‘แซลมอน’กลับมาวางไข่อีกครั้ง หลังรื้อถอนเขื่อนขวางแม่น้ำในโอเรกอน

by Chetbakers

ปลาแซลมอนกลับมาวางไข่ในลุ่มน้ำคลามัธในรัฐโอเรกอนของสหรัฐฯ อีกครั้ง หลังจากหายไปกว่าหนึ่งศตวรรษเมื่อการสร้างเขื่อนขวางแม่น้ำตัดขาดระบบนิเวศ

เจ้าหน้าที่ด้านสัตว์ป่าได้บันทึกการพบปลาแซลมอนเหนือเขื่อน J.C. Boyle เดิมในตอนใต้ของรัฐโอเรกอนเป็นครั้งแรกในรอบ 112 ปี

แซลมอลกลับมาอีกครั้งภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังจากการรื้อถอนเขื่อนทั้ง 4 แห่ง ในแม่น้ำคลามัธ (Klamath River) เสร็จสิ้น เพื่อฟื้นฟูเส้นทางเดินของปลา และหลังจากนั้นไม่นานก็พบปลาตัวอื่นๆ ตามมาอีกหลายตัว

กรมประมงและสัตว์ป่าของรัฐโอเรกอน ระบุว่า ปลาแซลมอนและปลาชนิดอื่นๆ มีแนวโน้มว่าจะว่ายน้ำมาไกลกว่า 200 ไมล์จากมหาสมุทรแปซิฟิก โดยยังพบปลาแซลมอนกำลังวางไข่ในลำธารเหนือพื้นที่เดิมของเขื่อน Iron Gate ในแคลิฟอร์เนียตอนเหนือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปีด้วย

ทั้งนี้ ชนเผ่าพื้นเมือง และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ต่อสู้ให้มีการรื้อถอนเขื่อน 4 แห่ง บนแม่น้ำคลามัธตามแนวชายแดนรัฐแคลิฟอร์เนียและโอเรกอนออกไปร่วม 20 ปี เพื่อให้ระบบนิเวศฟื้นคืนกลับมา ซึ่งรวมถึงสัตว์น้ำอย่างเช่น ปลา ที่เป็นอาหารของคนในชุมชน ถูกนำมาจัดแสดงอย่างภาคภูมิใจโดยผู้ปกป้องปลาแซลมอนที่ร่วมต่อสู้มาอย่างยาวนาน

การรื้อถอนได้เสร็จสิ้นไปเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา นั่นเท่ากับเป็นการสิ้นสุดการขัดขวางเส้นทางอพยพของปลาแซลมอนเกือบหนึ่งศตวรรษ โครงการนี้เป็นการรื้อถอนเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้คนในชุมชนร่วม 500 คนมารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองและเตรียมการฟื้นฟูลุ่มน้ำที่มีขนาดเท่ารัฐเวสต์เวอร์จิเนียทั้งหมด

ลุ่มน้ำแม่น้ำคลามัธมีความยาว 423 กิโลเมตร เป็นแหล่งผลิตปลาแซลมอนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคแถบชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ทั้งยังเป็นสายน้ำที่เกื้อหนุนการดำรงชีวิตของชนพื้นเมืองอเมริกันหลายเผ่า รวมถึงเผ่ายูร็อกที่ได้ฉายาว่า “ชนเผ่าปลาแซลมอน” ด้วยแต่เขื่อนได้ทุบทำลายแม่น้ำสายนี้จนเข้าใกล้ภาวะสูญสิ้น

อีกทั้งเป็นการสร้างความอยุติธรรมต่อชุมชนชนเผ่ามานานกว่าศตวรรษ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนระบบนิเวศในลำน้ำที่ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร และวิถีชีวิต โดยเฉพาะประชากรปลาแซลมอนและปลาชนิดอื่น ๆ ที่ลดลงถึง 95%

วิลเลียม เรย์ ประธานชนเผ่าคลามัธ กล่าวว่า ทันทีที่มีการสร้างเขื่อน Copco I ขึ้นแห่งแรกในปี 1922 ก็ได้หยุดเส้นทางเดินของปลาที่จะว่ายขึ้นมาวางไข่ ทำให้ชนเผ่าสูญเสียแหล่งอาหารถึง 25% และยังทำให้ปลา c’waam และ koptu มีจำนวนลดลงอย่างฮวบฮาบจนใกล้สูญพันธุ์ในปี 1988

การต่อสู้ของชนเผ่าต่างๆ ในพื้นที่ อาทิ ชนเผ่า Yurok, Karuk, Shasta, Klamath และ Hoopa Valley เป็นต้น และผู้สนับสนุนการรื้อถอนเขื่อนดำเนินมาอย่างยาวนานถึง 20 ปี ทั้งการประท้วง การต่อสู้ในชั้นศาล และการชุมนุมหน้าบ้านของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งบริษัทของเขาเป็นเจ้าของเขื่อนในขณะนั้น

กระทั่งกระบวนการรื้อถอนได้เริ่มต้นขึ้นในต้นปี 2023 ถือเป็นโครงการรื้อถอนเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และสามารถช่วยให้แม่น้ำกลับมาไหลตามธรรมชาติได้อีกครั้ง ทว่กว่าที่ปลาแซลมอนชินุกและระบบนิเวศจะฟื้นฟูกลับมาสมบูรณ์อาจต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่

สำหรับผลกระทบจากเขื่อนขวางแม่น้ำได้ทำให้ปลาแซลมอนชินุกหลายหมื่นตัวตายภายในเวลาไม่กี่วัน เมื่อปี 2002 เนื่องจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำคลาแมธที่เสื่อมโทรมและแห้งขอด เขื่อนบริเวณนี้ทั้ง 4 แห่ง สร้างขึ้นระหว่างปี 1900 ถึงปี 1962 เมื่อปลาตายจำนวนมากทำให้ชนเผ่าในพื้นที่และกลุ่มอนุรักษ์ออกมารณรงค์กันต่อเนื่องหลายทศวรรษ

อ้างอิง:
• Oct 24, 2024 . Salmon Make a Long-Awaited Return to the Klamath River for the First Time in 112 Years, After Largest Dam Removal in U.S., Smithsonian Magazine
• Nov 25, 2024 . After 100 years, salmon have returned to the Klamath River – following a historic dam removal project in California by Lucy Sherriff, BBC
• Nov 05, 2024 . People — and salmon — return to restored Klamath to celebrate removal of 4 dams, USA TODAY

อ้างอิง:
• Nov 25, 2024 . After 100 years, salmon have returned to the Klamath River – following a historic dam removal project in California by Lucy Sherriff, BBC
• Nov 05, 2024 . People — and salmon — return to restored Klamath to celebrate removal of 4 dams, USA TODAY

Copyright @2021 – All Right Reserved.