หิมะตกในทะเลทราย ซาอุฯ-สะฮาราตั้งแต่ต้นปี สัญญาณปัญหาโลกรวน?

ไม่ใช่เรื่องปกตินักที่เราจะเห็นหิมะตกในพื้นที่แห้งแล้งกลางทะเลทราย แม้ว่าบางครั้งมันจะเกิดขึ้นได้ในทะเลทรายบางพื้นที่ เช่น ทะเลทรายในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเขตอบอุ่น (หรือที่เรียกว่าเมืองหนาว) หรือทะเทรายที่อยู่ใกล้เทือกเขาสูงระดับโลก เช่น ในทวีปอเมริกาใต้

แต่เป็นปรากฎการณ์ม่ค่อยปกติแน่ถ้าหิมะจะไปตกกลางทะเลทรายของประเทศที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เช่น ที่ซาอุดีอาระเบียเมื่อต้นเดือนนี้ ช่างภาพชาวซาอุดีอาระเบีย ออสมา อัล-ฮาบรี (Osama Al-Habri) ได้ถ่ายภาพทางอากาศจากเขตปกครองบัดร์ (Badr Governorate) หรือบะดัร ซึ่งมองเห็นภาพเหมือนการปูพรมด้วยหิมะสีขาวละลานตา

เครดิตภาพ-saudigazette.com

ในภาพจะเห็นชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อชมภาพปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดา ซึ่งอัล-ฮาบรีบอกกับ CNN ว่ามันไม่ธรรมดาจริง ๆ เพราะสภาพอากาศในฤดูหนาวที่มีความรุนแรงเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้วในทะเลทรายบัดร์ นอกจากหิมะแล้วยังมีลูกเห็บตกอย่างหนัก ซึ่งกล่าวได้ว่ามันเป็น “พายุลูกเห็บครั้งประวัติศาสตร์”

ตามปกติแล้วเขตปกครองบัดร์จะมีอุณภูมิสบาย ๆ ในช่งวงฤดูหนาวคือประมาณ 19 องศาเซลเซียส แต่จะร้อนสุดขีดในฤดูร้อน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 41 – 42 องศาเซลเซียส หรืออาจจะร้อนถึง 45 องศาและยังมีฝนตกน้อย ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่าแปลกประหลาดมาก

ไม่ใช่แค่ทะเลทรายในคาบสมุทรอาระเบีย (ซึ่งอยู่ในเขตทวีปเอเซีย) ที่ทะเลทรายสะฮาราก็ยังเจอเข้ากับหิมะตกในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยภาพที่ถ่ายเมื่อต้นเดือนมกราคมโดยช่างภาพชื่อ คาริม บูเชตาตา (Karim Bouchetata) เผยให้เห็นหิมะและน้ำแข็งใกล้เมืองอาอีน เซฟรา (Ain Sefra) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแอลจีเรีย

อาอีนเซฟราอยู่กลางทะเลทรายสุดลูกหูลูกตาและเทือกเขาที่แห้งแล้ง แต่คงเพราะมันใกล้กับเทือกเขาแอตลาสที่และหนาวเย็น ที่นี่จึงมีอุณภูมิหนาวเย็นบ้าง แต่ถึงกระนั้นภูมิภาคนี้มีหิมะตกไม่กี่ครั้งในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา อุบัติการณ์หิมะที่บันทึกไว้ก่อนหน้านี้คือปี 1979, 2017, 2018 และล่าสุดคือปี 2021

เครดิตภาพ saudigazette.com

มาถึงคำถามสำคัญก็คือ หิมะตกกลางทะเทรายแบบนี้แปลกไหม? คำตอบคือมันเกิดขึ้นได้ แต่นาน ๆ ครั้ง ที่สำคัญคือเรามักจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าประเทศที่มีทะเลทรายจะต้องร้อนระอุอยู่ตลอดเวลา ซึ่งความจริงไม่ใช่แบบนั้น เพราะอุณหภูมิตอนกลางคืนของทะเลทรายอาจหนาวจัดจนถึงขั้นติดลบได้เหมือนกัน

สาเหตุที่มันหนาวจัดแต่ไม่มีหิมะก็เพราะอากาศแห้งจัดและมีฝนตตกน้อยมาก ดังนั้นหากมีฝนตกลงมากลางสภาพอากาศหนาว ๆ มันจะกลายเป็นหิมะหรือลูกเห็บได้ในพริบตา ในเขตบัดร์มักมีฝนตกช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์อยู่แล้ว เผอิญว่าปีนี้ฝนตกลงมาพร้อมกับอากาศหนาวพอดี บัดร์จึงเจอหิมะอย่างที่เห็น

อีกอย่างก็คือซาอุดีอาระเบียไม่ได้มีแต่ทะเลทรายกว้างใหญ่ แต่ยังมีพื้นที่ภูเขาที่หนาวเหน็บเหมือนอาอีน เซฟราในแอลจีเรีย เช่นที่แคว้นตะบูกใกล้กับพรมแดนประเทศจอร์แดนที่เจอกับหิมะตกบ่อยครั้งบ่อยจนคนที่นั่งตั้งตารอกันได้เลย เอาจริง ๆ แล้วหิมะมักจะตกในพื้นที่ภูเขาทางตอนเหนือของซาอุฯ คือ ทูเรฟ ตะบูก อาราร์ และราฟา

แม้แต่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซาอุดีอาระเบียในภูมิภาคอาซีร์ก็มีหิมะตกเช่นกัน อาซีร์เป็นที่ตั้งของภูเขาซูดะห์ที่ปกคลุมไปด้วยต้นสนซึ่งหมายถึงมีสภาพอากาศหนาวเย็นและยังเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในซาอุฯ โดยสูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 3,000 เมตร จึงไม่แปลที่จะเจอหิมะแม้ว่าตรงนั้นจะใกล้เขตร้อนมากแล้วก็ตาม

คำถามที่สำคัญกว่าหิมะตกในซาอุฯ ว่าเป็นเรื่องแปลกหรือไม่ ก็คือนี่คือผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกหรือไม่? ถึงแม้ว่ามันเป็นเรื่องปกติในบางพื้นที่ของซาอุฯ แต่มันอาจจะไม่ปกติขึ้นเรื่อย ๆ ในบางพื้นที่ของซาอุฯ ที่ร้อนจัดและไม่ใช่พื้นที่ทะเลทรายเช่นที่บัดร์อาจจะเกิดเรื่องพิลึกแบบนี้บ่อยขึ้น

เพราะจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ใน Journal Science ชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์สภาพอากาศหนาวเย็นสุดขั้วอาจเกิดจากภาวะโลกร้อนในอาร์กติก ซึ่งมีอุณภูมิร้อนเร็วกว่าส่วนอื่น ๆ ของโลก พอมันอุ่นขึ้นก็จะทำให้เกิด Polar vortex คือมวลอากาศหนาวเคลื่อนลงมาทางใต้ จนเกิดอากาศหนาวจัดเช่นที่เกิดขึ้นในรัฐเท็กซัสเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งค่อนข้างอุ่นและมีทะเลทราย แต่จู่ ๆ ก็หนาวจัดที่สุดในรอบ 72 ปี

ข้อมูลจาก
• Nourhan Elkallawy. (January 21, 2022). “Rare snow and hailstorms cover Saudi desert”. CNN.
• Maeve Campbell. (January 23, 2022). “Snow falls in the Sahara Desert for the fifth time in 40 years”. Euro News.
• Mai Almarzoogi. January 02, 2022). “Mountains in Saudi Arabia’s Tabuk: Popular destination for those looking for snow fun”. Arab News.

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย