนี้ว่า ปัจจัยแรกมาจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ค.- ส.ค. ซึ่งปริมาณฝนมีมากกว่าปกติถึง 50-60% ทำให้ดินไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ ซึ่งเป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่มาจากอิทธิพลพายุยางิ
3. ปัจจัยต่อมาเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณต้นน้ำแม่สายซึ่งอยู่ในเมียนมาถึง 80% โดยปัจจุบันถูกเปลี่ยนจากป่าป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงการทำเหมืองแร่ ทำให้ศักยภาพการชะลอน้ำลดลงและอีก 20% ทอดยาวอยู่ในพื้นที่แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก จากการลงพื้นที่ศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในช่วงปี 2562-2564 พบว่า สาเหตุที่ทำให้แม่สายเกิดน้ำท่วมเร็วและแรงมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน
4. นอกจากนี้ บริเวณแม่สาย-ท่าขี้เหล็กเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา ทำให้น้ำที่หลากลงมาจากต้นน้ำมีความเชี่ยวและแรง ต่างจากน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่ค่อยๆ เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่โดยรอบ ขณะเดียวกันบวกกับระดับแม่น้ำโขงโดยช่วงท้ายน้ำของแม่น้ำสายอยู่ที่สบรวกหรือจุดบรรจบของแม่น้ำรวกและแม่น้ำโขงที่มีระดับสูงขึ้นมากและต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้การระบายน้ำของแม่น้ำสายเป็นไปอย่างล่าช้า
5. ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ตัวเมืองแม่สายและท่าขี้เหล็กของเมียนมามีการขยายตัวของเมืองขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลง และหลายจุดถูกเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่รับน้ำหรือระบายน้ำไปเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ในอดีตแม่น้ำสายเคยมีความกว้าง 130-150 เมตร แต่ปัจจุบันมีสิ่งปลูกสร้างประชิดแนวลำน้ำทำให้แม่น้ำสายในช่วงพื้นที่เมืองกว้างประมาณ 20-50 เมตรเท่านั้น แม้เทศบาลตำบลแม่สายได้สร้างกำแพงกั้นตามแนวแม่น้ำ 1-1.5 เมตร แต่ปีนี้น้ำมากระดับ 2-3 เมตร ขึ้นไป ทำให้เกินศักยภาพของกำแพงที่จะป้องกันได้
6. ในขณะที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ให้สัมภาษณ์กับอีจัน ว่า น้ำที่ไหลท่วม จ.เชียงราย มาจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง ปริมาณฝนรายวันมีมากกว่า 200 มม. เป็นเหตุการณ์รุนแรงในรอบกว่า 100 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 ก.ย. อาจารย์เสรีก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กเตือนว่า “ช่วยกันแชร์ให้พี่น้องภาคเหนือตอนบนปลอดภัย น่าน เชียงราย พะเยา เฝ้าระวังฝนตกหนักน้ำไหลหลากจากพายุ Yagi ระหว่าง 7 -10 ก.ย.
7. อาจารย์เสรี บอกด้วยว่า ความไม่พร้อมของหน่วยงานส่วนกลางในการประเมินความรุนแรงทำให้หน่วยงานท้องถิ่นไม่มีข้อมูลที่จะแจ้งเตือนในรายละเอียดเชิงพื้นที่ และทำให้ไม่มีความพร้อมที่จะจัดการได้ และแม้ว่าน้ำอาจจะลดลงใน 10 วัน แต่พึงระวังเกิด Rain bomb คือฝนที่ตกหนักตกแรงแบบไม่ทันตั้งตัว ซึ่งเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีโอกาสเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น
8. ในขณะที่ดูจากภาพถ่ายดาวเทียมของจีนด้า พบว่า ปริมาณฝนที่ตกสะสมทั้งไทย และเมียนมามาจากพื้นที่ต้นน้ำจากเทือกเขาขนาดใหญ่ในในรัฐฉาน และบริเวณสันปันน้ำ ทำให้แม่สายต้องรับมวลน้ำมหาศาลจากหุบเขาทั้งหมด ข้อมูลจิสด้า ณ วันที่ 11 ก.ย. พบว่า น้ำจากฝั่งเมียนมายังจ่อมาท่วมฝั่งไทยจำนวนมาก ในขณะที่พื้นที่ริมฝั่งแม่สายไม่พร้อมรับมือ เนื่องจากสภาพพื้นที่เปลี่ยนไปมาก (สิ่งปลูกสร้างรุกริมแม่น้ำช่วง 20 ปีที่ผ่านมา)
9. อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการงบประมาณแก้น้ำท่วมล้มเหลวหรือไม่ นี่คือคำถาม โดยในงบปีประมาณ 2566 มีงบก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งมากที่สุด 19,821,418,900 บาท คิดเป็น 37.13% ซึ่งเป็นงบที่ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติมากที่สุด 17,713,177,600 บาท คิดเป็น 89.36% โดยที่มหาดไทยมีงบเกี่ยวกับน้ำท่วมมากที่สุดถึง 23,171,261,300 บาท กระจายอยู่ใน 45 จังหวัด
10. ที่เป็นสาเหตุหลักและสำคัญที่สุดก็คือ ไทยขาดระบบบริหารจัดการน้ำระดับชาติ (พูดกันมานานหลายปี) ที่พร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติ โดยเฉพาะผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่กำลังวิกฤต เบื้องต้นเฉพาะที่เชียงราย ดร.ธนพล เสนอว่าต้องอาศัยกลไกระหว่างประเทศ นั่นคือ การบริหารจัดการแม่น้ำสายข้ามพรมแดนระหว่างไทย เมียนมาและจีน โดยทางการไทย และ สทนช. ต้องประสานขอความร่วมมือกับจีนจัดการระดับน้ำในแม่น้ำโขงร่วมกันให้ได้
อ้างอิง:
• นักวิชาการเปิด 4 เหตุผลน้ำท่วมแม่สาย ชี้ท่วม “ถี่เป็นประวัติการณ์” และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น, BBC
• งบน้ำท่วม ใช้ไปทำอะไร ผ่านกระทรวงไหนบ้าง, Rocket Media